ศิลปินไม่ใช่เทวดาบทเรียนกรณี "ชลธี"
คอลัมน์... คมเคียวคมปากกา โดย... บรรณวัชร
“ชลธี ธารทอง ทนไม่ไหว ฟ้องหย่าเมีย มั่นใจไม่กระทบภาพลักษณ์ศิลปินแห่งชาติ”
“เมีย ‘ชลธี ธารทอง’ เปิดใจทั้งน้ำตา ปมถูกศิลปินแห่งชาติฟ้องหย่า”
กรณีข่าวเหตุขัดแย้งภายในครอบครัว หากเป็นตาสีตาสา ยายมียายมา ก็คงไม่มีบรรณาธิการข่าวสำนักไหนเลือกมาเป็นข่าวพาดหัวตัวไม้
บังเอิญว่า สมนึก ทองมา วัย 81 ปี คือ “ชลธี ธารทอง” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ปี 2542 และศศิวิมล ทองมา หรือครูปุ้ม ภรรยา วัย 51 ปี จดทะเบียนสมรสกันมาตั้งแต่ปี 2538 ชาวบ้านชาวเมืองต่างรู้จัก เพราะทั้งคู่เคยไปออกรายการโชว์วาไรตี้ทางทีวีหลายช่อง
ที่สำคัญลูกศิษย์ลูกหา “เทวดาเพลง” ชลธี ธารทอง ก็มีเต็มแผ่นดินลูกทุ่ง ไปไหนมาไหนพูดกันแต่เรื่องครูชลธีฟ้องหย่าเมีย
เหตุผลในการขอหย่าภรรยา ชลลีอ้างถึงความเป็น “ศิลปิน” ขอมีชีวิตอิสระ
"ครูปุ้ม" ศศิวิมล
“อยากมีความสงบเพื่อที่จะสามารถทำงานเพลง อยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่สร้างสรรค์ผลงานออกมาสู่โลก ผมทำงานศิลปะ อารมณ์ของผมต้องมีความสุนทรีย์ ผมตั้งใจว่าจะตายคาปากกา เพราะชอบแต่งเพลง”
จริงๆ แล้ว บรรดาลูกศิษย์เทวดาเพลง ก็เห็นครูชลธีไปไหนมาไหนกับ “น้องเกด” อยู่เป็นประจำ ถึงขั้นโพสต์ภาพลงเฟซบุ๊กอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องปิดลับอะไร
“เกดคือเด็กที่ชอบประกวดร้องเพลง ผมเป็นอาจารย์ที่เกดนับถือ เกดเป็นคนซื่อ คุยสนุก ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม สิ่งที่สังคมมองผมไม่ดีว่าเป็นเฒ่าหัวงู เมื่อสนิทกับเกด ผมคิดไว้แล้วว่าสังคมจะมองในแง่ที่ไม่ดี แต่ผมไม่สนใจ อยากจะบอกว่าทุกคนเข้าใจผิด คนเราไม่ได้คิดถึงเรื่องแบบนั้นไปทั้งหมด”
ฟังคำอธิบายของครูชลธี เลยนึกถึงนักเขียนชื่อดังคนหนึ่งที่เขียนเรื่องสั้นชื่อ “คนไม่ใช่หิน” ไว้เมื่อ 30 ปีก่อน ชอบตรงประโยคนี้ของเขา "คนเป็นวัตถุที่มีจิตใจ ไม่ใช่หินที่ไร้วิญญาณ ธรรมชาติสร้างคนให้มีอารมณ์รัก โกรธ เกลียด ชัง มีความอดกลั้น และมีที่สุดของความอดกลั้น”
หากเรามองชลธี ธารทอง ในฐานะเป็นคนเดินดิน ก็เหมือนการอ่านเรื่องกฎแห่งกรรมที่ว่า “มนุษย์นั้น มีความรัก โลภ โกรธ หลง ปะปนกันไป ถึงแม้เรื่องราวจะดีจะร้ายแค่ไหน เราเพียงปล่อยมันไป ให้อยู่กับในอดีต แล้วเริ่มต้นใหม่ ทำในสิ่งที่คิดว่าดี เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็เอาอะไรไปไม่ได้อยู่ดี เหลือเพียงแต่ความทรงจำ ชื่อเสียง และสิ่งที่เราทำไว้”
"น้องเกด" สกุลนัฐธิดา
อย่างว่าแหละ ถ้าเป็นแค่ “นายสมนึก ทองมา” ผู้คนคงไม่วิพากษ์วิจารณ์กันอึงมี่ แต่ครูชลธี แบกหัวโขน “ศิลปินแห่งชาติ” อยู่ ข้อนี้ปฏิเสธไม่ได้
เกียรติยศชื่อเสียงที่มาพร้อมกับหัวโขน การปกป้องรักษาเกียรติยศที่แสวงหามาได้ก็มีความจำเป็นที่ต้องพึ่งกระทำ แต่ในวันนี้ ครูชลธีกำลังเผชิญหน้ากับเสียงเรียกร้องจากสังคมรอบข้าง
ขอฝากแง่คิดทางธรรมให้ครูชลธีได้คิด “ตำแหน่งหน้าที่หรือยศถาบรรดาศักดิ์อันสูงส่ง ให้ความสุขแก่เราก็จริง แต่มันก็สามารถสร้างความทุกข์ให้แก่เราได้ไม่น้อย”
อันที่จริงครูชลธีก็ออกตัวมาแล้วว่า เมื่อตัดสินใจฟ้องหย่าเมีย ย่อมถูกสังคมพิพากษาต่างๆ นานา แสดงว่าครูชลธียังแคร์หัวโขนอยู่
อย่างไรก็ตามนักแต่งเพลงปากกาทองเลือกแล้ว คือเลือกที่จะให้ลูกศิษย์สาววัย 29 ดูแลในช่วงบั้นปลายชีวิต
สาวเกดบอกว่า รู้อยู่แก่ใจว่าทำอะไร ตนรักเคารพครูชลธีแบบพ่อ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ในบางครั้งที่ครูชลธีป่วยก็มีโอกาสได้ดูแล ขับรถไปรับไปส่ง
วันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ชลธี ธารทอง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่งข่าวถึงแฟนเพลงว่า “สวัสดี ถามกันมามาก ผมหายไปเลย ผมยังมีชีวิตอยู่ กินอิ่มนอนหลับสบายดีนะทุกคน”
นับจากนี้ไปก็ต้องรอกระบวนการยุติธรรมตัดสินคดีฟ้องหย่า แต่ถ้าเป็นไปได้ก็คงไม่อยากให้มีใครต้องเจ็บปวดจากสงครามหัวใจครั้งนี้