บันเทิง

5 แพร่ง

5 แพร่ง

10 ก.ย. 2552

มีไม่กี่เหตุผลหรอกครับ ที่ทำให้ “4 แพร่ง” ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายเมื่อปีที่ผ่านมา แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังกวาดเงินไปร่วมๆ 80 ล้านบาท และมีชื่อเข้าชิงรางวัลจากหลายๆ สถาบัน นั่นก็คือความโดดเด่นของตัวหนังเอง

  แม้อาจมีเรื่องของการตลาดเข้ามาบ้าง แต่ดูเหมือนว่าพล็อตที่แข็งแรง บทที่รัดกุม ฝีมือของผู้กำกับแต่ละคนที่มากด้วยทักษะชั้นเชิงการเล่าเรื่องนั้น เหนือกว่าสรรพกำลังของการโหมประชาสัมพันธ์ และทำให้หนังพาตัวเองเข้าไปอยู่ในใจผู้ชม มากกว่าที่จะเกิดจากแรงผลักดันทางการตลาด ซึ่งนั่นหมายความว่า โปรเจกท์หนัง ‘4 แพร่ง’ ต้องผ่านการวางแผน ขัดเกลาบท และเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการถ่ายทำเป็นอย่างดี อาจรวมถึงมีเวลาในการทำ ‘Post’ (กระบวนการหลังการถ่ายทำ อาทิ ตัดต่อ มิกซ์เสียง เทคนิคพิเศษฯ แลบส์) เพื่อแก้ไข ปรับปรุงให้หนังออกมาอย่างที่ต้องการ และหากอนุมานเอาว่า การมาถึงของ “5 แพร่ง” ปัจจัยหลักมาจากความต้องการเดินตามรอยสิ่งที่ “4 แพร่ง” ได้รับ เราก็อาจพบว่า การถือกำเนิดขึ้นของหนังเรื่องนี้ เดินสวนทางกับภาคแรก นั่นคือใช้การตลาดนำหน้า มากกว่าจะใส่ใจกับเนื้อหาและงานสร้างอย่างที่ “4 แพร่ง” เคยทำเอาไว้ (ซึ่งค่อนข้างดีทีเดียว)

 อย่างน้อยเราพบว่า 2 ใน 3 ตอนของ “5 แพร่ง” เข้มข้นน้อยกว่า “4 แพร่ง” ทั้ง 4 ตอน (แม้หลายๆ คนค่อนขอดว่า ‘ยันต์สั่งตาย’ ด้อยกว่าทุกตอน...แต่จะเห็นว่าตัวหนังนั้นพยายามจะเล่นกับงานด้านภาพ และเทคนิคพิเศษ เพื่อจะสร้างความแตกต่างจากทั้งสามเรื่อง) ในขณะที่ตอน ‘Backpackers’ ของ “5 แพร่ง” คือการพยายามทดลองเล่นกับเนื้อหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีในหนังผีไทย (แต่เจออย่างดาษดื่นในหนังสยองขวัญฮอลีวู้ด) รวมถึงการได้รับอิทธิพล หรืออาจพยายามจำลองรูปแบบ/ลูกเล่นทางด้านภาพจากตะวันตกมาใช้ (โดยเฉพาะการถ่ายทำแบบใช้ชัตเตอร์สปีดสูงๆ เพื่อให้ผลพิเศษจาการเคลื่อนกล้องหรือสิ่งที่ปรากฏในเฟรม)

 หากตอน ‘เหงา’ และ ‘เที่ยวบิน 224’ คือการโชว์ทักษะความสามารถอันยอดเยี่ยมของผู้กำกับในการเล่นกับความอึดอัดของพื้นที่อับทึบ คับแคบ การลุ้นเอาใจช่วยตัวละครที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ดูเหมือนว่าในตอน ‘ห้องเตียงรวม’ และ ‘รถมือสอง’ ของ “5 แพร่ง” คือด้านตรงข้ามของทักษะงานกำกับที่ดูจะถดถอยลงจากภาคก่อน "หนุ่มขี้เล่น’ ขาเจ็บเดินเหินไปไหนไม่ได้ ดูจะได้รับการเอาใจช่วยจากคนดูน้อยกว่า ‘สาวขี้เหงา’ ที่ยังสามารถพยุงกายโดยใช้ไม้ค้ำยันได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ทางเดินแคบๆ และแถวเก้าอี้นับร้อยของห้องโดยสารบนเครื่องบิน ก็ดูจะอึดอัดน่ารำคาญน้อยกว่าทางเดินระหว่างแถวรถมือสองที่จอดเรียงรายในเต็นท์...และสุดท้ายผี ‘SMS’ ใน “แพร่งแรก” ของภาคก่อน ก็ออกมาหลอกหลอนได้อย่างเสียวสันหลังมากกว่า ชายชราอาการโคม่าที่นอนป่วยอยู่เตียงข้างๆ ใน “5 แพร่ง” หรือแม้แต่ ‘ผีเจ้าหญิง’ ในตอน ‘เที่ยงบิน 224’ ที่ถูกห่อศพอย่างมิดชิดนั้น กลับสร้างความพรั่นสะพรึงได้มากกว่า ‘ผีพันทาง’ ที่ออกมาเดินขายพวงมาลัยในตอน ‘รถมือสอง’ หลายเท่า 

 ที่เอ่ยมาทั้งหมดใช่ว่า “5 แพร่ง” จะด้อยกว่า “4 แพร่ง” ไปซะทุกเรื่องนะครับ เพราะสิ่งที่จะทำให้ ‘แพร่งสอง’ ก้าวตามความสำเร็จของ ‘แพร่งหนึ่ง’ ได้ไม่ยาก (เผลอๆ อาจมากกว่าด้วยซ้ำ) คือการจัดวางลำดับ ตำแหน่งของเรื่องผีๆ ทั้ง 5 (ซึ่งแน่นอนว่า เกิดจากการไตร่ตรองมาอย่างดี วางหมากอย่างรัดกุม อาจรวมไปถึงใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ในการเรียงร้อยเรื่องราวทั้งห้าอย่างได้จังหวะจะโคน พอเหมาะพอดี และลงตัวอย่างที่สุด) เพราะทั้งๆ ที่เห็นข้อด้อยของหนังถึงสามเรื่อง แต่การเปิดด้วยตอน ‘หลาวชะโอน’ ซึ่งน่าจะเป็นตอนที่ดีที่สุดใน “5 แพร่ง” นอกจากเป็นการอารัมภบทความสะเทือนขวัญสั่นประสาทได้มากกว่าทุกตอนแล้ว หนังยังเสริมอรรถรสจากอารมณ์เศร้าสะเทือนใจ มีแง่มุมของเรื่องกฎแห่งกรรมที่ถ่ายทอดกันตรงๆ ชัดๆ ผ่านหลักคำสอนทางศาสนา ที่กลมกลืนไปกับเนื้อหาเรื่องราว และการแสดงอันยอดเยี่ยมของตัวละครเกือบทุกคน (รวมทั้งเป็นการกลับมาแก้ตัวได้อย่างงดงามของผู้กำกับ ‘ยันต์สั่งตาย’)

 แต่ที่ดูเหมือนจะฉุดหนังทั้งเรื่อง จนสามารถพลิกสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะออกทะเลของสามตอนถัดมา ให้กลับมาสู่การเป็นหนังที่ลุ้นจนน่าสนุก ใช้อารมณ์ขันเข้ามาแทรกกับบรรยากาศหลอนๆ และหักมุมไปมาอย่างสนุกสนาน ก็คือตอนสุดท้ายที่มีชื่อว่า ‘คนกอง’ โดยล้อกับตอน ‘คนกลาง’ ในภาคที่แล้ว ซึ่งเล่นและอำกันอย่างเมามัน ทั้งนักแสดงและผู้กำกับ มีการหยิบเอาหนังเรื่อง ‘แฝด’ มาหยอกเอินได้อย่างน่าเอ็นดู สร้างคาแรกเตอร์ใหม่ๆ ให้กับ ‘มาช่า’ ที่เล่นได้ชนิดเข้าขาไปกับทีมนักแสดงชุดเดิมจาก ‘คนกลาง’ อย่างน่าทึ่ง...งานนี้ผู้กำกับล้อกระทั่งหนังตัวเอง และนักแสดงอย่าง ‘มาช่า’ ก็ล้อเลียน เหน็บแนม บทบาทการแสดงเว่อร์ๆ ของตัวเองได้อย่างหน้าตาเฉย (แน่นอนว่ามันเรียกเสียงหัวเราะได้ลั่นโรง) ‘คนกอง’ พาคนดู หลุดพ้นจากความอึดอัดของหนังทั้งสี่ตอน (ซึ่งบางตอนอึดอัดเพราะบทหนังเบาโหวงอย่างไม่น่าเชื่อ) มาพบกับความสนุกที่แทบจะเรียกได้ว่า ‘สุดขั้ว’ เพราะมีทั้งฮา เฮี้ยน และห่ามอย่างได้ใจ ปิดท้าย “5 แพร่ง” ได้อย่างสวยหรู ลงตัว

 ไม่น่าเชื่อนะครับว่าหนังที่เกือบจะออกทะเล กลับประคับประคองพาตัวเองมาได้ตลอดรอดฝั่งอย่างปลอดภัย และดูท่าจะไปได้สวยในอนาคตนั้น เกิดจากการจัดวางตำแหน่งแห่งหนของเรื่องสั้นทั้ง 5 ที่ต่างก็เด่นและด้อย อย่างได้น้ำหนัก พอเหมาะพอเจาะ ทั้งๆ ที่ในจำนวน 5 ตอน มีดีและโดดเด่นจริงๆเพียง 2 เรื่องเท่านั้น แต่เป็นสองเรื่องที่สามารถอุ้มหนังทั้งเรื่องเอาไว้ได้อยู่หมัด...และหากไม่มีอะไรผิดพลาด หลังจากนี้ไปไม่เกินสองสัปดาห์ น่าจะมีข่าวดีของ “5 แพร่ง” ออกมาให้ได้ยิน ถ้าไม่ฉลอง ‘ร้อยล้าน’ ก็น่าจะเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้สูงสุดของปี ณ ขณะนี้ 

ชื่อเรื่อง : ห้าแพร่ง / Phobia 2
ตอน ‘หลาวชะโอน’
ผู้กำกับ : ปวีณ ภูริจิตปัญญา
นักแสดง : จิรายุ ละอองมณี, เรย์ แมคโดนัลด์, ชุมพร เทพพิทักษ์, อาภาศิริ นิติพน
ตอน ‘ห้องเตียงรวม’
ผู้กำกับ : วิสูตร พูลวรลักษณ์
นักแสดง : วรเวช ดานุวงศ์, เกชา เปลี่ยนวิถี
ตอน ‘Backpackers’
ผู้กำกับ : ทรงยศ สุขมากอนันต์
นักแสดง : ชาลี ไตรรัตน์, สุธีรัชย์ ชาญนุกูล
ตอน ‘รถมือสอง’
ผู้กำกับ : ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ
นักแสดง : นิโคล เทริโอ
ตอน ‘คนกอง’
ผู้กำกับ : บรรจง ปิสัญธนะกูล
นักแสดง : มาช่า วัฒนพานิช, ณัฎฐพงศ์ ชาติพงษ์, วิวัฒน์ คงราศี, พงศธร จงวิลาส, กันตพัฒน์ เพิ่มพูนพัชรสุข

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"