บันเทิง

'หนังกับวรรณกรรมเล่มหนา'

'หนังกับวรรณกรรมเล่มหนา'

10 พ.ค. 2559

'หนังกับวรรณกรรมเล่มหนา' : คอลัมน์ Eat play life โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร

 
          ในหนังฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวโรแมนติกที่พระเอกหนุ่มรูปหล่อเข้าบ้านหญิงสาวเป็นครั้งแรก หรือหนังแนวสืบสวนสอบสวนที่ตำรวจขะมักเขม้นหาหลักฐานในบ้านฆาตกร ไม่ว่าจะเป็นแนวใด ล้วนมีตอนที่พวกเขาแอบลอบมองดูรูปของเจ้าบ้าน หรือแม้แต่...ชั้นวางหนังสือ
 
          นั่นเพราะ หนังสือเป็นเสมือนสิ่งสะท้อนตัวตนของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นความหลงใหล ความสนใจ นับรวมไปถึงวัยหรืออายุของผู้อ่านเช่นกัน 
 
          หากพูดถึงหนังสือในช่วงวัยต่างๆ แล้ว
 
          The Cat in the Hat หรือ Green Eggs and Ham อาจเป็นหนังสือสุดคลาสสิกในวัยเริ่มคลาน
 
          ส่วน Lord of The Rings หรือ Harry Potter ก็เป็นหนังสือท็อปฮิตของวัยหัวใจแรกแย้ม
 
 
          แล้วหนังสือของนักอ่านในวัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่า จะเป็นไปในรูปแบบใด?
 
          คำตอบคือ หนังสือรูปเล่มใหญ่ พร้อมตัวหนังสือไซส์ 16 นั่นเอง
 
          เมื่อ HARPERCOLLINS เปิดตัวหนังสือรูปแบบใหม่ที่เน้นกลุ่มผู้อ่านหลักคือ กลุ่มนักอ่านวัยสูงอายุ รูปแบบใหม่นั่นจะเป็นอย่างไรไปไม่ได้ นอกจากหนังสือรูปเล่มใหญ่บิ๊ก
 
          ตอนที่ผมเห็นหนังสือ “Next” ของ Michael Crichton เล่มหนึ่งในกลุ่มหนังสือรูปแบบใหม่นั้น ผมแทบผงะ ด้วยความใหญ่และไม่น่าอ่าน (ในความคิดของผม) แต่ครั้นได้หยิบมาลองพินิจดูแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า มันอ่านง่ายดีจริง ๆ
 
          นี่แหละมั้ง ชะตากรรมของหนังสือสำหรับนักอ่านสูงอายุ ด้วยในสมัยนี้หนังสือประเภทนี้ไม่มีอะไร น่าจับตามอง มันก็เลยเป็นได้แค่หนังสือที่ใช้ตัวอักษรใหญ่กว่า...ก็เท่านั้น
 
          จริงๆ ก็เป็นที่น่าพอใจมากอยู่เหมือนกัน ที่อย่างน้อยยังมีสำนักพิมพ์ที่ให้ความสำคัญ ยกให้ผม และนักอ่านรุ่นยุค 60’s เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่กระนั้น ผมก็ยังมีคำถามว่า
 
          “นักอ่านเคยถูกแบ่งแยกโดยมีชั้นวางหนังสือเป็นตัววัดด้วยหรือ?”
 
          แน่นอน ผู้คนส่วนมากมักจะคิดว่า บรรดาชื่อเรื่อง สำนักพิมพ์ ผู้แต่ง และตัวละครในหนังสือ เป็นสื่อแสดงถึงตัวตนของผู้อ่านหนังสือเล่มนั้นๆ
 
          ความคิดนี้อาจเป็นจริง ดังจะเห็นได้จากโลโก้ของสำนักพิมพ์ Ballantine Books ที่จับจองพื้นที่สันหนังสือยอดฮิตอย่าง “Lord of The Rings”
 
          ทว่า ความคิดนี้เป็นจริงได้เพียงครึ่ง ในเมื่อหนังสืออย่าง “Soul on Ice” “Slouching Towards Bethlehem” และ “Slaghterhouse-Five” ซึ่งเป็นหนังสือปกกระดาษทว่าไซส์ใหญ่เกินกว่า ขนาดหนังสือทั่วไป ถูกเหมารวมไปอยู่กับหนังสือ “Our Bodies, Ourselves” หรือ “The Whole Earth Catalog” ซึ่งเป็นหนังสือของนักอ่านวัยระหว่างหกสิบหรือเจ็ดสิบปี
 
          นักอ่านไม่ควรถูกแบ่งแยก เช่นเดียวกับที่หนังสือไม่ควรถูกลดค่า สำหรับผม การที่แบ่งนักอ่าน รุ่นยุค ‘60s ด้วยหนังสือเล่มหนาใหญ่ และฟรอนต์ไซส์ 16 นั้น ดูจะเป็นอะไรที่เกินเลยและยากที่จะรับได้ นั่นเพราะ แม้หนังสืออย่าง “Catch-22” และ “Our Bodies, Ourselves” อาจไม่ป๊อปปูล่าร์เท่า “Harry Potter” หรือ “Bridget Jone’s Diary” ทว่า หนังสือเหล่านั้นก็มีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
 
          หากจะให้ผมกล่าวถึงหนังสือสุดคลาสสิกในกลุ่มผู้อ่านวัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว แน่นอน ชื่อเรื่องอย่าง “On the Road”, “The Feminine Mystique”, “The Catcher in the Rye” หรือแม้แต่ “To Kill a Mockingbird” คงไม่พลาดแสดงตนอยู่ในลิสต์ หนังสือในกลุ่มนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการอันวิจิตร (เช่น ในหนังสือ “Lord of the Rings” หรือ “Stranger in a Strange Land”) บางเล่มก็นำเสนอโลกแห่งอุดมคติ (“The Greening of America”) แต่ก็มีหนังสือจำนวนหนึ่งที่เลือกจะมองชีวิตในมุมที่แตกต่าง นั่นคือ มุมในความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น “The Catcher in the Rye” ที่พิสูจน์ให้ผู้อ่านเห็นถึงความวกวนของวัยรุ่น หรือเรื่อง “Catch-22” และ “Slaughterhous-Five” ที่แสดงให้เห็นโลกไร้แก่นสาร ที่ซึ่งการฆาตกรรมหมู่เป็นขนบ และทหารพูดได้อย่างไม่ อายปากว่า พวกเขาทำลายเพื่อปกป้อง 
 
          เป็นที่ยอมรับกันดีว่า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆ ล้วนเปลี่ยนไป...