บันเทิง

มองผ่านเลนส์คม - ภาษาลาววันละคำ

30 พ.ย. 2552

ทีวีของลาว ไม่ว่าจะเป็น "สถานีโทละพาบแห่งซาด" และช่อง "ลาวสตาร์" เริ่มนับถอยหลัง "เวียงจันทน์เกมส์" ด้วยรายการพิเศษในทุกแง่มุม เพื่อแสดงความพร้อมของเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 25

 ด้านทีวีไทยก็มีพื้นที่ "ข่าวซีเกมส์ลาว" มากขึ้น และบางช่องได้ส่งทีมงานเข้าไปเก็บภาพและบรรยากาศในนครหลวงเวียงจันทน์มานำเสนอกันบ้างแล้ว

 ซีเกมส์หนนี้ เป็นการแข่งขันกีฬาในต่างประเทศครั้งแรกของทัพนักกีฬา สื่อมวลชน และผู้ชมชาวไทย ที่จะไม่มีพรมแดนเรื่อง "ภาษา"

 ภาษาลาวกับภาษาไทยนั้น มาจากรากฐานเดียวกัน แต่ก็มี "ความต่าง" ซ่อนอยู่ อย่างคำที่พ้องรูปและพ้องเสียง ก็ใช่จะมีความหมายเดียวกันไม่?

 ยกตัวอย่าง นักข่าวไทยไปเดินเล่นในตลาดเช้า อาจแว่วยินเสียงลอยมากับสายลมว่า "อ้ายผู้นี้เจ้าซู้เนาะ" อย่านึกโกรธคนพูดนะครับ

 เพราะคำว่า "เจ้าซู้" ในภาษาลาว หมายถึงบุคคลที่มีความน่ารัก พูดจาไพเราะ และมีเสน่ห์มัดใจเพศตรงข้าม

 ส่วนคำว่า "ซู้" หมายถึงคู่รัก ในคำร้องเพลงรักของลาว จะใช้คำนี้บ่อยมาก แต่ "ซู้สาว" นั่นตรงกับคำไทยที่ว่า "ชู้" อันเป็นความหมายเชิงลบ

 ฉะนั้น หากมีคนลาวทักทายเราว่าเป็น "คนเจ้าซู้" ก็จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นหนุ่มไทยหรือสาวไทย ผู้ทรงเสน่ห์ที่สุดในโลก (ฮา)

 อีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากไว้ ถ้าสั่งเหล้าหรือเบียร์ ควรเข้าใจว่า "แก้ว" หมายถึงขวด และ "จอก" หมายถึงแก้ว

 อ้อ, แถมหน่อย เบียร์ดีคือ "เบยลาว" ตราหัวเสือ และสุดยอดเหล้า ก็คือ "เหล้าขาวคงเซโดน" !

 ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ หนุ่มสาวชาวลาวได้รับอิทธิพล "ภาษาไทย" ผ่าน "วัฒนธรรมบันเทิง" บ้านเรา จนเกิดการพูดเลียนแบบดารานักร้องไทย ร้อนถึงกระทรวงวัฒนธรรม ต้องออกคำสั่งให้สถาบันการศึกษาต่างๆ เข้มงวดกวดขันเรื่องการพูดภาษาลาว

 แม้แต่พิธีกรรุ่นใหม่ในช่อง "ลาวสตาร์" ยังพูดผิดอยู่บ่อยๆ และเกิดกระแสค่านิยม "พูดไทยแล้วเท่" ในแวดวงวัยรุ่นลาวบางกลุ่ม ซึ่งมีการท้วงติงผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ลาวมาแล้ว

 เช่นคำที่พิธีกรลาวใช้ผิดบ่อยๆ คือ "ปี้" (บัตรหรือตั๋ว) เข้าชมการแข่งขันซีเกมส์ ที่มักจะพูดคำว่า "บัตร" ตามคำภาษาไทย

 สำหรับศัพท์ภาษาที่เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ขอแนะนำสั้นๆ พอเป็นที่เข้าใจกัน
 อย่างเช่นเหรียญรางวัล เรียกว่า "เหลียนคำ" (เหรียญทอง), "เหลียนเงิน" (เหรียญเงิน) และ "เหลียนทอง" (เหรียญทองแดง)

 ชนิดกีฬาส่วนใหญ่จะทับศัพท์ภาษาอังกฤษ แต่มีบางชนิดที่เรียกตามรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส เช่น "บานเตะ" หรือ "เตะบาน" (ฟุตบอล), "บานส่ง" หรือ "ตีบาน" (วอลเลย์บอล), "เปตัง" (เปตอง) และลูกเหล็กที่ใช้โยนเรียกว่า "หมากบุ้ม"

 มีหลายชนิดที่เป็นภาษาถิ่นเช่น "ลอยน้ำ" (ว่ายน้ำ), "แล่น-ลาน" (กรีฑา), "กะต้อ" (ตะกร้อ), "ตีดอกปีกไก่" (แบดมินตัน), "เตะดอกขนไก่" (ชัตเติลคอก), "แข่งลดถีบ" (จักรยาน) และ "มวยลาว" (มวยไทยสมัครเล่น) 

 แน่นอน กีฬายอดฮิตของชาวลาวคือ "บานเตะ" ซึ่งทีมเตะบานชาย ก็หวังเข้ารอบรองชนะเลิศ แต่ทีมบานเตะหญิงนั้น เจ้าภาพแอบฝันถึงเหรียญทองแดง ส่วนกีฬาที่หวังคว้าเหรียญทอง ก็หนีไม่พ้น "เปตัง"

 คาดว่า 2 ธันวา...การเฉลิมฉลองวันชาติครบรอบ 34 ปี จะเป็นปีที่ชาวลาวเบิกบานม่วนซื่นที่สุด!

"แคน สาริกา"