
หนีตามกาลิเลโอ
หนึ่งสาวอกหัก (ซึ่งจริงๆ แล้ว แฟนหนุ่มของเธอแค่บอกจะไม่ตามง้อ และขออยู่ห่างๆ สักพัก) ส่วนอีกหนึ่งสาวตีโพยตีพายถึงความไม่ยุติธรรมในระบบการศึกษา หลังติด F จากการที่เธอปลอมลายเซ็นอาจารย์ เพื่อลักลอบใช้ห้องเขียนแบบโดยพละการ
และด้วยอารมณ์หุนหันพลันแล่นตามประสาวัยรุ่น ที่ทึกทักเอาว่าปัญหาแค่นี้ ทำให้เธอถูกต่อต้านจากสังคม รวมถึงความเบื่อหน่ายในผู้คนรอบข้าง น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่เหตุผลที่ทำให้สองสาวตัดสินใจ ‘เสี่ยง’ ออกเดินทางเพียงลำพัง ทั้งที่รู้ว่าหนทางข้างหน้าดูน่าหวาดเสียว อุปมาอุปไมยเหมือนกับการที่พวกเธอคุยกันบนหอคอยสูง ก่อนจะกระโดด ‘บันจี้ จัมพ์’ ลงมา และเมื่อทั้งคู่จึงตัดสินใจออกเดินทางไกลไปใช้ชีวิตในต่างแดน เพื่อหวังเยียวยาบาดแผลในใจ (ซึ่งจะว่าไปแล้ว เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเล็กน้อยเหลือเกิน) ต่างก็พบว่าการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนต่างเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมในสังคมอันไกลโพ้นได้ให้บทเรียนอันยิ่งใหญ่สำหรับความเข้าใจต่อโลกใบนี้ โดยเฉพาะความเคารพต่อกฎแห่งการอยู่ร่วมกัน พร้อมๆ กับทัศนคติในชีวิตที่อาจจะเติบโตขึ้นระดับหนึ่ง
“หนีตามกาลิเลโอ” น่าจะเป็นแนวทางใหม่ๆ ของหนังไทยในขณะนี้นะครับ สำหรับผลงานล่าสุดของผู้กำกับ นิธิวัฒน์ ธราธร จากค่ายจีทีเอช แม้ภาพลักษณ์ภายนอกจะถูกมองเป็นหนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่ง แต่ทว่าเรื่องราวการผจญภัยในต่างแดนของสองสาว ‘นุ่น’ ("เต้ย" จรินทร์พร จุนเกียรติ) กับ ‘เชอรี่’ ("ต่าย" ชุติมา ทีปะนาถ) ซึ่งจะว่าไป เธอทั้งคู่ก็ดูจะเป็นเหมือนศูนย์กลางของหนัง หากจะนำไปเปรียบกับชื่อที่ล้อไปกับทฤษฎีของกาลิเลโอที่ว่า ‘ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของจักรวาล หาใช่โลกใบนี้’ ซึ่งไม่ว่าวงโคจรของดาวบริวารจะหมุนรอบกี่องศา หรือกินเวลานานเท่าใด ชีวิตตะลอนทัวร์ของ ‘นุ่น’ กับ ‘เชอรี่’ ก็ดูคล้ายจะโคจรไปรอบๆ ผู้คนแปลกหน้า และหมุนรอบตัวเองในคราเดียวกัน ที่สำคัญการเดินทางของเธอทั้งคู่ก็เป็นเหมือนการสำรวจตัวเองไปพร้อมๆ กับทำความรู้จักคนรอบข้างในเวลาเดียวกันด้วย (ซึ่งการค้นพบของเธอทั้งสองระหว่างการเดินทาง ก็สามารถเร้าอารมณ์ได้ถึงขนาดทำให้ขนตาชุ่มน้ำได้บางขณะเลยทีเดียว) ถึงแม้สสารใน “หนีตามกาลิเลโอ” ดูจะมีปริมาตรน้อยกว่า ทิวทัศน์และผู้คนที่สองสาวพบเจอ ซึ่งมุมมองที่ทั้งคู่มีต่อชีวิตและบทเรียนที่ได้รับ โดยเฉพาะกรณีของ ‘เชอรี่’ นั้น น่าสนใจไม่น้อย
ความเป็นคนมี ‘อีโก้’ สูง และดูจะมั่นอกมั่นใจในความคิดและการกระทำของตัวเองเกือบจะทุกๆ เรื่องของ ‘เชอรี่’ นิสัยแบบนี้มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ทำให้เธอเป็นคนเข้มแข็ง แต่ทว่ามันทำให้เธอดูเป็น ‘ขบถ’ และถูกกันออกจากสังคมกลายเป็นคนแปลกแยกในที่สุด ซึ่งกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจต่อกฎของการอยู่ร่วมกันในสังคม (โดยธรรมชาติของมนุษย์) ชีวิตของ ‘เชอรี่’ ก็อ้างว้างโดดเดี่ยว ดำรงตนอยู่เพียงลำพัง เกือบๆ จะรวนเรซวนเซ ก่อนจะฉุกคิดได้ในที่สุด และเมื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ‘กาลิเลโอ’ สามารถพิสูจน์แนวคิดเรื่องกฎแห่งแรงโน้มถ่วงของโลกได้ ในอีก 400 กว่าปีถัดมา ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่าง ‘เชอรี่’ ก็ค้นพบและพิสูจน์ถึงกฎแห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมได้เช่นกัน (ทั้งที่จริง มันเป็นธรรมชาติที่มนุษย์เรียนรู้มาเป็นล้านปีแล้วก็ตาม)
การทะเลาะกับอาจารย์จนไม่ยอมเรียนต่อ ทะเลาะกับแขกในร้านอาหารไทยที่ลอนดอน แอบขึ้นรถไฟใต้ดินโดยไม่ซื้อตั๋ว รวมทั้งฉ้อโกงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทำงานที่ร้านอาหารในอิตาลี ต่างล้วนเป็นบทเรียนสำคัญที่ ‘เชอรี่’ ได้รับ ส่วน ‘นุ่น’ แม้จะแค่ตามเพื่อน แต่ผลกระทบที่ส่งมาถึง ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้เร็วกว่า กลับอกกลับใจไวกว่า แต่ก็ปวดร้าวและเสียอกเสียใจน้อยกว่า ถึงกระนั้นเธอก็ยังกลับมาใช้ชีวิตในโลกแห่งการอยู่ร่วมกันได้เร็วกว่าเช่นกัน
ท่ามกลางภูมิทัศน์สวยงามแปลกตา ความมีชีวิตชีวาของสองนักแสดงสาว ก็ทำให้เวลาร่วมสองชั่วโมงใน “หนีตามกาลิเลโอ” ไม่รู้สึกว่า ยาวนานกว่าหนังไทยทั่วๆ ไป รายละเอียดเล็กๆ น้อยระหว่างเดินทางและใช้ชีวิตในสามเมืองใหญ่ของยุโรป (ลอนดอน-ปารีส-เวนิส) ก็ทำให้หนังดูเพลิน จนเกือบๆ จะกลบสาระสำคัญ และปมที่ตัวละครแบกขึ้นบ่ามาจากเมืองไทยไปเสียด้วยซ้ำ บทหนังที่พยายามขยับปมให้แน่นขึ้น พร้อมๆ กับหาวิธีให้ตัวละครได้เรียนรู้เพื่อคลี่คลายในระหว่างทาง ก็ทำให้งานชิ้นนี้มีอะไรที่มากกว่าแค่หนัง ‘โร้ด มูฟวี่’ ขายวิวสวยๆ ผู้คนและทัศนียภาพแปลกๆ โดยมีเสียงดนตรีประกอบที่โดดเด่น ไม่รกหู ไม่ทำให้หนังสะดุด แต่กลมกลืนและใส่เข้ามาอย่างได้จังหวะกับอารมณ์และเรื่องราว ที่สำคัญการแสดงที่นอกจากขับเค้นความเป็นธรรมชาติของสองดาราสาว ที่กลายเป็นเสน่ห์ชวนให้ติดตามและเอาใจช่วยไปตลอดรอดฝั่งแล้ว บางขณะ บางเวลาที่ต้องเน้นอารมณ์ในฉากสำคัญๆ ทั้ง ‘ต่าย’ และ ‘เต้ย’ ต่างก็ทำได้ดีจนแทบไม่มีที่ติ
หากนำ “หนีตามกาลิเลโอ” ไปเปรียบกับหนังเรื่องอื่นๆ จากค่ายจีทีเอชด้วยกัน โดยเฉพาะหนังที่ใช้ตัวละครในวัยไล่เลี่ยกันมาบอกเล่าประเด็นที่ว่าด้วยประสบการณ์สำคัญในชีวิต ที่ช่วงหนึ่งต้องค้นหาตัวตนหรือค้นพบตัวเองในช่วงรอยต่อระหว่างวัย ไม่ว่าจะเป็นหนังอย่าง ‘เพื่อนสนิท’ ‘เด็กหอ’ ‘ซีซั่นส์ เช้นจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย’ นัยแฝงเร้น หรือการขับเน้นในประเด็นดังกล่าวของ “หนีตามกาลิเลโอ” จะดูเบาบาง ไม่เข้มข้นเท่า แต่ฉากจี๊ดๆ เรียกน้ำตาและความประทับใจก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันสักเท่าไหร่
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นี่คือหนังวัยรุ่นที่น่าสนใจที่สุดเรื่องหนึ่งของปี ณ ขณะนี้
ชื่อเรื่อง : หนีตามกาลิเลโอ / Dear Galileo
ผู้เขียนบท : นิธิวัฒน์ ธราธร, โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล
ผู้กำกับ : นิธิวัฒน์ ธราธร
นักแสดง : ชุติมา ทีปะนาถ, จรินทร์พร จุนเกียรติ, เร แมคโดนัลด์
วันที่เข้าฉาย : 23 กรกฎาคม
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"