บันเทิง

1ก.พ.รำลึก 22 กับ 33 ปี 3 ขุนพลลูกทุ่งผู้จากไป

1ก.พ.รำลึก 22 กับ 33 ปี 3 ขุนพลลูกทุ่งผู้จากไป

31 ม.ค. 2560

วันครบรอบยอดนักร้องลูกทุ่ง 3 คน ที่เสียชีวิต

    วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นวันครบรอบยอดนักร้องลูกทุ่ง 3 คน ที่เสียชีวิต ซึ่งล้วนแต่เป็นนักร้องดังในอดีต ที่มีบทเพลงอมตะอยู่ในใจแฟนๆ ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ สัมพันธ์ พัทลุง นักค้นคว้าข้อมูลผู้รอบรู้คนหนึ่งในวงการ บันทึกไว้ดังนี้
    นักร้องคนแรก คือ ทูล ทองใจ เสียชีวิต 22 ปีล่วงมาแล้ว ในคืนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ในขณะที่มีอายุเพียง 67 ปี พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร
    ทูล ทองใจ ชื่อจริง น้อย ทองใจ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2470 ที่อัมพวา สมุทรสงคราม จบการศึกษามัธยมปีที่ 3 ร้องเพลงประกวดครั้งแรกเมื่ออายุได้ 14 ปี เข้าสู่วงการเพลงเมื่อปี พ.ศ.2499 ด้วยการบันเสียงเพลงแรก “พี่ทุยหน้าทื่อ” ผลงานของครูเบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) แต่ยังไม่ดัง จนกระทั่งมามีชื่อเสียงจากเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” หลังจากนั้นมีผลงานเพลงดังๆ ออกมามากมาย เช่น เสียงดุเหว่าแว่ว ปรารถนา คืนนั้นสวรรค์ล่ม มนต์เมืองเหนือ คืนอำลา คืนพี่ครวญ จูบมัดจำ รังรักในจินตนาการ นางรอง ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นเพลงอมตะของแผ่นดิน
    บทเพลงที่เขาขับร้องได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 2 จากเพลง “รักใครไม่เท่าน้อง” ครั้งที่ 3 จากเพลง “นางรอง” ผลงานของครูพยงค์ มุกดา และการประกวดแผ่นเสียงทองคำ ปี พ.ศ.2522 จากเพลง “ความหลังฝังใจ”
    ทูลเคยสังกัดวงจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล เป็นหนึ่งในสามทหารเสือ หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ.2511 ก็ร่วมกับภรรยา คือ นวลสวาท ชื่นชมบุญ ตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง และหันไปร้องเพลงประจำห้องอาหาร จนบั้นปลายของชีวิต ครูทูลมีบุตร 3 คน คนโตชื่อ “แหม่ม” พิณนภา ทองใจ ที่ร้องเพลงตามรอยพ่อ
    นักร้องระดับตำนาน คนต่อมาที่เสียชีวิตพร้อมกัน คือ มนต์รัก ขวัญโพธิ์ไทย กับ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 ผ่านมาแล้ว 33 ปี โดยขณะนั้นทั้งคู่สังกัดวงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยในวันนั้นวงได้ไปทำการแสดงในงานฝังลูกนิมิต ที่วัดบางขุนไกร อ.บ้านแหลม เพชรบุรี ในขณะที่วงของสลักจิต ดวงจันทร์ ทำการแสดงที่วัดปรักเขว้า อ.พนมทวน กาญจนบุรี นักร้องจากวงพุ่มพวง 3 คน คือ เพชร โพธาราม เสกศักดิ์ และ มนต์รัก จึงไปร้องที่พนมทวนก่อนในช่วงหัวค่ำ หลังจากนั้นรีบเดินทางไปสมทบวงของพุ่มพวงที่เพชรบุรี ก่อนถึงทางแยกเข้าวัดเขาตะเครา รถยนต์ประสานงากับรถขนผัก มนต์รัก กับ เสกศักดิ์ เสียชีวิตคาที่ ส่วน เพชร โพธาราม รอดปลอดภัย ร่างของนักร้องทั้งสองบำเพ็ญกุศลที่วัดอัมพวา กรุงเทพมหานคร เป็นวันเดียวกับที่วัดยาง พรานนก เพิ่งทำการฌาปนกิจศพ สังข์ทอง สีใส ซึ่งเสียชีวิตมาก่อนหน้านี้ไม่ถึง 10 วัน ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เช่นกัน
    มนต์รัก ขวัญโพธิ์ไทย ชื่อจริง อ่ำ ยิ้มอยู่ เป็นชาวพนัสนิคม ชลบุรี บ้านเดียวกับ พนม นพพร บุปผา สายชล เรียม ดาราน้อย และ ชาตรี ศรีชล เป็นเด็กกำพร้า เรียนจบชั้นประถม 4 ในวัยเด็กเขาเคยร้องเพลงเลียนเสียงครูสุรพล สมบัติเจริญ แต่เปลี่ยนมาเป็นแนวเสียง เมืองมนต์ สมบัติเจริญ เข้าสู่วงการเพลง โดยเพื่อนๆ ในโรงหล่อพระแนะนำให้รู้จัก ประยงค์ ลูกบางไทร รับเข้าเป็นนักร้องประจำวง ใช้ชื่อแรกในการร้องเพลงหน้าเวทีว่า สมภพ ลูกสุพรรณ ต่อมาเป็นเป็น สร้อยทอง เพชรสุพรรณ และบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรก “อำนาจใบแดง” มนต์ เมืองเหนือ ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า มนต์รัก ขวัญโพธิ์ไทย มีบทเพลงดังมากมาย อาทิ “ไอ้หนุ่มก่อสร้าง” “คนเผาถ่าน” “ทหารพิการรัก”
    ส่วน เสกศักดิ์ พู่กันทอง ชื่อจริง เสน่ห์ จันทร์ทอง เป็นชาววิเศษชัยชาญ อ่างทอง เรียนจบ ป.4 บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดป่าโมก อ่างทอง จนจบนักธรรมเอก ในระหว่างบวชเขาเป็นนักเทศน์นักแหล่เสียงดี หลังสึกเดินทางเข้าทำงานที่กรุงเทพฯ เข้าสู่วงการเพลง ด้วยการสมัครเข้ามาเป็นนักร้องในวงดนตรี จินดา สมบัติเจริญ ได้บันทึกเพลง “ป่าซางในฝัน” โดยใช้ชื่อ ไพรสณฑ์ ลูกวิเศษ ออกจากวงจินดาก็ไปอยู่กับวงบรรจบ เจริญพร และย้ายไปอยู่กับวงเรียม ดาราน้อย เปลี่ยนชื่อเป็น ทิว อ่างทอง
    ครูฉลอง ภู่สว่าง ที่เคยอยู่วงบรรจบมาด้วยกัน ชักชวนให้ไปอยู่ด้วยกัน เปลี่ยนชื่อให้เป็น เสกศักดิ์ ภู่กันทอง บันทึกเสียงเพลง “โสภาใจดำ” “ขันหมากเศรษฐี” จนโด่งดัง และได้เพลง “ทหารอากาศขาดรัก” ของครูชลธี ธารทอง อีกเพลง ทำให้ชื่อเสียงยิ่งโด่งดังมากขึ้น หลังจากที่นั้นได้ย้ายไปอยู่กับวงดนตรีหลายวง จนกระทั่งวงสุดท้าย คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ จนกระทั่งจบชีวิต
    “คม ชัด ลึก” ของรำลึกถึงครูเพลงทั้งสามที่สร้างความสุขด้านเสียงเพลงอมตะจนมาถึงทุกวันนี้