บันเทิง

กฤษนะทัวร์ยกล้อ / อาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2560

กฤษนะทัวร์ยกล้อ / อาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2560

15 เม.ย. 2560

“บางนา เฟรนด์ลี่ ดีไซน์ โมเดล” สู่เมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์เพื่อคนทุกวัย

โดย กฤษนะ ละไล

    เมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา เครือข่ายบางนา เฟรนด์ลี่ ดีไซน์ โมเดล นำโดย คุณกุลวดี ศิริภัทร ตัวแทนภาคเอกชนจากโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา ในฐานะประธานเครือข่าย พร้อมด้วย คุณผาสุข ลัดพลี ผช.ผู้อำนวยการเขตบางนา พ.ต.ท.เดโช โสสุวรรณากุล รองผู้กำกับฝ่ายปราบปราม สน.บางนา และคุณกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล รวมถึงผู้แทนอาคารเซ็นทรัลบางนา ได้ร่วมกันลงพื้นที่ครั้งแรก ในโครงการบางนา เฟรนด์ลี่ ดีไซน์ โมเดล เพื่อสำรวจ และให้ข้อแนะนำในการปรับปรุงและพัฒนาอารยสถาปัตย์สำหรับคนทุกวัยในย่านบางนา ช่วง กม.3-4 ซึ่งมีตึกอาคารศูนย์การค้า และอาคารสำนักงานต่างๆ ตั้งอยู่มากมาย
    ตึกอาคารส่วนใหญ่ในย่านดังกล่าวมักสร้างขึ้นก่อนที่กฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ จะมีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ.2548 จึงทำให้ตึกอาคารหลายแห่งยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นอารยสถาปัตย์สำหรับคนทั้งมวล หรือบางแห่งอาจมี แต่มีเฉพาะบางจุด ยังไม่เชื่อมโยง และยังมีไม่ทั่วถึงเพียงพอ
    การสำรวจเริ่มจากฟุตบาททางเท้าและทางรถเข็น ป้ายรถเมล์ ตึกอาคาร สถานที่ต่างๆ จากนั้นมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้พิการ และผู้ที่ใช้รถเข็น ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวที่ลากกระเป๋าเดินทางด้วย
    “เรามาร่วมปรึกษาหารือกัน และขอความร่วมมือจากเจ้าของตึกอาคาร รวมถึงปรึกษากับผู้บริหารเขตบางนา กทม. ว่าจะช่วยกันทำตรงไหน อย่างไรบ้าง เพื่อให้ย่านบางนาเป็นต้นแบบในการปรับปรุงพัฒนาอารยสถาปัตย์ที่เชื่อมโยงทั่วถึงกัน เช่น การปรับปรุงฟุตบาททางเท้าให้มีทางลาดเชื่อมโยงไปยังตึกอาคาร สถานที่ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะการทำทางลาดด้านหน้าตึกอาคารต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนที่ใช้รถเข็น ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พักฟื้นสุขภาพ ผู้พิการ และครอบครัวที่มีเด็กเล็กต้องใช้รถเข็น” คุณกุลวดีกล่าว
    ส่วนคุณกฤษนะมองว่า โครงการบางนา FD โมเดล ช่วยตอบโจทย์การเตรียมสภาพแวดล้อมที่รองรับสังคมผู้สูงวัย คืนความสุขให้แก่คนทุกวัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเพื่อคนทั้งมวล และร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพราะเรื่องอารยสถาปัตย์ หรือเฟรนด์ลี่ดีไซน์ ถือเป็นนวัตกรรมทางความคิด และจิตใจ เป็นนวัตกรรมทางจิตวิญญานแห่งยุคสมัย
    ภายหลังการสำรวจ ทางเครือข่ายบางนา FD โมเดล ได้หารือถึงแนวทางและข้อเสนอในการปรับปรุงพื้นที่ต้นแบบในเบื้องต้น ดังนี้
    1.ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนเจ้าของตึกอาคารในย่านดังกล่าว โดยเฉพาะศูนย์การค้าเซ็นทรัลบางนา ให้ช่วยทำทางลาด 2-3 จุด ที่ด้านหน้าอาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนที่ใช้รถเข็น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้พิการ อีกทั้งเพื่อเป็นการเชื่อมต่อจากป้ายรถเมล์ชานต่ำ และรองรับสถานีรถไฟฟ้าสายบางนา-สุวรรณภูมิในอนาคต ซึ่งถ้าทำเฟรนด์ลี่ดีไซน์เสร็จแล้ว คนที่ใช้รถเข็น หรือมนุษย์ล้อ ทั้งคนแก่ คนพิการ ครอบครัวที่มีเด็กเล็กใช้รถเข็น ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่มีกระเป๋าลาก จะได้สามารถเดินทางโดยสารรถเมล์หรือรถไฟฟ้า หรือจะมาแท็กซี่ ก็สามารถลงรถจากด้านหน้าอาคารเข้ามาห้างและตึกอาคารต่างๆที่มีทางลาดด้านหน้าได้เลย (ปัจจุบัน ทางลาดในตึกอาคารส่วนใหญ่ มักมีอยู่ด้านหลัง)
    2.ขอให้สำนักงานเขตบางนา ช่วยประสานและดำเนินการปรับปรุงฟุตบาททางเท้า รองรับการใช้งานของคนทุกวัย โดยเฉพาะคนที่ใช้รถเข็นจะได้สามารถใช้บริการได้สะดวก ปลอดภัย ด้วยการทำทางลาดมาตรฐาน คือ ไม่ชัน ไม่แคบ เชื่อมโยงทุกจุด ไปได้ทุกที่ และทำฝาปิดท่อระบายน้ำใหม่ ไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้ที่ใช้รถเข็น
    3.ขอความร่วมมือจากทุกตึกอาคาร และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันปรับปรุงและลงมือสร้างทำอารยสถาปัตย์ให้เชื่อมโยงถึงกัน สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นสากลโลก และให้ดูสะอาด สวยงาม
    โดย เฟส 1 คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน จากเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2560 ที่จะเริ่มพัฒนาให้มีเฟรนด์ลี่ดีไซน์ คือ มีการออกแบบ และปรับปรุงสร้างทำตึกอาคาร สถานที่ ทางเดินเท้า เพื่อให้คนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ สะดวก ทันสมัย ปลอดภัย เป็นมิตรกับคนทุกวัย และเพื่อคนทั้งมวล
    *** Friendly Design (เฟรนด์ลี่ ดีไซน์) หมายถึง หลักการออกแบบบ้านเมือง ตึกอาคาร สถานที่ ระบบขนส่งมวลชน ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ตลอดจนบริการสาธารณะต่างๆ ที่เป็นสากล ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นมิตรกับคนทั้งมวล ให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสุขภาพร่างกายใช้ประโยชน์ได้ เข้าถึงได้ สะดวก ปลอดภัย
    ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือมีแอพพลิเคชั่นรองรับการใช้งานของคนตาบอด หรือคนหูหนวก, ตึกอาคารมีทางลาดที่มาตรฐาน คือไม่ชัน ไม่แคบ ไม่ลื่น มีราวกันตก และทางลาดต้องมีเชื่อมโยงไปได้ทั่วทุกจุด
    ที่สำคัญคือ ตึกอาคาร สถานที่ต่างๆ ต้องมีทางลาดทั้งด้านหน้า และด้านหลัง หรือทุกจุดทางเข้าออก และมีห้องสุขาสำหรับคนที่ใช้รถเข็น มีประตูกว้าง 90-100 เซนติเมตร บานเลื่อน พื้นที่ภายในห้องน้ำกว้างพอที่จะให้รถเข็นหมุนตัวเองได้ มีราวจับกันล้ม เป็นต้น