กวนเพลงให้น้ำใส - เพลงป๊อปในเทศกาลแจ๊ส กุศโลบายในการสร้างคนฟัง
เพื่อนหลายท่านที่ร่วมเดินทางกับผม เพื่อไปชมเทศกาลดนตรีแจ๊สนอร์ธ ซี (North Sea Jazz Festival) ที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ตั้งคำถามขึ้นมาอย่างน่าสนใจว่า ศิลปินพวกนี้ จัดเป็นแจ๊สเหมือนกันหรือ ?
“ศิลปินพวกนี้” หมายถึง บรรดานักร้องชื่อดังที่รู้จักกันในวงกว้าง เพลงของพวกเขาได้รับการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ อย่าง ดัฟฟี, อะเดล, เจมี คัลลัม, เอริกาห์ บาดู, ซีล หรือรุ่นใหญ่ขึ้นไป อย่าง บี.บี.คิง, เจมส์ เทย์เลอร์, สตีฟ วินวูด ซึ่งสามารถดึงดูดคนฟังจำนวนมากได้ตามความคาดหมาย
หากพิจารณาจากนิยามของสไตล์ดนตรีแล้ว ศิลปินพวกนี้คงไม่ใช่ศิลปินแจ๊สหรอกครับ แต่เมื่อขึ้นชื่อเป็น “เทศกาลดนตรี” ทั้งที ก็ไม่ควรใจแคบปิดกั้น และสมควรจะมีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มีความเกี่ยวข้องกันมานำเสนอสีสันอื่นๆ ด้วยเหตุผลบางประการ ดังจะขยายความในบรรทัดถัดไป
อย่าลืมว่า ครั้งหนึ่งเพลง สโม้ค ออน เดอะ วอเตอร์ (Smoke on the Water) ของวงร็อกรุ่นครู อย่าง ดีพ เพอร์เพิล (Deep Purple) ก็แต่งขึ้นจากแรงบันดาลใจในเหตุการณ์ไฟไหม้ที่กาสิโนในเมืองมงโทรซ์ สวิตเซอร์แลนด์ และมีเนื้อความพูดถึง โคล้ด น็อบส์ ผู้อำนวยการของ มงโทรซ์ แจ๊ส เฟสติวัล มาแล้ว
แม้ผู้จัดงาน นอร์ธ ซี จะไม่ขยายความในเรื่องนี้โดยตรง แต่ผมเห็นว่าการจัดส่วนประสมของการแสดงที่มีความหลากหลายคละเคล้ากันไปนั้น ก็น่าจะเพื่อหวังผลไปยังผู้ชมวงกว้าง เพราะการดำรงอยู่ของเฟสติวัลที่ขายบัตรเข้าชม (โดยเปรียบเทียบ) ในราคาถูกกว่า “คอนเสิร์ตเดี่ยว” นั้น ก็เพราะต้องการฐานผู้ชมจำนวนมากเพื่อนำมาเป็นรายได้นั่นเอง
ยิ่งเมื่อดูจากเวที 13 เวทีเล่นพร้อมกัน ภายใต้หลังคาเดียวของ อะฮอย คอมเพล็กซ์ (AHOY Complex) ศูนย์จัดแสดงดนตรีทางตอนใต้ของเมืองร็อตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน (คล้ายๆ กับอิมแพ็คอารีนาบ้านเรา) ที่มีขนาดเวทีใหญ่-น้อย ลดหลั่นไปตามแนวเพลงและชื่อเสียงของศิลปิน โดยมีตั้งแต่เวทีที่จุคนระดับร้อย ระดับพัน ไปจนถึงระดับหมื่น (มากสุดน่าจะราวเกือบ 2 หมื่นคน) ยิ่งบ่งชี้ถึงสัดส่วนของผู้ชมว่า ... อย่างน้อยเกือบครึ่งหนึ่ง (ราวๆ หนึ่งหมื่นห้าพันคน จากสามหมื่นคนในแต่ละวัน) ตั้งใจเลือกมาชมการแสดงของศิลปินป๊อปโดยเฉพาะ
นี่คือกุศโลบายในการดึงผู้ชมทั่วไปให้จ่ายเงินมาชมการแสดงที่พวกเขาชื่นชอบ ในเวลาเดียวกัน ผู้จัดงานสามารถจัดสรรรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำเหล่านี้ เพื่อไปว่าจ้างศิลปินแจ๊สระดับอื่นๆ รวมถึงสร้างสรรค์กิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้บรรลุถึงอุดมคติในความเป็นเทศกาลแจ๊ส ซึ่งบางครั้งก็ต้องทำอะไรมากกว่าผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์
เราจึงมีโอกาสชมการแสดงของ ซีซิล เทย์เลอร์ นักเปียโนอวอง-การ์ด ระดับตำนานจากยุคซิกซ์ตี้ ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความยากแก่การเข้าถึง ในเวทีนี้ก็จุผู้ชมได้เพียงหลักร้อยเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับการจัดกิจกรรมประกวดวงดนตรีแจ๊ส, การให้ทุนสำหรับว่าจ้างนักประพันธ์ดนตรีแต่งเพลงใหม่ๆ , การแต่งตั้ง “อาร์ติสต์ อิน เรสซิเดนซ์” (Artist in Residence) เพื่อทำงานเฉพาะกิจ, การเปิดเวทีเพื่อแนะนำนักดนตรีดาวรุ่ง ฯลฯ
และเช่นเคย ทุกปีมีการแนะนำศิลปินจากส่วนต่างๆ ของโลก ในปีนี้จึงมีการแนะนำศิลปินแจ๊สจากญี่ปุ่น ขณะที่ปีที่แล้วมีการแนะนำศิลปินแจ๊สจากยุโรปตะวันออก เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่ปรากฏ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึง “กึ๋น” ของผู้จัดงาน ว่ามิได้ “เบี่ยงเบน” หรือ “ผิดเพี้ยน” หรือขาดความรู้ความเข้าใจ ด้วยการนำศิลปินป๊อปหรือระดับสตาร์มาประสมเข้ากับการแสดงในภาพรวม แต่เป็นการจัดสมดุลได้อย่างลงตัว และยังเป็นการบริหารจัดการเพื่อนำมาซึ่งรายได้ และในขณะเดียวกันก็เพื่อเชื่อมโยงดนตรีเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน
เพราะอย่างน้อยๆ หลังจากคนหมู่มากชมการแสดงของศิลปินที่ตนชื่นชอบจบลง ก็ยังมีโอกาสไปละเลียดการแสดงของศิลปินแจ๊สแท้ๆ ในเวทีอื่นๆ ได้ นับเป็นการลดช่องว่างของรสนิยมที่แยบยลไม่น้อยทีเดียว
เพราะไม่มีอะไรจะมีค่ายิ่งไปกว่าการได้ชมดนตรีดีๆ จากศิลปินที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีประเภทใด สักวัน คุณย่อมซาบซึ้งได้ในความเป็นคุณค่าสากลดังกล่าว และยุโรปสร้างคนฟังที่มีคุณภาพของเขาได้ด้วยวิธีการนี้
"อนันต์ ลือประดิษฐ์"