บันเทิง

ก่อนเขี้ยวคม New Moon
ยังมีแวมไพร์เกาหลีแบบ Thirst

ก่อนเขี้ยวคม New Moon ยังมีแวมไพร์เกาหลีแบบ Thirst

27 พ.ย. 2552

รายได้อย่างต่ำ 50 ล้านบาทใน 5 วันแรกของ Twilight อย่าง New Moon นั้น ไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจเมื่อย้อนกลับไปดูว่า “วันแรก-รอบแรก” ที่พารากอนเมื่อ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น

  ภาพที่ผมเห็นคือเด็กนักเรียนสาวโดดเรียนในชุดเรียนตั้งแต่ 10.30 น. หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยยกโขยงกันไปดูหนังโรมานซ์ประจำปีของพวกเขา

 มันคือภาพซ้ำของปรากฏการณ์ภาพยนตร์ที่มีวาระต่างๆ มารองรับ เหมือนที่ครั้งหนึ่งในปี 1996 ผู้คนแห่กันออกไปดู The Lost World หรือถัดจากนั้นอีกหนึ่งปี เกิดซ้ำอีกครั้งกับ Titanic

 พ้นจากนั้นไป ก็ยังมี Harry Potter ที่สามารถทำให้คนดูออกมารอเสียเงินกันทั้งโลก หรือยุคก่อนๆ หนังอย่าง Star Wars ก็คงเคยทำกับคนดูยุค 70’s คล้ายๆ กัน (แต่เมื่อเทียบกับงานคลาสสิก โรมานซ์ อย่าง Gone With The Wind ในปี 1939 แล้ว ทุกเรื่องแพ้ปรากฏการณ์หนังเมื่อ 70 ปีที่แล้วแบบ “ขาดลอย”)

 เขียนให้นึกถึง ให้เห็นภาพน่ะครับ ไม่ใช่แอนตี้ เพราะว่าผมแฮปปี้อยู่แล้วเมื่อมีหนังปรากฏการณ์ทำเงิน เพราะมันเป็นสีสันและสะท้อนแก่นของสังคมยุคนั้นๆ เนื่องเพราะหนังเรื่องหนึ่ง หากจะเอามาเขียนถึง มันมีหลากหลายแง่มุมให้มองเข้าไปมากมาย

 แม้ผมจะรู้สึกว่า New Moon ไม่ค่อยสนุก หรือสาวก Twilight บ่นว่าไม่ enjoy เหมือนภาคแรก แต่เอาเถอะ พวกเธอก็ยังไปดูซ้ำ (ฮา)

 ก่อนที่แวมไพร์ของฮอลลีวู้ดจะฉายในบ้านเราเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ใน 10 วันก่อนหน้านั้น dvd แผ่นหนึ่งที่นักวิจารณ์หรือคอหนังรอคอยก็มาถึง

 มันคือ Thirst จากเกาหลี เป็นแวมไพร์จากกิมจิ ที่คงไม่ใช่แค่เรื่องของคนธรรมดาอยู่ร่วมกับมนุษย์หมาป่าไม่ได้ (จะไปนับประสาอะไรล่ะ แหม คุณเนวิน ยังอยู่ร่วมกับคุณอภิสิทธิ์ลำบากอยู่บ่อยๆ ขนาดเป็นมนุษย์เหมือนกัน)

 ที่บอกว่านักวิจารณ์เอง ก็รอคอยแวมไพร์จากเกาหลี ไม่น้อยกว่าที่สาวน้อยสาวใหญ่รอคอย “แวมไพร์ส่งออก” จากท่าเรืออเมริกัน ก็เพราะว่าหนังเรื่องนี้ ดันไปได้รางวัล จูลี่ ไพรซ์ ที่เมืองคานส์ ฝรั่งเศสปีนี้ (เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา) เล่นเอาวงการหนังเกาหลีอื้ออึง ปลาบปลื้มกันทั่วหน้า

 ความสำเร็จของบรรดาแวมไพร์หรือมนุษย์หมาป่านั้น เผลอๆ อาจจะทำให้ “พวกเขา” นัดประชุม meeting กัน หารือเกี่ยวกับการจะจัดเทศกาลหนังของบรรดาแวมไพร์ โดยเทศกาลอาจจะเชิญ “แดร็กคิวล่า” มาเป็นประธานเปิดงาน หรือตัดสินอะไรกันไปโน่นเลย

 เพราะจากแวมไพร์สองเรื่องนี้ มีข่าวว่าการตลาดของสตูดิโอหนังมากกว่า 4 แห่ง เสนอโปรเจกท์ทำหนังแวมไพร์ในปีหน้า 2010 (ส่วนหนังห่วยๆ อย่าง 2010 นั้น อย่าเพิ่งไปวิตกจริต ด้วยการเตรียมย้ายบ้านไปอยู่ในอวกาศแบบดาราบางคนที่ออกมาให้ข่าวอย่างจริงจังซีเรียส-บ้าไปแล้ว)

 Thirts ได้รับการจับตาเพราะว่ามันเป็นหนังของสุดยอดผู้กำกับเกาหลีอย่าง ปาร์ค ซัน วูด ซึ่งผมมองว่า ถัดจาก อิม กวอน เต็ก ที่ทำ “ชุนฮหยาง” แล้ว น่าจะเป็นปาร์คนี่แหละที่ขึ้นมาเป็นตำนานแบบยาวๆ

 ตัวละครใน Thirst ไม่ว่าจะเป็นใคร มันก็ออกมาแบบโมเดลเดียวกับหนังอย่าง Old Boy ที่สร้างชื่อให้เขา คือมีอาการเพี้ยนไม่คาแรกเตอร์ของ ปีเตอร์ กรีนอะเวย์ หรือพูดอีกทาง กรีนอะเวย์ว่าเพี้ยนแล้ว เฮียปาร์คแกบ้ากว่า

 เอาไว้จะมาเขียนถึง Thirst อีกครั้ง เพราะสิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตมากกว่าก็คือ จู่ๆ ทำไมวัฒนธรรมแวมไพร์ถึงกลับมา? (หรือถ้าใจร้อน หาอ่านได้ในนิตยสาร sight & sound เล่มใหม่ที่เพิ่งมา)

 เอากันตั้งแต่เบสิกๆ คือ มันพาฝันในยุคที่สังคมเสื่อมทราม เคร่งเครียดกับปัญหารอบตัว คนเลยอยากหลบหนี (escape) ความเป็นจริง?

 ประการต่อมา ผมว่ามันนานมาแล้ว ที่พ้นจากคาแรกเตอร์ของไดโนเสาร์กับพ่อมดแฮร์รี่ ก็ไม่มีตัวละครมาขายคนดูแบบสนุกๆ อีก การกลับมาของ Star Wars ถือว่าล้มเหลว ขณะที่แบทแมนมันคือ แบรนด์ ซึ่งคนดูไม่ได้ตื่นเต้นในเชิง “ของใหม่”

 แวมไพร์แม้เป็น “ของเก่า” แต่เก่าคลาสสิdและนำมาตีความใหม่ ไม่ใช่กินเลือดคนหรือเลือดสาว แต่มาแต่งงานกับมนุษย์และยังหล่อ (อันหลังนี่ สาวๆ บอกว่าสำคัญ) แต่ที่ผมสนใจและคิดถึงมากกว่าก็คือ นี่คือวัฒนธรรม “ซอมบี้” ที่สวิงกลับมาในภาคของ “แวมไพร์”

 ไม่ซอมซ่อ แต่หล่อ และไม่น่าสยดสยอง แต่น่าให้กอด
 แวมไพร์กำลังเดินซ้ำใน “รอยเท้าเดียวกัน” กับพ่อมด Harry Potter
 ส่วนที่เหล่าสาวกบางกลุ่มกำลัง “ทับถมอีกฝ่าย” ว่าสาวเจ.เค. กับสาวไมเยอร์นั้น ใครเก่งกว่า ยังไม่ถกเถียงด่าทอกันเลยครับ

 เอาเสียงนั้นๆ มาเทิดทูนชื่นชมผู้หญิงสองคน ที่สร้างปรากฏการณ์แบบนี้ดีกว่า
 โธ่คุณ - ผู้หญิงที่ทำให้คนค่อนโลกหันมาอ่านหนังสือดีๆ และดูหนังร่วมกันนั้น
 มีเหตุผลอะไร ที่เราๆ ท่านๆ จะไม่ชื่นชมอีก

 เออ - ถ้าเป็นพวกอดีตนายกฯ ไปหาจ๊อบเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้หอกข้างแคร่ เอ๊ยเพื่อนบ้านนั่นสิ อันนั้นว่าไปอย่าง
 สวัสดี.

"นันทขว้าง สิรสุนทร"