บันเทิง

90’sยุคสมัยในหนังไทย

90’sยุคสมัยในหนังไทย

08 ต.ค. 2558

90’s ยุคสมัยในหนังไทย : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
           ยุคสมัยมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของผู้คน โดยเฉพาะคนที่เติบโตมาในช่วงเวลานั้น ความทรงจำร่วมสมัยในห้วงเวลานั้นของพวกเขา สามารถสะท้อนผ่านความคิดอ่านในผลงานที่เขาทำหรือไม่ก็มีความสนใจในระดับที่เรียกว่า ลุ่มหลง คลั่งไคล้ ในบางสิ่งที่เชื่อมโยงตัวตนของพวกเขากับยุคสมัย อาทิ ของสะสม หนังสือที่เขาอ่าน เพลงที่เขาฟัง หนังที่เขาดู เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ งานอดิเรกยามว่างที่เขาทำ...คุณบอย โกสิยพงศ์ นักแต่งเพลงชื่อดังเป็นนักสะสมของเล่นพวกคาแรกเตอร์การ์ตูนและไอ้มดแดง นักร้องหนุ่ม บอย ตรัย ภูมิรัตน์ ก็สะสมตัวการ์ตูนโดราเอมอน ในขณะที่ บุรินทร์ วงศ์วิสุทธิ์ นักร้องนำแห่งวงกรูฟไรเดอร์ ก็ชอบฟังเพลงดิสโก้หรือดนตรีฟังกี้เป็นชีวิตจิตใจส่วน โจ-ก้อง นูโว ก็คลั่งไคล้เพลงของวงแบล็ค แซบบาธ...สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับคนในวัยหนุ่มสาว หลายคนจึงสร้าง ‘บริบทแห่งความทรงจำ’ ของตนผ่านของสะสมบทเพลงในขณะที่คนทำหนังก็จำลองยุคสมัยของพวกเขาขึ้นมาเช่นกัน
 
           ตัวละคร ‘ยุ่น’ ใน ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ มีเสื้อยืดตัวเก่งที่มักสวมใส่อยู่ซ้ำๆ เสื้อตัวที่ว่าสกรีนหน้าอกเสื้อเป็นคำว่าโดโจ ซิตี้ (Dojo City) ลักษณะเป็นโลโก้สีเหลือง ในยุค 90’s เพลงและศิลปินจากค่ายเบเกอรี่มิวสิค ภายใต้การก่อตั้งของ บอย โกสิยพงศ์, สมเกียรติ อริยะชัยพานิช และ สุกี้ กมล สุโกศล แคลป ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการเพลงไทยในยุคนั้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของกระแสดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) ที่คนฟังมีทางเลือกในการฟังเพลงที่หลากหลายแนวทางมากขึ้น จากดิมที่มีแต่เพลงป๊อปจากค่ายแกรมมี่ อาร์เอส ศิลปินเด่นๆ ในยุคนั้นจากค่ายเบเกอรี่ สร้างงานเพลงที่ถือเป็นตำนานมาถึงปัจจุบัน อย่างเช่น โมเดิร์นด็อก กับเพลงโมเดิร์นร็อกสนุกๆ อย่าง บุษบา, ติ๋ม ฯ โจอี้ บอย ที่ปลุกกระแสเพลงฮิพฮอพจนประสบความสำเร็จในไทย ก็เริ่มต้นจากการทำเพลงค่ายนี้ ยุครุ่งเรืองของเบเกอรี่มิวสิค ได้ตั้งค่ายเพลงน้องใหม่ในสังกัดทำเพลงป๊อปใสๆ เอาใจ กลุ่มคนฟังวัยรุ่นเป็นหลักภายใต้ชื่อ โดโจซิตี้ มีนักร้องดูโอ้สองสาว ไทรอัมพ์สคิงดอม (Triumps Kingdom) ที่กลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นในเวลาอันรวดเร็ว ตามด้วยเกิร์ลกรุ๊ปดังๆ อย่างวงนีซ (Niece) และโปรเจกท์เอช (Project H) ทำให้โดโจ ซิตี้ กลายเป็นค่ายเพลงน้องใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงเวลานั้น ก่อนจะล้มหายไปตามกาลเวลา เพลงประกอบในหนังฟรีแลนซ์ หลายเพลง มีการนำเพลงแดนซ์สนุกๆ มาใส่ในหนังทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพลงมองนานๆ ของไวตามินเอ เพลงเต้นรำที่ดังมากในช่วงปลาย 90’s ถูกเปิดในฉากห้องฟิตเนส ที่ยุ่นไปออกกำลังกาย และที่เซอร์ไพรส์คือการปรากฏตัวของ โบ-จอยซ์ แห่งวง ไทรอัมพ์สคิงดอม ในฉากท้ายๆ
 
           หนึ่งในเสื้อยืดตัวเก่งอีกตัวของยุ่น ปรากฏคำว่า เนอร์วาน่า (Nervana) บนอกเสื้อ ในยุค 90’s ศิลปินที่ถือเป็นไอค่อนแห่งยุคสมัย ที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีวงใดสร้างผลงานได้เทียบเท่าอีกแล้ว นั่นก็คือวงเนอร์วาน่า แม้กรันจ์ร็อกวงนี้ จะมีผลงานแค่สามอัลบั้ม แต่เรื่องราวและบทเพลงของพวกเขา ได้ถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์แห่งโลกดนตรีไปแล้ว (อาจด้วยปัญหาทางลิขสิทธิ์ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีเพลงของเนอร์วาน่า ปรากฏในหนัง)
 
           หนังไทยปีนี้ หาใช่แค่ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ เพียงเรื่องเดียวที่จำลองบางส่วนของยุคสมัย 90’s มาไว้ในหนัง (ซึ่งอันที่จริง บริบทในหนังเป็นสมัยปัจจุบันด้วยซ้ำ) หากแต่ยังมีเรื่อง 2538 อัลเทอร์มาจีบ หนังที่ย้อนกลับไปพูดถึงยุคดนตรีอัลเทอร์เนทีฟรุ่งเรืองอย่างตรงไปตรงมา เพลงที่โด่งดังในยุคนั้นมากมายถูกนำมาใส่ในหนังอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหลายๆ เพลงของวงพราว, โมเดิร์นด็อก, สี่เต่าเธอ, เดอะ มัสต์ (The Must), สไมล์บัฟฟาโล่, ศิลปินหญิงอรอรีย์ ฯลฯ และไม่ใช่แค่เพลงเท่านั้น บรรยกาศแห่งยุคสมัยก็ถูกนำมาใช้ในฐานะหัวใจสำคัญของหนังโดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารอย่างเพจเจอร์
 
           ย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา หนังอย่าง ภวังค์รัก (Concrete Clouds) ฉากหลังในหนังก็คือการพูดถึงยุคสมัยเศรษฐกิจล่มสลายในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อปี พ.ศ.2540 หนังไม่เพียงนำเสนอประเด็นความเคว้งคว้าง ไร้จุดหมายของผู้คน ผ่านเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวสองคู่เท่านั้น หากแต่ยังโดดเด่นในแง่ของการสร้างบรรยากาศแห่งยุคสมัยได้อย่างกลมกลืน รับใช้เนื้อหานหนังได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเพลงป๊อปที่ถูกใส่เข้ามาในลักษณะมิวสิกวิดีโอคาราโอเกะภาพข่าวเก่าๆ ที่แสดงให้เห็นการพังทลายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รายการโทรทัศน์ที่ต้องเอาตัวรอดด้วยการแฝงโฆษณาขายตรงในรายการ ฯลฯ และถ้าย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้านี้ หนังเรื่องสยิว ก็มีฉากหลังในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของหนังสือโป๊ที่ขายกันเกลื่อนทั้งใต้ดิน-บนดิน ฉากหลังของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปีพ.ศ. 2535 ที่ปรากฏในลักษณะรายงานข่าวทางวิทยุ และก่อนหน้านั้นหนังรางวัลเมืองคานส์เรื่อง สัตว์ประหลาด (Tropical Malady) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็ใช้เพลงป๊อปแนวเลานจ์มิวสิกของนาเดีย สุทธิกุลพานิช หนึ่งในศิลปินสังกัดเบเกอรี่มิวสิค ประกอบในหนังมาแล้ว
 
           คนทำหนังอย่าง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, ยรรยง คุรุอังกูร, ลี ชาตะเมธีกุล, คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หากพิจารณาจากอายุอานาม คนเหล่านี้น่าเติบโตพอจะจดจำยุคสมัยของทศวรรษ 1990’s และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น ก็น่าจะมีอิทธิพลที่พวกเขาจะหยิบนำมาใช้ในงานของตัวเอง ทั้งที่ตั้งใจ (2538 อัลเทอร์มาจีบ/ยรรยง, ภวังค์รัก/ลี, สยิว/คงเดช) และใส่เขามาด้วยความชอบส่วนตัว (ฟรีแลนซ์/นวพล, สัตว์ประหลาด/อภิชาตพงศ์)
 
           มนต์เสน่ห์แห่งยุคสมัย ที่ถูกนำมาใช้ในหนังไทย ทั้งบรรยากาศ เพลง ฉากหลังฯ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาใด ล้วนเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น มากกว่าความเป็นพีเรียดจ๋าๆ (กรุงศรีอยุธยา, รัตนโกสินทร์ตอนต้นฯ) หรือร่วมสมัยจัดๆ ที่หนังหลายๆ เรื่องประดิดประดอยจนดูกระแดะ ดัดจริต เกินจริงไปอย่างน่ารำคาญ
 
.......................................
(หมายเหตุ 90’s ยุคสมัยในหนังไทย : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม )