บันเทิง

eat play life / อาทิตย์ 9 เมษายน 60

eat play life / อาทิตย์ 9 เมษายน 60

08 เม.ย. 2560

สวม “ซีรีส์” ผูกเชือก “หนัง” รองเท้าเทพจาก “ไนกี้”

โดย นันทขว้าง สิรสุนทร 

    ถ้ารองเท้า Reebok Alien Stomper จะฉลอง “วันคืนสู่เหย้า” 30 ปีของตัวเองไปในปี 2016 แบรนด์ที่ยอดขายสูงสุดในโลกอย่าง Nike ก็มีความชอบธรรม ที่จะจัดแซยิด The Cortez ด้วยอายุที่ 45 ปีในช่วงเวลานี้...
    หรือถ้าพูดแบบเล่นสำนวน ก็ต้องบอกว่า ตอนที่นกน้อยอย่าง เจนนี ซื้อรองเท้า cortez สีขาวให้ “ขนนก” อย่าง ฟอร์เรสต์ กัมพ์ ในชื่อหนังเรื่องเดียวกันนั้น พ่อหนุ่มแสนซื่ออาจไม่มีคำถาม เกี่ยวกับรองเท้าไนกี้รุ่นนั้น เท่ากับบรรดา follow เป็นแสนๆ ที่มาสงสัยว่า ผมเอารองเท้ารุ่นนี้มาอ่านออกทีวี เขียนลงนสพ. และโพสต์ลง social media ทำไม
    ต้องเท้าความว่า ถ้าเทียบกันรุ่นต่อรุ่น... ในประวัติศาสตร์น่าทึ่งของไนกี้เอง เจ้า sneakers ของแบรนด์นี้ ยังไม่ใช่ “ที่สุด” เหมือนพวกสายพันธุ์ air ทว่า สิ่งที่มันต้องถูกพูดถึง และได้รับการคารวะก็คือ มันคือรองเท้ารุ่นแรก (หรือรุ่นแรกๆ) ที่แจ้งเกิดให้ชื่อไนกี้ ระเบิดในวงการกีฬา
    และถ้านับจากต้นทางปี 1972 ที่ cortez ออกวางขาย ถึงตอนนี้ ก็มีอายุยาวนานเข้าวัยกลางคนคือ 45 ปีไปแล้ว
    ฟิล ไนท์ กับ บิล โบเวอร์แมน ดูโอผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ไนกี้ (ในชื่อแรก blue ribbon sports) บอกไว้ในหนังสือ 1000 classic sneakers ว่า ในตอนแรกเขาไม่ได้วางคอนเซ็ปต์รองเท้า ที่จะให้มันเป็นอะไรที่ห่อหุ้มข้อเท้าในเชิงแฟชั่นเลย
    เขาคิดมาจากอะไร ที่เป็นส่วนผสมระหว่างรองเท้า training & running เท่านั้น เพื่อจะให้ใช้งานในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1972 ที่มิวนิค (ซึ่งปีนั้น เป็นโอลิมปิกเลือด เพราะเหตุการณ์ทางการเมือง) แล้วจู่ๆ รองเท้าก็ป๊อปมาก เพราะนักกีฬาหลายคนที่ใส่บอกว่า เป็นรองเท้าผ้าใบ ที่มี “ความรู้สึก” มาก
    ความรู้สึกอะไรหรือ ?
    หลายคนที่ใส่ cortez บอกว่ามีอารมณ์ ความรู้สึก ของการอยากเป็นผู้ชนะ หรือแรงขับที่จะพุ่งทะยานไปข้างหน้า คล้ายๆ forward หรือลูกศร ...เหมือนที่ครั้งหนึ่ง พูม่า เคยมองว่า ระหว่างใช้ตัวเสือ กับ จิงโจ้เป็นโลโก้ ตัวของเสือมีความทะยานไปข้างหน้ามากกว่า เพราะจิงโจ้แม้กระโดดได้ แต่ในทางจิตวิทยา มันไม่พุ่งแบบ “เสือ”
    Nike Cortez ดังระเบิดในปี 1972 แต่ไม่ได้เจือจาง ฝุ่นหายไปตามกาลเวลา เพราะปี 1976 ปีแรกที่มีการใช้ “ใบแดง” ในวงการฟุตบอลอังกฤษ ปีนั้น ซีรีส์ขวัญใจคนรุ่น Generation X อย่าง Charlie's Angel ก็สวมใส่รองเท้ารุ่นนี้ ในการออกไปจัดการภารกิจลับของพวกเธอ
    การวาง position ของรองเท้าแบบถูกที่ถูกเวลา หรือผูกไปกับ "วัฒนธรรมป๊อป" ของสังคม มีส่วนอย่างมากในการทำให้ตัวรองเท้า "เคลื่อน" มากกว่า "หยุดลง" แล้ว "เสียชีวิต....
    ในหนังสือหรือ pocket book หลายเล่ม ที่ผมสะสมเกี่ยวกับเสื้อ รองเท้า นวัตกรรม ที่เกี่ยวกับ sneakers นั้น ต่างชื่นชมว่า แม้ cortez ไม่ได้ไปแบบสุดทาง ปรากฏการณ์อะไรระดับจักรวาลแบบรุ่นสาย air ...ทว่ามันกลับถูกชื่นชมว่าคือรุ่นแรกที่ “สร้างแรงบันดาลใจ” ต่อการทำ ผลิต สร้าง รองเท้ารุ่นต่อๆ มา อีกมากมาย
    นี่ยังไม่นับปรากฏการณ์อย่าง self-lacing อย่าง “Back to the Future” sneaker (1989) หรือที่ดังสุดๆ แล้วอย่าง Jump Man ของ ไมเคิล จอร์แดน ที่เคยถูกถ่ายมาก่อนในนิตยสาร Life ซึ่งช่างภาพบอกว่า ให้กางขาเพื่อดูเหมือนกำลัง “เต้นบัลเล่ต์”
    นิตยสารที่เกี่ยวกับ lifestyle อย่าง Monocle เคยชมว่า ไนกี้เป็นแบรนด์ที่เก่งกาจ เจนจัด ในการพาแบรนด์ไปข้างหน้า คือค่อนข้างล้ำกว่าคู่แข่ง มาหลัง adidas แต่วิธีคิดในการ “ถือครอง” วงการลูกหนัง ใช้เวลาสั้นมากๆ (เช่น เซ็นแมนฯ ยู, บาร์เซโลนา, ทีมชาติบราซิล, ทีมชาติอังกฤษ นานถึง 10 ปี)
    พยานปากเอก เสียงดัง ที่ชัดมากก็คือ ข่าวที่ผมรายงานเป็นสกู๊ปหน้าจอทีวีกับคุณกนก & ธีระ ก็คือ แคมเปญ Breaking 2 และ Nike Pro Hijab ของนักกีฬาสาวมุสลิม
    และระหว่างที่ cortez ค่อยๆ นิ่งหลังทศวรรษที่ 80 เพราะไนกี้มีลูกเล่นออกมาอีกหลายรุ่น จู่ๆ หนังที่นิตยสาร Time เขียนไว้ว่า Forrest Gump เป็นภาพยนตร์ที่คนอเมริกันรักที่สุด นับจาก “Gone with the Wind” ปรากฏนายกัมพ์แสนซื่อ จิตใจดี ดันเลือกใส่ cortez และวิ่งสุดขีด ไปข้างหน้า...
    แค่นั้นเอง... Nike Cortez สีขาวลายแดง ก็ขายดีถล่มโลก เพราะจากพาหนะของภารกิจนางฟ้าเพศหญิง ก็ถูกสานต่อ ส่งต่อ ให้กับผู้ชายจิตใจดีเพศชาย อย่างนายกัมพ์ แบบเนียนๆ...
นางฟ้าจึงไม่ได้ดังแค่นางฟ้า...
    นายกัมพ์จึงไม่ได้ป๊อปแค่นายกัมพ์ ...
    แต่การ “วางตำแหน่ง” ของรองเท้า บนสายธารของ “วัฒนธรรมป๊อป” ก็คือการสร้างอายุขัยไม่แพ้กัน....
    Nike จึงไม่เคยแพ้ใคร ใน “พื้นที่” ที่ตัวเองเข้ามาเล่น !