บันเทิง

‘คำผุนร่วมมิตร’ หมอลำเก๋า

‘คำผุนร่วมมิตร’ หมอลำเก๋า

26 ก.ค. 2560

ขวัญใจวัยรุ่นสาย 'มักลำ’


    “คำผุนร่วมมิตร” สุดยอดลำเรื่องต่อกลอนต้นตำรับลำ อัญเชิญดวงวิญญาณเพื่อสืบทอดเจตนาในการปรับตัวสู่คอหมอลำยุคดิจิทัล
    วิฑูรย์ ผานคำ ทายาทของหมอลำคำผุน ผู้ก่อตั้งคณะหมอลำ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวบันเทิง “คม ชัด ลึก” ถึงการปรับตัวของวงหมอลำ “คำผุนร่วมมิตร” ว่า
    “คณะเราเริ่มต้นวงคำผุนร่วมมิตรตั้งแต่ผมยังไม่เกิด คุณพ่อคำผุน ผานคำ (ผู้ก่อตั้งวง) พ่อผม ท่านไปเรียนหมอลำกับทวดกองศิลป์ รักษาศิกย์ หมอลำสมัยเก่าตั้งแต่สมัยขี่ม้า ใช้เสียงสด เวลาแสดงมีตะเกียงเจ้าพายุโดยไม่มีเครื่องเสียง สมัยนั้นไปไหนมาไหนไม่มีรถต้องขี่ม้า หลังจากนั้นคุณทวดกองศิลป์ท่านอายุมากพ่อผมก็เลยมาเป็นรอยต่อ พ่ออายุ 20 กว่าๆ ก็เลยมาตั้งชื่อเป็น คำผุนร่วมมิตร ร่วมมิตรเป็นการรวมตัวกันของญาติๆ เพื่อนๆ ผมเป็นรุ่นที่ 3 ตอนแรกพ่อเป็นคนดูแลทั้งหมด พ่อเสียเมื่อตอนปี 2537 พอพ่อเสียก็เลยเคว้ง น้องชายดูแลวง ผมทำงานข้างนอก ทำยังเราจะรักษาคำว่า “คำผุนร่วมมิตร” ขนบธรรมเนียมของภาคอีสาน ตอนนี้ผมอายุ 50 ปี ผมเลยตัดสินใจลาออกจากพนักงานบริษัทมาทำหมอลำนี้ต่อและเล่นด้วย แต่ตอนนี้ผมมาดูแลวงให้เด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาสานต่อ"
    ผู้สื่อข่าวถามว่าวงหมอลำมีมากมาย “คำผุนร่วมมิตร” ต่างจากหมอลำคณะอื่นอย่างไร วิฑูรย์ บอกว่า
    “วงต่างจากคนอื่นตรงที่เน้นความสนุก โชว์บ้าง เอาใจคนดู เขาชอบสนุกชอบเสียงเพลง ทำยังไงจะให้คนดูมีส่วนร่วมตรงนี้มากที่สุด ถ้าเราโชว์มากหรือเน้นหมอลำมากเกินไปคนดูทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ถ้ารุ่นตายายเขานั่งฟังหมอลำ แต่ถ้าเป็นรุ่นปัจจุบัน 15-40 ปี เขาต้องการความสนุกสนาน ทำยังไงให้เขาสนุกสนาน หนึ่งคือเพลง ผมเป็นหมอลำวงแรกที่ซื้อลิขสิทธิ์ของแกรมมี่ ตอนนี้ผมมาอยู่กับท็อปไลน์รูปแบบการแสดงช่วงแรกคอนเสิร์ตเน้นเพลงโชว์ เต้น เริ่ม 3 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม ตรงนี้เป็นจุดขายผม บางวงเล่นถึงตี 1 แต่มาดูสภาพจริงคนดูจะเริ่มเบื่อ เราเลยเล่น 3-5 ทุ่ม คนยังไม่ง่วงนอนเราก็เล่นลำเรื่องต่อกลอนคนก็นั่งดูต่อ คนดูเปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยนตาม”
    เมื่อถามว่าความนิยมของหมอลำดูได้จากสิ่งใด ทายาทต้นตำรับลำอันเชิญดวงวิญญาณบอกว่า
    “ตลาดต้องการแบบไหน คือดูที่คิวงานว่าใครมาก ฤดูกาลหน้าของผมก็มี 130 คิวแล้ว รูปแบบลำเรื่องต่อกลอนผมยังคงไว้ สัดส่วนเมื่อก่อนจะลำอย่างเดียวไม่มีเพลง ทุกวันนี้ต้องมีเพลงดังๆ เข้าไปคั่น ตอนเปิดหัวด้วยเพลงหมอลำ ลูกทุ่ง เปิดตัวพระเอกนางเอก พ่อเมือง แม่เมือง ก็จะมีเพลง พอเพลงจบก็บอกกล่าวแนะนำตัว เราต้องแทรกเพลงเข้าไป คนจะอยู่กับเรายันสว่าง ทำยังไงดึงคนดูให้อยู่กับเราถึงสว่าง เครื่องเสียงต้องดี แสงสีต้องสวย เพลงไหนดังๆ เราซื้อลิขสิทธิ์มาแสดงเลย ตอนซื้อลิขสิทธิ์แรกๆ ถูกต่อต้านจากวงหมอลำด้วยกันมาก แต่ผมไม่ได้คิดเหมือนพวกเขา เขาคิดว่าจะไปเสียเงินให้ค่ายทำไม เรานำเสนอเพลงให้เขา เขาต้องมาจ่ายเงินให้เรา แต่ผมคิดว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน เราใช้ของเขามานานแล้ว ไปซื้อให้ถูกต้อง แสดงได้เต็มที่ไม่ต้องแอบซ่อน ขอความเห็นใจกัน ค่าชุดก็แพงเรายังทำได้ เพลงเราเล่น 18-20 เพลง เราก็ลดลงเพื่อที่จะเอาเงินมาซื้อลิขสิทธิ์เพลง สิ่งที่ได้คือคนดูได้ฟังเพลงดีๆ ดังๆ ก็มีกระแสว่า ทำไมวงอื่นเล่นเพลงนี้ไม่ได้ วงคำผุนเล่นได้ กระแสมาเลยเจ้าภาพก็จ้าง การทำวงแบบนี้ยังไปได้ หมอลำทุกวงมีงานเยอะขึ้น คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับคำว่า “หมอลำ” มากขึ้น กำลังซื้อเยอะขึ้น คนรุ่นเก่ากลัวตีกัน ผมก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ราคาของผมถ้าอยู่อีสาน 220,000-240,000 บาท ถ้ามากรุงเทพฯ เราตีเหมาเล่น 3-4 ที่ตอนนี้ฤดูกาลหนึ่งในกรุงเทพฯ มีประมาณ 20 คิว นอกนั้นอีสาน”