บันเทิง

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี 

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี 

24 ต.ค. 2560

ดุริยางค์สากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” บรรเลงและขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

        การแสดงมหรสพสมโภชถือเป็นสัญลักษณ์ของงานออกทุกข์ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มี 3 เวที ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของสนามหลวง เวทีที่ 1 เป็นการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ การแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ และโขนรามเกียรติ์ เวทีที่ 2 เป็นการแสดงละคร เรื่องพระมหาชนก อิเหนา และ มโนราห์ ตามด้วยหุ่นหลวงและหุ่นกระบอก ส่วนเวทีที่ 3 เป็นการบรรเลงดนตรีสากล 
        โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้จัดการแสดงบรรเลงดุริยางค์สากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ประกอบด้วยการบรรเลงและขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อน้อมอาลัย และบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ ซึ่งมีทั้งหมด 7 องก์ ซึ่งใช้ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดง 753 คน ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 351 คน รวมทั้งสิ้น 1,104 คน เริ่มการแสดงวงแรกตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม ต่อเนื่องถึงเวลา 06.00 น.วันรุ่งขึ้น

 

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี 

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี 


        การแสดงจะมีด้วยกัน 7 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 “ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า” บรรเลงโดยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร, องก์ที่ 2 "ใต้ร่มเย็นเพราะพระบารมี" บรรเลงโดยกรมดุริยางค์ทหารบก, องก์ที่ 3 “ทวยราษฎร์น้อมสดุดี” บรรเลงโดยกองดุริยางค์ทหารเรือ, องก์ที่ 4 “ถวายภักดีองค์ราชัน” บรรเลงโดยกองดุริยางค์ทหารอากาศ, องก์ที่ 5 “สถิตนิรันดร์ในใจราษฎร์” บรรเลงโดยฝ่ายดนตรี กองสวัสดิการ ดุริยางค์ตำรวจ, องก์ที่ 6 “ปวงข้าบาทบังคมถวาย” บรรเลงโดยวงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และองก์ที่ 7 “ธ สู่สวรรคาลัย ในทิพย์วิมาน” บรรเลงโดยวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในองก์ที่ 3 “ทวยราษฎร์น้อมสดุดี” ที่บรรเลงโดยกองดุริยางค์ทหารเรือ ได้ 2 ศิลปินชื่อดังอย่าง “บี้” สุกฤษฏิ์ วิเศษแก้ว และ “แก้ม” วิชญาณี เปียกลิ่น ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงครั้งนี้ด้วย

 

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี 

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี 


        โดยมีกรมศิลปากรควบคุมตลอดการแสดง มีการขับร้องและบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์รวมทั้งสิ้น 80 เพลง ในทุกเพลงที่พระราชทานชื่อไว้ อาจจะเป็นทำนองเดียวกัน แต่มีเนื้อร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อาทิ “เพลงมาร์ชราชวัลลภ, เราสู้, มาร์ชราชนาวิกโยธิน, ค่ำแล้ว, อาทิตย์อับแสง, Sweet Words King of King, แสงเทียน, ชะตาชีวิต, มหาจุฬาลงกรณ์, เมนูไข่, พรปีใหม่, ฝัน,แผ่นดินของเรา, Alexandra, ไร้จันทร์, ไร้เดือน” ฯลฯ
         ด้าน ชนินทร์วดี ชมภูทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต ผู้ควบคุมเวทีที่ 3 ได้กล่าวถึงการแสดงครั้งนี้ว่า “งานครั้งนี้ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก ในส่วนของเวทีที่ 3 จะเป็นการแสงดนตรีสากลที่มีออร์เคสตรา วงบิ๊กแบนด์ โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบ การแสดงดนตรีแบ่งเป็น 7 องก์ที่มีชื่อ มีพระราชดำรัสที่เราน้อมนำมาเป็นธีมของวง แต่ละวงจะถูกจำกัดเวลาโดยมีเวลาในการบรรเลงเพลง 1 ชั่วโมง ในส่วนของวงดุริยางค์สากลกรมศิลปากรนั้น จะอยู่ในส่วนขององก์ที่ 1 เรามีสมาชิกที่มาอยู่ร่วมกันหลายหน่วยงาน มีทั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) ที่ส่งสมาชิกเข้ามาร่วมบรรเลงกับเรา นอกจากนี้ยังมีศิลปินอาวุโสวง อ.ส.วันศุกร์ หรืออัมพรสถานวันศุกร์ เป็นวงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ชื่อนี้มาจากการที่เล่นออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส.อัมพรสถาน ในทุกเย็นวันศุกร์ ร่วมอยู่ในวงนี้ด้วย ซึ่งจะบรรเลงเพลงในเพลงแรก ส่วนการคัดเลือกเพลงที่ใช้ในการบรรเลงนั้นจะเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมด รวมถึงเพลงเทิดพระเกียรติ และเพลงที่แต่ละหน่วยแต่งขึ้นเพื่อถวายพระองค์ท่าน” ชนินทร์วดี กล่าว

 

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี 

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี 

‘ดนตรีสากล’ รวมพลดุริยางค์ 4 เหล่าทัพแสดงพลังความภักดี