
กวนเพลงให้น้ำใส - เมลโลว์ โมทิฟ ดาวรุ่งใหม่ของแจ๊สไทย
ระยะนี้มีชื่อ เมลโลว์ ให้ได้ยินกันบ่อยครั้ง เริ่มจาก เมลโลว์ โทน ค่ายเพลงแนวสมูธแจ๊สที่นำโดย โก้ มิสเตอร์แซกแมน ภายใต้ชายคา อาร์เอส ซึ่งมีงานออกมา 2-3 ชุด จนถึงวงดนตรีล่าสุด เมลโลว์ โมทิฟ วงหน้าใหม่ในสไตล์แจ๊สที่สังกัด วอร์นเนอร์ นำเสนอออกมาสดๆ
แม้จะมีจุดเริ่มต้นที่พิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา รวมถึงการมีสมาชิกมือเปียโนเป็นชาวต่างชาติ แต่โดยภาพ เมลโลว์ โมทิฟ กำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในบ้านเรา ที่พอสะท้อนถึงความก้าวหน้าของวงการแจ๊สไทยได้ระดับหนึ่ง
เมลโลว์ โมทิฟ นำโดย โอ่ง ณัชชา ปัทมพงศ์ นักร้องนำ, ยูจีน อัง มือเปียโนชาวสิงคโปร์ ร่วมด้วย โอม มือเพอร์คัสชั่นแห่งวง เอ็กซอติค และ "เอ๊าะ" วรรณวุฒิ วรรณารุณ มือเบส แห่งวง สกาย คิก เรนเจอร์ พร้อมแขกรับเชิญเพิ่มเติมในบางเพลง
อัลบั้มแรกของ เมลโลว์ โมทิฟ เลือกเพลงในกลุ่ม แจ๊ส สแตนดาร์ด และ บอสซา โนวา รวมถึงเพลงร่วมสมัยอื่นๆ ที่หยิบมาเรียบเรียงใหม่ เช่น Lemon Tree ของ ฟุลส์ การ์เดน เป็นต้น
10 เพลงในอัลบั้มนี้ โดยภาพรวม จัดว่าฟังกันชิลๆ สบายๆ คุณภาพการบรรเลงดนตรีอยู่ในระดับมาตรฐาน เช่นเดียวกันกับคุณภาพเสียงชั้นดีจากฝีมือมาสเตอริงของ วู้ดดี พรพิทักษ์สุข แต่ที่สะดุดความรู้สึกไม่น้อย ไม่น่าหยิบมาใส่ในอัลบั้ม เพราะดูผิดที่ผิดทางไปหน่อย เห็นจะเป็น ซานตาคลอส อิส คัมมิง ทู ทาวน์ ทำเอาภาพรวมดีๆ ของอัลบั้มเซไปไม่น้อยทีเดียว
ลิตเติล แจ๊ส เบิร์ด เป็นเพลงจากปลายปากกาของ จอร์จ เกิร์ชวิน ที่ไม่ใคร่มีคนรู้จักมากนัก (เคยร้องโดย บลอสซัม เดียรี, มอรีน แมคโกเวิร์น) เป็นเพลงเปิดอัลบั้มที่เรียกความสนใจได้ในทันที ด้วยการประสมวงแบบทริโอ เปียโน-เบส-กลอง ร่วมด้วยเสียงร้อง จัดเป็นเพลงที่มีความลงตัวมากที่สุดในอัลบั้ม เช่นเดียวกันกับ ที ฟอร์ ทู (เพลงเก่าจากบรอดเวย์เรื่อง No,No Nanette เมื่อปี 1925) ที่ โอ่ง แสดงให้เห็นวิธีการเข้าถึงเพลงของเธอที่มีลักษณะเฉพาะตัวจนสัมผัสได้
เดย์ เซย์ อิทส สปริง โอ่ง ฝากไลน์การร้องในแบบ “สแกท” แบบพอหอมปากหอมคอ ก่อนจะได้ มินท์ ภาสกร สุขสันติภาพ นักแซกดาวรุ่งให้เสียงแซกที่นุ่มและเข้มในเวลาเดียวกัน เลมอน ทรี อาจจะเป็นเพลงที่สร้าง “จุดขาย” ให้อัลบั้ม ด้วยไอเดียที่น่าสนใจดี แต่ผมไม่ประทับใจในชั้นเชิงการบรรเลงนัก เช่นเดียวกันกับเพลงในชีพจรละติน, บอสซาโนวา หลายๆ เพลงในอัลบั้มนี้ ที่บางครั้งดู “รก” และขาดความพอดีไปหน่อย โดยเฉพาะทางเปียโน ที่บางครั้งอาจจะขาดความเข้าใจว่าลักษณะของ แอคคอมพานีอิสท์ ที่ดีเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี เสียงร้องของ โอ่ง มีเสน่ห์มากพอที่จะทำให้คนฟังมองข้ามรายละเอียดเหล่านี้ไปได้
ตัวอย่างเช่น ในเพลง เลดี อิส อะ แทรมพ์ มีการเพิ่มเติมมือเพอร์คัสชั่น และได้ "ซันนี่" ณัฐพล มานิการ มาเล่นเบสใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้เพลงขาดความเคลื่อนไหวอย่างลื่นไหล เพราะแก่นของเพลงยึดกุมโดยเปียโนที่มากพลังก็จริง แต่กลับไร้ซึ่งฟิลลิ่ง หรือการถ่ายทอดน้ำหนัก “หนัก-เบา” เท่าที่พึงจะเป็น ทำให้ฟังแล้วรู้สึกไม่ต่างจากหุ่นยนต์เล่นเปียโนเท่าใดนัก
อัลบั้มแรกของ เมลโลว์ โมทิฟ แสดงให้เห็นชั้นเชิงทางดนตรีของคนรุ่นใหม่ที่น่าชื่นชม การหยิบเพลงอมตะหรือเพลงชั้นดีมานำเสนอ เผยให้เห็นไอเดียอันสดใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันสิ่งที่สำคัญไม่น้อยอยู่ตรงที่ ผู้ฟังสามารถเปรียบเทียบกับเวอร์ชั่นที่มีอยู่อย่างหลากหลายได้ จึงเป็นโจทย์ที่น่าคิดต่อไปว่า ทำอย่างไรพวกเขาและเธอจะตีความเพลงเหล่านี้ให้แตกต่าง หรือมีความลงตัวในแบบฉบับที่พึงเป็น
"อนันต์ ลือประดิษฐ์"
ชื่อศิลปิน : เมลโลว์ โมทิฟ ผลงาน : เมลโลว์ โมทิฟ
สังกัด/จัดจำหน่าย : วอร์นเนอร์
ความยาว : 10 แทร็ก นาที
ภาพรวม : อัลบั้มเพลงร้องแจ๊ส โดยศิลปินไทยที่มากความสามารถ และน่าจะเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองในวันนี้
เสียงร้อง : 8.5
ดนตรี : 7
การเรียบเรียงดนตรี : 7
ความเห็นสุดท้าย : อุดหนุนได้