ประมวลความคิดสะท้อนการใช้ชีวิตของปอ
ประมวลความคิดสะท้อนการใช้ชีวิตของปอทฤษฎี : โต๊ะบันเทิงรายงาน
ทำไมน้ำตาแห่งความ “เสียใจ” และ “เสียดาย” จึงหลั่งไหลออกมาจากส่วนลึกในจิตใจของคนครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องในวงการบันเทิง แฟนคลับ และแฟนละครมากมาย ความหม่นหมองยังคงปกคลุมอยู่ทุกอณูในวินาทีแห่งการจากลา มีประโยคหนึ่งที่ทุกคนพูดเหมือนกันคือ “ทำไมคนดีๆ จึงด่วนจากไปเร็วนัก” หากดวงวิญญาณสามารถรับรู้ได้ ขอให้ “ปอ” ทฤษฎี สหวงษ์ พระเอกของคนไทย รู้ได้เถิดว่า การจากไปของเขา จะเป็นเพียง “ร่างกาย” ที่ดับสูญเท่านั้น แต่ “ความคิด” และ “การกระทำ” ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในความทรงจำของ “คนไทย” เสมอ
“นักแสดงที่ดีต้องมีวินัย และเคารพในบทที่ตัวเองได้รับ ต้องทำงานหนัก ซึ่งผมเต็มที่กับทุกงานที่ทำ เพราะไม่อยากเอาเปรียบคนดู และการที่เดี๋ยวนี้ มีนักแสดงใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ก็ดีนะ เพราะการที่มีนักแสดงเพิ่มขึ้น กลายเป็นกำไรของคนดู ทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น ผมไม่ได้รู้สึกว่า เด็กที่เกิดขึ้นใหม่จะมาแย่งงานเรา และคนที่คิดแบบนั้น แสดงว่าเขาเห็นแก่ตัวมาก ทำไมต้องบีบบังคับให้คนดู มาดูเราเพียงคนเดียว เพราะบางครั้งผมก็ไม่เหมาะสมกับคาแรกเตอร์บางอย่าง การที่มีนักแสดงเพิ่มขึ้นเป็นกำไรให้คนดู ทำให้เขามีทางเลือกเยอะขึ้น
การที่ผมมาถึงจุดนี้ได้ ยังรู้สึกว่ามีอะไรให้เราทำอีกเยอะ ในด้านการแสดง ผมยังถือว่าไม่ดีสักเท่าไหร่ ยังมีอะไรที่เราต้องค้นหาอีกเยอะ เพราะมีนักแสดงรุ่นใหญ่หลายๆ ท่านเตือนว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่เราคิดว่าตัวเองเก่ง แสดงว่าวันนั้นเราจบแล้ว ชีวิตไม่มีอะไรให้ค้นหาต่อไปแล้ว ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเก่ง แต่คิดว่ายังมีอะไรที่เราต้องค้นหาอีกเยอะ เพราะวิชาการแสดงไม่มีวันจบ และผมไม่กล้าให้คะแนนตัวเอง ผมคิดว่าการที่เราจะได้คะแนน น่าจะมาจากคนที่ดูผลงานของเรามากกว่า" คำพูดสะท้อนแนวคิดและวิธีการทำงานในวงการบันเทิงของพระเอกคนนี้
จากภาพลักษณ์ภายนอกของปอ อาจจะดูเป็นพระเอกมาดขรึม ทว่าตัวตนที่แท้จริงของเขา เป็นคนสนุกสนาน เรียบง่าย และติดดินมาก “ความจริงผมเป็นคนสนุกสนานนะ เพราะผมไม่อยากเครียด ความเครียดทำให้ผมเหนื่อย และไม่อยากคุยกับใคร ถ้าเป็นไปได้ผมจะไม่ค่อยโกรธคนอื่น แต่ผมเป็นคนขี้แกล้ง ผมแกล้งทุกคนนะ แต่ไม่ได้แกล้งให้เขาโกรธนะ สนุกๆ มากกว่า” คำตอบจากบทสัมภาษณ์ปอ ในหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2555
นอกจากเรื่องงานในวงการบันเทิง ซึ่งต้องเจอกับแสงสีและความฉาบฉวยอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เขาเลือกทำอีกหนึ่งอย่างเพื่อความมั่นคงถาวรในชีวิตบั่นปลาย กลับเป็นอาชีพ “เกษตรกรรม” ถือว่าเป็นความ “ขัดแย้ง” อันน่าค้นหา ทำให้เราได้เรียนรู้อีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตจากผู้ชายคนนี้ว่า ต่อให้ประสบความสำเร็จหรือสูงส่งแค่ไหน สุดท้ายส่วนลึกของมนุษย์คนหนึ่งจะแสวงหาอะไรมากมาย นอกเสียจาก “ความสงบ” “ความเรีียบง่าย” และความสุขที่แท้จริงของคนในครอบครัว จนเกิดเป็นที่มาของ “ไร่นาป่าสงวน”
“ละครเรื่อง “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากจะทำเกษตรกรรม แต่ในหลายๆ ปัจจัย ก่อนที่ผมจะคิดโปรเจกท์นี้ขึ้นมา คือเราอยากทำเกษตรกรรมและอยากหาอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ทำหลังจากที่ท่านเกษียณ อีกประเด็นหนึ่งคือ “ผมอยากรู้ว่า ทำไมชาวนาในประเทศไทยทำนาแล้วถึงยังจน” ถ้าผมไปหาข้อมูลจากคนอื่นๆ คงไม่ได้คำตอบที่แท้จริง จึงต้องลองทำด้วยตัวเองดู ผมเลยไปหาซื้อที่แถวๆ บ้านที่ จ.บุรีรัมย์ ประมาณ 50 กว่าไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ยังมีความเป็นป่าอยู่ ที่ดินจะห่างจากบ้านประมาณ 10 กว่ากิโล ที่เลือกตรงนี้ เพราะถนนหนทางค่อนข้างสะดวก ผมตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่า “ไร่นาป่าสงวน” เพราะเราอยากให้มีทุกอย่างอยู่ในที่ดินผืนนี้ มีทั้งไร่ นา ป่า และ สงวน คือคุณพ่อของผมเอง” ปอเล่า
ช่วงแรกที่่ปอเข้าไปบุกเบิกที่ดินทำนา ผืนดินแห่งนี้ยังไม่สวยงาม เป็นเพียงผืนนาติดๆ กัน ทำให้ต้องไปปรับพื้นที่ใหม่ทั้งหมด “ในที่ดินทั้งหมดจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน เราต้องดูว่าจะปรับตรงไหนให้เหมาะสม และส่วนที่เป็นป่า เราก็ดูแลให้เป็นป่าเหมือนเดิม แต่ตรงที่เป็นไร่ ก็มีการขุดสระน้ำ และการปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมด ผมทำตามแนวพระราชดำริของในหลวง ในเรื่องของการแบ่งพื้นที่ทำไร่นาสวนผสม และตามพระราชดำริในการทำเกษตรคือ เราต้องมีต้นทุน
ต้นทุนในที่นี้คือ “น้ำ” ทำให้เราต้องขุดสระน้ำ เพราะถ้าเรามีน้ำ ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ขึ้น ยิ่งภาคอีสานเป็นภาคที่แห้งแล้ง สระที่ผมขุดไว้เก็บน้ำก็จะเลี้ยงปลา แต่เชื่อมั้ยว่า ยังเก็บน้ำไม่พอ ทำให้ต้องขุดสระที่สอง เพื่อจะผันน้ำไปเลี้ยงที่ดินได้ทั้งผืน ในที่ดินของผม จะแบ่งเป็นที่นา 30 ไร่ อีก 10 กว่าไร่เป็นป่า นอกนั้นเป็นการปลูกไม้ผล และขุดสระเก็บน้ำ มีปลูกยางพารา ผักหวานป่า และพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ ผมรู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคง พอเราทำไปเรื่อยๆ เราเห็นความเปลี่ยนแปลง พอได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ผมรู้สึกดีนะ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งความฝันที่ผมอยากทำ” บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของปอ จากรายการ “ทูไนท์โชว์” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2557
นอกจากการเกษตรที่ปอทำตามแนวพระราชดำริแล้ว สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและต้นแบบในการทำงานหนักของเขาคือ “ในหลวง” เช่นเดียวกัน “ในหลวงเป็นต้นแบบเรื่องการทำงานหนัก ในหลวงทำงานหนัก นี่คือสิ่งที่ผมยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ไม่ท้อที่จะทำ" บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของปอ จากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
“ผมจะไม่ลืมบ้านเกิด ถิ่นกำเนิด ผืนแผ่นดินอีสาน ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหนก็ตาม และรู้สึกภูมิใจที่เป็นชาวบุรีรัมย์ ภูมิใจที่จบจากโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม” คำพูดของปอ ที่สร้างความประทับใจให้แก่นางภารดี วงศ์ทองเจริญ ครูผู้สอนวิชาสุขศึกษา ขณะที่เขาศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และวิชาลูกเสือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ใน 1 อาทิตย์ที่มีการเรียนการสอน ครูภารดีจะได้สอนปอและเพื่อนร่วมชั้น 2 ชั่วโมง นอกนั้นคือการได้พบเจอกันนอกห้องเรียน โดยเฉพาะใต้ร่มไทร บริเวณหน้าอาคารเรียนไม้สักหลังเก่า อายุกว่า 100 ปี ที่เป็นที่ประจำ ที่ปอมักจะไปนั่งเล่นกับเพื่อนๆ
“ครูจำปอได้ เพราะทุกครั้งที่เจอกันจะเห็นรอยยิ้มของเขา นอกจากรูปร่างหน้าตาที่ดูน่ารัก หล่อเหลามาตั้งแต่เด็กแล้ว สิ่งที่ทำให้ครูจำเขาได้ คือปอเข้ามาถามครูว่า มีอะไรให้ผมช่วยไหม ทุกครั้งที่เจอหน้ากัน ปอเป็นคนน่ารัก ร่าเริง สดใส เอื้ออาทร ใส่ใจคนที่อยู่รอบข้าง มีมนุษยสัมพันธ์ดีทั้งกับเพื่อนและครู มีจิตอาสามาตั้งแต่เด็ก หากทางโรงเรียนมีกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เช่น พัฒนาทำความสะอาดวัด สถานที่สาธารณะ ครูจะได้เจอเขามาเป็นอาสาสมัครร่วมกิจกรรมทุกครั้ง” นางภารดีกล่าว
แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี จนปอจะมีชื่อเสียงเป็นที่รักของประชาชน ทุกครั้งที่ได้พบกัน ภาพลูกศิษย์คนนี้ก็ยังคงเป็นภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ การเข้ามาทักทายอย่างสนิทสนม เป็นห่วงเป็นใย ล่าสุดที่ได้เจอกันเมื่อต้นปี 2558 ในงานแต่งงานน้องชายของปอ ทันทีเห็นครูที่เคยสอน ก็จะเดินเข้าไปทักทาย ประคอง กอดเอว และพูดคุยไม่ต่างจากเมื่อครั้งยังเด็ก บทสัมภาษณ์ของนางภารดี ถึงลูกศิษย์ผู้เป็นที่รัก ส่วนหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559
ไม่ใช่แค่ทำงานเพื่อเงินเท่านั้น แต่งานเพื่อสังคม ยังเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างหนึ่งในชีวิตของปอ "ผมเป็นทูตของ WSPA เป็นองค์กร ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อยุติการทารุณกรรมสัตว์ ต้องการให้สังคมเห็นความสำคัญเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ เพราะชีวิตของมนุษย์ใกล้ชิดกับสัตว์ทั้ง สุนัข แมว หมา ไม่เว้นแม้แต่ช้างของไทย ทั้งสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ หรือแม้กระทั่งการรับประทานเนื้อสัตว์ อยากให้มองว่าสัตว์คือสิ่งมีชีวิตเหมือนกับคน ไม่ใช่ว่ามนุษย์กับสัตว์จะถูกแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งผมคิดว่าไม่แฟร์เท่าไหร่ เราต้องพึ่งพาเขา แล้วทำไมเขาถึงต้องอยู่ต่ำกว่าเรา ในขณะเดียวกันเขาต้องพึ่งพาเราเหมือนกัน สิ่งที่ผมต้องการจะบอกคือ สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก เขาอยากอยู่ดีกินดี และไม่อยากถูกทำร้าย อยากให้มีมนุษยธรรมตรงนี้ ซึ่งผมเป็นตัวแทน ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลทั่วไป" ปอเคยกล่าวเอาไว้
ตลอดชีวิตของมนุษย์ ความจริงบางอย่างกำลังเตือนให้รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดแน่นอน และการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างมี “คุณค่า” จากความไม่แน่นอนเหล่านั้น คือการ “บันทึก” เรื่องราวที่ดีงามของเราในความทรงจำของคนอื่น ปอเป็นหนึ่งในความทรงจำดีๆ ของใครหลายคน
อย่างน้อยน้ำตาที่หลั่งไหลจากหัวใจทุกดวง สะท้อนความเสียดาย ที่เขามีเวลาทำ “ความดี” น้อยไป แต่ขอให้ “ดวงจิตของปอ” จงไปสู่สุคติ อย่าห่วงและกังวลต่อสิ่งใด เพราะการกระทำที่เขาสร้างเอาไว้ “มันมากพอแล้ว” ที่จะบันทึกคุณค่าในชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ “ปอ” ทฤษฎี สหวงษ์