ครั้งหนึ่งในชีวิต ทำจิตบริสุทธิ์ ร่วมสาธยายพระไตรปิฎก เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
ระหว่างวันที่ 7-13 ธันวาคม นี้...ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เดินทางไปเข้าเฝ้าองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
การเข้าเฝ้าในครั้งนี้ ข้าพเข้ามิได้เดินทางไปเพียงคนเดียว ทว่าไปร่วมกับชาวพุทธอีกเรือนแสน ทั้งภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี และฆราวาสชาวพุทธจากทั่วโลก
หลายคนคงสงสัย...เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทำได้หรือ และทำได้อย่างไร
คำตอบคือ ทำได้ ผ่าน การสาธยายพระไตรปิฎก
ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า
“ธรรมและวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ดีแล้ว ธรรมเหล่านั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ”
การสาธยายพระไตรปิฎกจึงเสมือนการได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การเดินทางในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ข้าพเจ้าได้ตอบรับคำเชิญของ คุณ วังโม ดิกซีย์ ประธานมูลนิธิประทีปพุทธธรรมนานาชาติอินเดีย ผู้จัดงานและสนับสนุนงานการสาธยายพระไตรปิฎกนานาชาติ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย
คุณวังโม ดิกซีย์ เคยเชิญข้าพเจ้าให้ไปร่วมในงานนี้แล้วหนึ่งครั้งเมื่อปี 2551 ทว่าในครั้งนั้นข้าพเจ้าติดภารกิจ จึงไม่สามารถไปร่วมงานได้ แต่เมื่อได้พบกันในงานการประชุมสัมมนาพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศ และงานทำบุญอายุวัฒนมงคลครบ 7 รอบ พระวิเทศธรรมรังษี (สุรศักดิ์ ชีวานนฺโท) ‘ธรรมสมโภช 84 ปีชีวานันทะ’ ณ วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และอีกครั้งต่อมาที่เธอได้มาเยี่ยมเยือนเสถียรธรรมสถาน และเยี่ยมชมการทำงานของสาวิกาสิกขาลัย ข้าพเจ้าก็ได้ตอบตกลงรับคำเชิญ หลังจากที่เธอกล่าวย้ำขอให้ข้าพเจ้าไปให้ได้ เนื่องจากเธอต้องการให้ข้าพเจ้าเป็นตัวแทนนักบวชหญิงชาวพุทธที่ได้บรรยายธรรมในงานสาธยายพระไตรปิฎกพระใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
การสาธยายพระไตรปิฎกนานาชาติเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้วใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ด้วยการริเริ่มของท่าน ตาลถัง ตุลกู และในปีถัดๆ มาลูกสาว คือคุณวังโม ได้สานต่อภารกิจนี้ ด้วยความปรารถนาที่จะฟื้นฟูและนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมายังดินแดนมาตุภูมิ แดนเกิดแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระเถระและชาวพุทธจากหลากหลายนิกายได้ทำความรู้จักและสืบต่อพระพุทธศาสนาร่วมกันด้วยการสาธายายพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี เพื่อให้พระธรรมเป็นเครื่องร้อยหัวใจและสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวพุทธ
นอกจากการไปร่วมสาธยายพระไตรปิฎกใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้ว ในวันที่ 8 ธันวาคม ข้าพเจ้ายังมีโอกาสได้ไปเป็นองค์ปาฐกในการปาฐกถาธรรมพิเศษ หัวข้อ ‘ผู้หญิงกับหนทางสู่ความเป็นพุทธสาวิกา’ ณ บริเวณมณฑลเจดีย์พุทธคยาอีกด้วย ซึ่งครั้งนี้ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะบรรยายเกี่ยวกับการศึกษาชีวิตของพุทธสาวิกาครั้งพุทธกาล ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของสตรีในการเรียนรู้ชีวิตและนำบทเรียนต่างๆ มาพัฒนาคน รวมถึงการเน้นย้ำถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเกี่ยวกับการรู้เห็นธรรมในพระพุทธศาสนาว่า ไม่จำกัดเพศทั้งบุรุษและสตรี และเมื่อปฏิบัติย่อมได้รับผลการปฏิบัติเหมือนกัน ดังพระพุทธดำรัสว่า
“ทางนั้นเป็นทางสายตรง ทิศนั้นไม่มีภัย รถที่ไร้เสียงประกอบด้วยล้อคือธรรม ความละอาย (หิริ) เป็นฝาประทุน ความรู้สึกตัว(สติ) เป็นเกราะของรถ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำดังสารถี ยานนี้มีแก่ใคร ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายเขาย่อมถึงนิพพานได้ด้วยยานนี้”
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาทางมูลนิธิประทีปพุทธธรรมนานาชาติอินเดียได้เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดในงานการสาธยายพระไตรปิฎกนานาชาติ แต่ในปีนี้ ทางมูลนิธิได้เปิดโอกาสให้ชาวพุทธได้ร่วมบุญในการทำทานครั้งใหญ่ร่วมกัน เสถียรธรรมสถานจึงได้ร่วมเป็นเจ้าภาพอาหารพระและฆราวาสกว่า 2,000 รูป/คน ที่เข้าร่วมงานสาธยายพระไตรปิฎกในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ด้วย
บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่อันพึงจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ขอน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
"ธรรมสวัสดี"