บันเทิง

‘ฮอร์โมน’เปิดตำนานถ่ายทอด‘ทายาทอสูร’ทิ้งทวนด้วย‘ต้นไม้’

‘ฮอร์โมน’เปิดตำนานถ่ายทอด‘ทายาทอสูร’ทิ้งทวนด้วย‘ต้นไม้’

01 ธ.ค. 2558

‘ฮอร์โมน’เปิดตำนานถ่ายทอด‘ทายาทอสูร’ทิ้งทวนด้วย‘ต้นไม้’

            “บาดแผล” สร้าง “ความเจ็บปวด” และ “ความเข้มแข็ง” ได้ในเวลาเดียวกัน คือประโยคในโปสเตอร์โปรโมทซีรีส์วัยรุ่นยอดฮิตอย่าง “ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ซีซั่น 3” หรือ “Hormones 3 The Final Season” ที่ “ย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ โปรดิวเซอร์ เคยบอกเอาไว้ว่า อาจจะทำเป็นซีซั่นสุดท้าย เพราะทีมเขียนบทต้องแยกย้ายกันไปทำงานอื่นต่อไป หากไม่ใช่ทีมนี้ เขาก็ไม่ไว้ใจให้ใครทำฮอร์โมนต่อ

            โดยทีมเขียนบทของฮอร์โมนซีซั่น 3 ประกอบด้วย “เสือ” พิชย จรัสบุญประชา เขียนบทและโคทไดเรกเตอร์ “บอส” นฤเบศ กูโน เขียนบทและโคทไดเร็กเตอร์ “วรรณ” วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ เขียนบทตั้งแต่ซีซั่น 1-3 “กุ๊ก” ธนิดา หาญวีวัฒนา เขียนบทตั้งแต่ซีซั่น 1-3 และ “ปิง” เกรียงไกร วชิรธรรมพร ซึ่งรับหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับและเขียนบท

            ภาพรวมของเนื้อหาฮอร์โมนซีซั่นนี้ เปิดตัวมาแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ช่วงแรกไม่ได้ดูแล้วรู้สึกว่า “พีค” มาก คล้ายเป็นการปูตัวละครใหม่หลายคน ที่คนดูต้องเริ่มทำความรู้จัก และการทำความรู้จักใครสักคน กว่าเราจะได้เห็น “ตัวตน” จริงๆ “ชัดเจน” มันต้องใช้เวลา ฉะนั้นในช่วงเริ่มต้นซีซั่น จะเห็นบางกระแสที่บอกว่า “ฮอร์โมน” น่าเบื่อ 

            อาจเนื่องเพราะคนดูคุ้นชิน หรือคาดหวังที่จะได้เห็น “ความแรง” แบบซีซั่น 1 ซึ่งขณะนั้นฮอร์โมนสร้างปรากฏการณ์ด้วยการฉีกกฏบางอย่างทิ้งไป หรือ “ความแซบแสบทรวง” แบบซีซั่น 2 ที่ค่อนข้างหวือหวากว่า ในแง่ของภาพที่นำเสนอ แต่ก็โดนติติงไปมากพอสมควร

            เชื่อว่าใครที่คิดว่าซีซั่น 3 น่าเบื่อ ในต้นเรื่อง อาจเป็นการด่วนสรุปเร็วไปหน่อย เพราะหากดูในเรื่องของรายละเอียด และ “ความลึก” ของตัวละคร ซีซั่นนี้บทค่อนข้างละเอียด ฉะนั้นทุกตัวละครในซีซั่นนี้ จึงมีการค่อยๆ หยอดลักษณะนิสัย ใส่การกระทำบางอย่างของทุกตัวละคร ที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันทิ้งร่องรอยอะไรบางอย่างเอาไว้ ให้คนดูเห็นในทุกๆตอน และบางครั้งเพื่อต่อยอดเรื่องราวในตอนต่อๆไป

            ประเด็นที่ถูกนำเสนอหลัก “เรื่องเพศ” ยังคงมีอยู่กับความรักของ “หญิงรักหญิง” อย่างตัวละคร “ก้อย-ดาว” ที่ต้องฝ่าฟันความสับสนในตัวเอง เอาชนะอุปสรรคทั้งภายในและภายนอกจิตใจตัวเอง กรอบของสังคมและครอบครัว

            อีกประเด็นเรื่องเพศ ที่ฮอร์โมนเล่นไว้ล่วงหน้า แต่เชื่อว่า ไม่ไกลเกินไป เพราะในต่างประเทศก็มีให้เห็น กับครอบครัวที่เป็นลักษณะของ “พ่อ-พ่อ-ลูก” และลูกสาวที่ต้องมาเกี่ยวดองเป็นพี่น้องคนละสายเลือดในตอนโตคือ “ส้มส้ม-มะลิ” ซีรีส์แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เด็กวัยรุ่นเจนเนอเรชั่นต่อไปต้องเผชิญ หากต้องตกอยู่ในครอบครัวที่ “พ่อเป็นเกย์” สุดท้ายสิ่งที่ซีรีส์พยายามจะบอกคือ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร “ความรัก” ที่ “พ่อ” มีให้ “ลูก” คือ “ความจริง” เสมอ

            ส่วนเรื่องราวของ ชายรักชาย ในช่วงชีวิตของวัยรุ่นวัยเรียน ในซีรีส์นี้ยังคงมีอยู่ในเห็นในตัวละครที่ชื่อ เต้อ ทีี่หลงรัก “นนท์” ทว่าไม่ได้โฟกัสมากเท่าซีซั่นที่ผ่านมา

            รวมถึงเรื่องการ “ทำตามความฝัน” ไม่มีอะไรได้มาง่ายดาย ในตอนของ “เภา” ที่มีเสียงบ่นเบื่อ ไม่อิน เพราะเรื่องราวเน้นเนื้อหาของคนรักดนตรี การฝึกฝนดนตรี โดย ปิง ผู้กำกับบอกว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง “whiplash” เป็นหนึ่งตอนนี้ที่อาจจะ “ไม่พีค” ในความรู้สึกของหลายคน แต่บางคนกลับได้แรงบันดาลใจไปอย่างท่วมท้น

            “เคยรู้สึกเหมือนตัวเองเป็น เอเลี่ยน ไหม” ประโยคกระแทกใจของตัวละคร “เจน” ที่กำลังพูดคุยเปิดอกกับ “ซัน” ตั้งแต่ EP.5 เป็นต้นไป เริ่มทำให้ฮอร์โมนกลับมา “พีค” อีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องราวของ “ยาเสพติด” เบี้องหลังความกดดันและการเปรียบเทียบในครอบครัว ของเด็กผู้หญิงที่ภายนอกดูพร้อมจะชนแหลกกับทุกอย่างบนโลก ทว่าเนื้อใน เธอต้องการ การเยียวยาสุดกำลัง ตัวแทนของ “ลูก” ที่เหงาและรู้สึกโดดเดี่ยวขนาดนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งเสียงสำคัญ ส่งต่อไปยังผู้ปกครองได้ดีทีเดียว

            ต่อเนื่องกับประเด็นการใช้ “ความรุนแรงในครอบครัว” ผู้ชายขี้เล่นจนน่าถีบกับ “รอยยิ้่ม” ที่พร้อมจะให้ทุกคนบนโลก ของ “เฟิสต์” ถูกเอามาใช้เพื่อหนีความเจ็บปวด จากปัญหาในครอบครัว ที่ “พ่อ” ชอบใช้ความรุนแรงกับ “แม่” เรื่องราวความเป็นจริงที่พบเจอให้เห็นในสังคม โดยท้ายที่สุดแล้ว เมื่อทุกอย่างเดินมาถึงทางตัน จนถึงเวลาที่ต้องเลือก ซึ่งสิ่งยึดเหนีี่ยว หรือ ทางออก ของ “เฟิสต์” คล้ายว่าซีรีส์นี้จะต้องการบอกว่า เขาอาจจะเลือก “พิกุล” หมาที่เลี้ยงไว้ ที่ดูเหมือนจะเข้าใจเขามากที่สุด มากไปกว่า พ่อ หรือ แม่ นับเป็นความสะเทือนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

            นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ “การปรับตัว” การเข้าสังคม แนวคิดในการใช้ชีวิตร่วมกัน ของบุคคลที่แตกต่างกัน สะท้อนผ่านภาพรวมของงาน “กีฬาสี” ในโรงเรียน และ “สภานักเรียน” ผ่านตัวละครสุดโต่ง ต่างขั้ว อย่าง “บอส” กับ “นนท์” เหมือน “ไม้บรรทัด” กับ “ไม้ลู่ลม” เป็นสองตอนที่ดี คนดูตกหลุมทีมเขียนบท เลือกฝั่งคนโน้น คนนี้ แต่ในชีวิตจริง คนทั้งสองแบบ ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตของอีกฝ่าย รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมแบบพอดีๆ ไม่มากไปอย่างบอส หรือน้อยไปอย่างนนท์ มากไปกว่านั้นเรื่อง กีฬาสี และ สภานักเรียน อาจกำลังสะท้อนและเสียดสี “ภาพ” ใหญ่ในสังคมได้เช่นกัน

            วัยรุ่นมัน “สุดเหวี่ยง” แต่ชีวิตไม่มีสิ่งใดได้มา โดยปราศจากค่าตอบแทน อาชีพ “เพื่อนเที่ยว” กลายเป็นหัวข้อให้พูดถึงในตอนของ “ซัน” เป็นตอนที่พูดถึงเรื่องของความสนุก เงิน ศักดิ์ศรี และความไว้วางใจของครอบครัว ซึ่งถ้าคนที่เคยได้รับ ทำลายมันลงด้วยมือของตัวเอง ก็ต้องรับผิดชอบและจ่าย “ค่าตอบแทน” เป็นศักดิ์ศรี และความไว้วางใจด้วยเช่นกัน

            อีกประเด็นสำคัญที่มีคนในประเทศเข้าใจ แต่ก็ยังมีอีกมากที่เข้าใจผิด เกี่ยวกับ “โรคเอดส์” และผู้ติดเชื้อ “HIV”  ในตอนของ “พละ” เรียกว่าเป็นตอนที่ฮอร์โมน เล่นประเด็นนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คนในสังคมว่า ผู้ติดเชื้อ “HIV” ไม่ได้น่ารังเกียจ ไม่ได้ติดกันง่าย และสามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันคนปกติได้ ถ้าดูแลตัวเองให้ดีและกินยาต้าน ถือว่า “พีคที่สุด” ตอนหนึ่ง 

            เหลืออีก 3 ตอน “ฮอร์โมน 3 เดอะ ไฟนอล ซีซั่น” จะจบลง ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา ถือได้ว่า ฮอร์โมน เติบโตขึ้นอย่างมาก เทียบจากผลงานของซีซั่นนี้ ฮอร์โมนคือเด็กที่ซ่อนความคิดของผู้ใหญ่เป็นฉากหลัง

            ถ้าวัดในแง่ของกระแสและเรตติ้ง ฮอร์โมนซีซั่นแรก คือ “ตำนาน” ซีรีส์วัยรุ่น ซีซั่นที่ 2 คือ “ทายาทอสูร” ส่วน ซีซั่น 3 คือ “ต้นไม้” ที่พร้อมจะออกดอก ออกผลผลิตที่ดี ในแง่ของการ “นำเสนอ” เป็นวัยรุ่นที่หาตัวเองเจออีกครั้ง คนดูคงไม่คาดหวังว่า “ฮอร์โมน” จะต้องกลับผงาดเมื่อไหร่ แต่คาดหวังให้เก็บแนวคิดของ “เด็ก” ที่มีจิตวิญญาณของ “ผู้ใหญ่” ที่ดีแบบนี้ต่อไป