บันเทิง

‘อิเลีย ไนชูลเลอร์’ผู้กำกับไฟแรงจาก‘Hardcore Henry’

‘อิเลีย ไนชูลเลอร์’ผู้กำกับไฟแรงจาก‘Hardcore Henry’

03 เม.ย. 2559

บันเทิงต่างประเทศ : คุยกับ ‘อิเลีย ไนชูลเลอร์’ ผู้กำกับไฟแรงจาก ‘Hardcore Henry’

 
      หลังจากที่มิวสิกวิดีโอเพลง ‘Bad Motherf*cker’ โดยวง Biting Elbows วงดนตรีอินดี้ร็อกเชื้อสายรัสเซีย ได้ปรากฏขึ้นบนยูทูบ มิวสิกวิดีโอไอเดียสุดแหวก ที่กำกับโดย อิเลีย ไนชูลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกของวง ก็กลายเป็นกระแสไวรัส กวาดยอดผู้ชมไปกว่า 40 ล้านครั้ง ส่งผลให้ไนชูลเลอร์ กลายมาเป็นชื่อที่วงการภาพยนตร์จับตามองในทันที ด้วยสไตล์การถ่ายทำทีใช้มุมมองสายตาของตัวละครหลัก (POV–Point of View) ตลอดการเล่าเรื่อง เปรียบเสมือนผู้ชมเป็นตัวเอก ที่กำลังฝ่าฟันฉากแอ็คชั่นสุดมันด้วยตัวเอง และเมื่อ Bad Motherf*cker ไปเตะตา ทิเมอร์ เบคแมมเบตอฟ ผู้กำกับแอ็กชั่นยอดฝีมือจาก Wanted เขาจึงได้ทาบทาม อิเลีย มาเป็นผู้กำกับในภาพยนตร์ "Hardcore Henry" และผันตัวเองไปนั่งแท่นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่ง อิเลีย ได้กล่าวถึงการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้นี้ว่า 
 
@ ตอนที่คุณทำวิดีโอ “Bad Motherfucker” เคยคิดบ้างไหมว่ามันจะได้รับการตอบรับแบบนี้
 
      ไม่เลย ผมแค่คิดว่า มันคงจะดีนะ ถ้าเราได้สัก 1 ล้านวิว เราเคยทำวิดีโอขึ้นมาหลายปีก่อนหน้า “Bad Motherfucker” ซึ่งใช้มุมมองแบบนี้ทั้งหมด และเราได้ 1 ล้านหรือ 2 ล้าน หรือ 3 ล้านนี่แหละ นั่นเป็นเรื่องใหญ่ของเรามากนะ มันทำเอาผมอึ้งไปเลยเมื่อได้ยอดวิวมากกว่าเดิมมาก 
 
@ คุณไปเอาไอเดียมุมมอง POV มาจากไหน
 
      เมื่อครั้งที่ผมได้เล่นสโนว์บอร์ดแรก อยากรู้ว่าตัวเองเล่นห่วยขนาดไหน ก็เลยซื้อกล้อง GoPro รุ่นแรกๆ ไปถ่าย ผลออกมาว่าผมเล่นห่วยเสียยิ่งกว่าห่วย ผมก็เอากล้องกลับบ้านมา แล้วบอกตัวเองว่า “ไอ้กล้องนี่ไม่ได้เรื่องเลย น่าอายชะมัด” จากนั้นผมก็เอากล้องให้เพื่อนไป ซึ่งเพื่อนผมก็เอาไปถ่ายคลิปสนุกๆ โดยอมกล้องไว้ในปากแล้วก็เดินไปทั่วเลย หลังจากที่ผมได้เห็นคลิปที่เพื่อนถ่าย ผมก็ตัดสินใจไปหาอุปกรณ์เสริม และไปถ่ายมิวสิกวิดีโอ ในตอนแรก ผมเกลียดหนัง 3 มิติจะตาย แต่ผมคิดว่า เดี๋ยวสักวันมันก็จะมีคนทำ และไอ้คนๆ นั้นก็ควรจะเป็นเรา เพราะสุดท้ายแล้ว ผมก็อยากจะนั่งอยู่ในโรงหนัง ดูหนัง POV สนุกๆ สักเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นหนังที่สร้างกันที่กองถ่ายจริงๆ ทุกคนคุยกันว่าเรากำลังทำหนังอะไร แต่ในทุกๆ วัน ก็มีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดออกมา เทกแรกที่ถ่ายจะออกมาน่าเกลียดมาก เราต้องวิเคราะห์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากนั้นก็ถ่ายซ่อมอีกรอบ ทุกครั้งที่ถ่ายออกมาได้สำเร็จ ทีมงานทุกคน ก็จะพากันตบมือลั่นกองถ่าย มันเป็นประสบการณ์การทำงานเป็นทีมที่สุดยอดมาก ผมโชคดีมาก ที่ได้ทำงานกับพวกเขา
 
@ ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร
 
      เรื่องของชายชื่อ เฮนรี่ ที่เราจะสมมุติให้ผู้ชมเป็นเขา ถ้าเราทำทุกอย่างได้ถูกต้อง ผู้ชมจะเชื่อว่าตัวเองเป็นเฮนรี่จริงๆ  ในตอนเริ่มเรื่อง ภรรยาของเฮนรี่ปลุกเขาขึ้นจากความตาย เขาไม่หลงเหลือความทรงจำอะไรเลย แต่ก่อนที่เมียของเขาจะติดตั้งระบบพูดให้เขาทัน (จริงๆ เรื่องนี้เป็นเพราะกฎที่ผมตั้งไว้ว่าตัวละครจะต้องเป็นใบ้ ไม่อย่างนั้นหนังจะไม่เวิร์ก) ตัวร้ายก็โผล่เข้ามาและจับเมียเขาไป และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง ที่เฮนรี่จะต้องไปตามช่วยคนรักกลับมา
 
@ เมื่อคุณทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน สงสัยบ้างไหมว่าเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จได้หรือเปล่า
 
      ผมยอมรับเลยว่าสองสัปดาห์แรก ทำผมหวั่นใจมาก เราคิดว่าภาพที่ถ่ายออกมาแรกๆ ไม่สวยเท่าที่ต้องการ แถมเรายังทำพลาดครั้งใหญ่ ในตอนเริ่มต้นที่มีฉากซับซ้อนมากๆ ในสัปดาห์แรกผมคิดกับตัวเองว่า “นี่มันไม่ใช่แล้ว” แต่ผมก็นึกขึ้นได้ว่า ก่อนเราจะเริ่มถ่ายประมาณเดือนหนึ่ง ทิเมอร์บอกผมว่า “สองสัปดาห์แรกนายจะรู้สึกว่างานมันโคตรเละ เสียเวลา เสียเงิน อยากฆ่าทุกคนให้ตาย หนังเรื่องนี้มันไร้ค่าจริงๆ สิ่งที่นายต้องทำคือ อย่าไปสนใจ นายมีหน้าที่ทำให้เสร็จ ก็จงทำให้เสร็จ” สิ่งนั้นกลายมาเป็นคติประจำตัวผม เวลาเราทำพลาดผมจะบอกลูกทีมว่า “ถ่ายต่อไป เดี๋ยวทุกสิ่งจะดีเอง” พอผ่านไปสองสามสัปดาห์ ผมก็รู้ตัวว่าคิวถ่ายที่วางไว้ จะไม่ได้ผลแม้แต่นิดเดียว ไม่ว่าใครหน้าไหนที่มีฝีมือเพียงใดจะมาทำแทนเรา ก็ไม่ทันอยู่ดี ตอนนั้นผมจึงประชุมกับทุกคน แล้วคิดทบทวนกระบวนการถ่ายของเราอีกครั้ง โดยแทนที่จะรีบถ่ายทำให้เสร็จในปี 2013 เรายืดมันออกไปจนช่วงกลางปี 2014 เราถ่ายทำกันสามช่วง โดยมีเวลาพักประมาณสองเดือนต่อหนึ่งช่วงการถ่ายทำ แต่เราพักก่อนการถ่ายทำชุดสุดท้ายถึงห้าเดือน ซึ่งนั่นทำให้เรามีเวลาสำรวจ และจัดระเบียบความคิดนานพอสมควร มีการถ่ายแก้บ้าง ประมาณสองสามฉาก มันเป็นการย้อนกลับไปแก้งานที่มีประสิทธิภาพมาก
 
@ ในบรรดาฉากสตั๊นต์ทั้งหมด คุณภูมิใจกับฉากไหนมากที่สุด
 
      ฉากมอเตอร์ไซค์ ฉากนี้อยู่กลางเรื่องเลย คือในการถ่ายทำเรื่องนี้ เราไม่ได้ใช้กล้องแบบธรรมดา การถ่ายทำเลยยากกว่ามาก พวกสตั๊นต์แมน ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใหม่ด้วย เพราะไม่สามารถชกหลบๆ ได้เหมือนการถ่ายแบบเดิมๆ เรามีนักออกแบบคิวสตั๊นต์ถึงสามคน ซึ่งเปลี่ยนคนทุกๆ ช่วงการถ่ายทำ ยิ่งไปกว่านั้น ทุกครั้งที่เปลี่ยนคน คนใหม่ที่เข้ามาก็จะเก่งขึ้นกว่าคนก่อนหน้า ในการถ่ายทำช่วงสุดท้าย เราต้องถ่ายทำฉากที่ซับซ้อนที่สุดในเรื่องที่เราย้ายไปถ่ายหลังสุด เพราะต้องคิดวางแผนกันอย่างหนัก มันเป็นฉากไล่ล่าด้วยความเร็วสูงบนทางด่วน ความยาวสามนาที ในฉากมีทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเราจะต้องกระโดดข้ามไปข้ามมาระหว่างรถ พร้อมทั้งระเบิดอีกมากมาย ฉากนี้มีเวลาถ่ายแค่ห้าวัน ซึ่งตอนแรกผมคิดว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่เราก็ทำสำเร็จได้ในเวลาเพียงสี่วันครึ่ง คิวสตั๊นต์ที่เราทำกัน อาจเป็นการกระทำเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ที่อาจลงเอยอย่างอันตรายสุดๆ ได้ แต่พวกเราก็ทำสำเร็จ โดยไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่ง80 เปอร์เซ็นต์ของการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ต่างต้องยุ่งเกี่ยวกับคิวสตันท์ทั้งนั้น และหลายคิวก็อันตราย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายสุดๆ
 
@ คุณได้ทำการทดลองฉาย เพื่อดูว่าผู้ชมจะเวียนหัวกับมุมมองนี้บ้างหรือไม่
 
      ตัวผมเองเป็นคนที่เวียนหัวได้ง่ายมาก เวลาผมนั่งรถก็ไม่สามารถพิมพ์ข้อความบนโทรศัพท์ได้เลย ดังนั้นก่อนจะถ่ายทำ ก็ได้ทำการทดสอบโดยไปเช่าโรงหนัง แล้วนั่งดูวิดีโอที่มีทั้งการต่อสู้ กระโดด ขับรถ พูดคุย และการกระทำทุกอย่างในมุมPOV ที่จะอยู่ในหนัง ผลที่ออกมาก็คือ แม้แต่ตัวผมเองที่เมารถได้ง่ายมาก ก็ยังไม่เป็นอะไรในตอนเริ่มถ่าย ผมได้นั่งดูภาพของฉากหนึ่งแล้วเกิดเวียนหัวขึ้นมา ตอนแรกก็คิดว่า เลิกทำเรื่องนี้ดีกว่า แต่พอภาพจากฉากเดียวกันได้ขึ้นไปบนจอโปรเจกเตอร์ ผมกลับไม่เป็นอะไร ร่างกายเราจะชินไปเอง ผมก็เลยคิดว่าในภาพยนตร์ตัวเต็ม เราควรจะเริ่มเรื่องแบบนุ่มนวล ฉากแอคชั่นก็จะไม่อยู่ตอนต้นมากนัก เราตั้งใจจะเริ่มแบบช้าๆ เพื่อให้คนดูปรับตัวเข้ากับมุมภาพ POV ก่อนที่จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ บ้าขึ้น ระห่ำขึ้น จนตอนจบนี่เรียกได้ว่าคลั่งกันเลยทีเดียว ถ้าเอาฉากสุดท้ายมาให้คนดูเป็นฉากแรก ผมเชื่อเลยว่าพวกเขาจะปรับตัวยากแน่นอน แต่ถ้าได้ดูฉากนั้นหลังจากภาพยนตร์ผ่านไปแล้ว 90 นาที พวกเขาจะพูดว่า “จัดมาเลย เอาให้สุด!” ตอนนี้หลังจากผ่านการถ่ายทำเรื่องนี้มาปีครึ่ง ในที่สุดผมก็สามารถพิมพ์ข้อความเวลานั่งรถได้แล้ว มันอาจฟังดูไม่น่าเชื่อนะครับ แต่ผมก็หายจริงๆ พอหนังถ่ายเสร็จ เราก็ทดสอบอีกครั้งหนึ่ง รอบนั้นน่าจะมีคนดูสัก 50 คนได้ ไม่มีใครพูดว่า “ฉันดูไม่ไหว” แม้แต่คนเดียว ซึ่งคนดูรอบนั้นก็มีทุกเพศทุกวัย ผมว่าหนังของเราปลอดภัยครับ
 
@ หลังจากที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย คุณคิดว่าอีกนานไหมที่วงการฮอลลีวู้ดจะหันมาทำหนังแอ็กชั่นด้วยวิธีนี้บ้าง
 
      ผมว่าพวกเขาเริ่มแล้วนะ เพราะก่อนหน้านี้ ผมก็ได้รับข้อเสนอให้กำกับหนัง POV ประมาณสองสามเรื่องเหมือนกัน ผมว่าในปีต่อๆ ไป เราคงได้เห็นมุมมองแบบนี้ในบางฉากของหนังหลายเรื่องแน่นอน แต่คงไม่ถึงขั้นฮิตเป็นเทรนด์เพราะมันคงยากเกินไป คงต้องรอดูกัน ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ การทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้แปลว่า มันจะกลายมาเป็นกระแสเสมอไป กระแสมันเกิดจากสิ่งที่ทำเงิน ซึ่งเป็นความจริงที่น่าเศร้ามาก สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือ ผู้กำกับรุ่นใหญ่ จะนำไอเดียนี้ไปใช้ในงานของเขาบ้าง
 
      ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย 21 เมษายน ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น