
เป็นคุ้งเป็นแคว อาทิตย์ 2 เมษายน 2560
แอบอ้างแต่งเพลง จากครูสลาถึงก้อง
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเล็กๆ เรื่องที่มีรปภ.คนหนึ่งแอบอ้างว่าเป็นผู้แต่งเพลงดัง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ทำให้ ก้อง ห้วยไร่ เจ้าของเพลงตัวจริงถึงกับต้องออกมาเคลียร์ แต่เรื่องจบลงที่รปภ.ลงคลิปยอมขอโทษเสียก่อน อ้างว่ากุเรื่องขึ้นมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เหตุเกิดจากการที่ รปภ.คนนั้น ได้ส่งจดหมายเขียนด้วยลายมือ เข้าไปในเฟซบุ๊กของใครสักคนหนึ่งก่อนที่จะมีการแชร์ต่อ และกระจายไปทั่ว หลังจากนั้นสื่อก็หยิบยกเอาไปทำข่าวกันคึกโครม จนมีคนที่อ่านแล้วหลงเชื่อ ทำเอาหนุ่มก้องเครียดที่มีคนเสพข่าวอ่านแล้วไม่คิด ขอด่าไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ผู้แอบอ้างคนนั้นไม่มีอะไรเป็นหลักฐานเลยว่าเป็นคนเขียนเพลงนี้
รายละเอียดต่างๆ ก็คงจะทราบกันในข่าวสารไปแล้ว แต่เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมยุคโซเชียลที่มีอิทธิพลกับสื่อหลักทั้งหลาย ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะหาข่าว ความเป็นไปจากสังคมจากสื่อเหล่านี้ หากแต่น่าจะมีการตรวจสอบหรือเจาะข่าวเพิ่มเติมกันบ้าง ก่อนที่จะนำเสนออะไรลงไป เพราะมันมีผลกระทบตามมามากมาย และตกเป็นเหยื่อของคนที่อยากดังในชั่วข้ามคืน สร้างสถานการณ์ปลอมๆอะไรขึ้นมาสักอย่าง ก็ได้ออกสื่อมากมายสมใจนึก
กรณีศึกษาเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมามากมายแล้วในอดีต ที่จริงแล้วใช่ว่าจะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง เพียงแต่หลายเพลงพูดกันปากต่อปาก ไม่มีหลักฐานยืนยัน ครูเพลงดังๆ หลายคนก็เจอมาแล้ว แม้กระทั่งนักแต่งเพลงระดับศิลปินแห่งชาติก็เคยมีคนกล่าวหาในทำนองนี้ แต่ไม่เคยมีหลักฐานที่ชัดเจนจับได้คาหนังคาเขากันสักที
เมื่อราว 20 ปีมา สมัยที่มีรายการ “สายด่วนลูกทุ่ง” ที่มี ตั๊ก ศิริพร เป็นพิธีกร เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น ผู้เสียหายคือ ครูสลา คุณวุฒิ ที่ตอนนั้นมีคนเขียนจดหมายมาถึงนักจัดรายการวิทยุอ้างว่า เป็นคนแต่งเพลง “ยาใจคนจน” ที่ ไมค์ ภิรมย์พร ขับร้องและโด่งดังสร้างชื่อ ซึ่งในคราวนั้นต้องชื่นชมทางรายการที่สามารถตามตัวคนแอบอ้างมาออกรายการได้ พร้อมๆ กับครูสลา ผู้แต่งตัวจริง
ผมมีส่วนไปเป็นสักขีพยานในการพูดคุยก่อนที่จะบันทึกเทปออกรายการ พบว่าผู้ที่แอบอ้างดังกล่าวพูดคุยเป็นตุเป็นตะ เป็นต้นว่าถามถึงเพลงอะไรของไมค์ แกจะเล่าได้เป็นฉากๆ เช่น เพลง “ใต้แสงนีออน” แกก็เล่าว่าเป็นชีวิตจริงๆ ทำงานกลับมาบ้านแล้วนอนมองเพดาน ที่มีหลอดนีออนแล้วเขียนเป็นเพลง เขาเป็นนักเล่านิทานได้เก่งกาจมากคนหนึ่ง ชนิดที่ครูสลายังทึ่งกับเรื่องที่เขาเล่า
ทีมงานจึงต้องใช้วิธีสุดท้ายที่ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ให้จุดธูปสาบาน พร้อมๆ กับครูสลา ปรากฏว่า หนุ่มผู้แอบอ้างออกอาการละล่ำละลัก ไม่ยอมเข้าร่วมการสาบาน จนในที่สุดก็สารภาพว่ากุเรื่องขึ้นมาเอง ซึ่งครูไม่ติดใจอะไร ได้แค่ตักเตือนและแยกย้ายกันไป
แต่สิ่งที่น่าคิดในตอนนั้นคือ สื่อที่นำเรื่องนี้มาเสนอมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงกันหรือไม่ แต่เรื่องเกิดมานานแล้วจึงยกผลประโยชน์ให้จำเลยไป ป่วยการที่จะฟื้นฝอยหาตะเข็บ
เกี่ยวกับเรื่องการแอบอ้างขโมยเพลงนี้ ครูลพ บุรีรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่ล่วงลับไปแล้ว เคยให้ความเห็นกับคมชัดลึก ไว้ว่า “ตอนที่ครูโดนครูก็เฉยๆ ครูไม่ตอบโต้ คนคนนั้นถูกผิดดีชั่วย่อมรู้แก่ใจตัวเองใช่หรือไม่ ถ้าจะเจริญก้าวหน้าต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพ"
เรื่องการกล่าวหาเรื่องขโมยเพลงดังคงจะมีต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่คนเสพข่าวและโซเชียลยังคงหูเบา เชื่ออะไรง่ายๆ ก็หลงเป็นเหยื่อคนที่อยากดังสร้างกระแส แต่น่าสงสารคนที่เป็นเหยื่อก็ต้องอดทนกันไปและอย่าไปให้ราคาแก่คนพวกนี้