บันเทิง

แหยม ยโสธร 2

แหยม ยโสธร 2

10 ธ.ค. 2552

ได้ยินเสียงหลายคนบ่นกันขรมนะครับว่า ‘แหยม’ ภาคนี้ ‘ตลก’ สู้ภาคก่อนไม่ได้...ย้ำนะครับว่า! ‘ตลก’ เป็นคนละความหมายกับคำว่า ‘สนุก’ และก็ไม่ได้หมายความถึงหนังที่ดูแล้ว ‘ไม่ตลก’ เป็นหนังที่ดูแล้ว ‘ไม่สนุก’ แต่อย่างใด ในทางกลับกันครับ หนังที่ ‘สนุก’ อาจให้อะไรเร

  หลายคนอาจจะคาดหวังถึงเสียงฮามาตั้งแต่ฉากแรก ซึ่งก็ไม่ผิดหวังครับ เพราะฉากดวลเพลงในพิธี ‘บายศรี สู่ขวัญ’ ระหว่างหมอขวัญกับปลัดธนู ก็ทำเอาคนดูท้องคัดท้องแข็งไปตามๆ กัน และเมื่อพ้นจากฉากนี้ไป ดูเหมือนว่า “แหยม 2” จะขาดไร้ฉากที่เรียกเสียงฮาแบบนี้อีกแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า “แหยม 2” จะหมดมุก ขาดความสนุกแต่อย่างใดนะครับ เพราะเรื่องราวนับจากนั้น หนังกลับดูเพลิดเพลิน คล้ายดังผู้กำกับจะพาเราไปสัมผัสวิถีชีวิตคนอีสานในอีกแง่มุมหนึ่ง และถึงจะเป็นมุมมองที่ไม่ได้มีความสดใหม่ หากแต่ยังเป็นมุมที่คนอีสาน มองคนอีสานด้วยกัน ทั้งในสายตาเป็นมิตร ความเป็นคนมีศักดิ์ศรีในถิ่นเกิด ความเอารัดเอาเปรียบของเพื่อนร่วมกินถิ่นร่วมเกิด และความเป็นคนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่...พูดอย่างนี้ อาจมีใครบางคนตะโกนขึ้นมาด้วยความหมั่นไส้ว่า หม่ำ จ๊กมก ทำหนังอย่างนี้เป็นด้วยเหรอ! ซึ่งผมก็ขอออกตัวโต้เถียงแทนว่า ‘ทัศนคติแบบนี้ ดูจะเป็นมุมมองที่คับแคบไปสักหน่อยนะครับ’

 ย้อนกลับไปดูฉากแรกอีกสักนิดนะครับ ในฉากก่อนจะถึงการดวลเพลงของหมอขวัญกับปลัดหนุ่มจากเมืองกรุง เราเห็นกำนันแหยมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ดูแลกวดขันความเป็นอยู่ของลูกบ้านภายใต้ขื่อแปอย่างเคร่งครัด ในฉากถัดมา เราเห็นความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ช่วยกันคนละมือละไม้เตรียมข้าวของจัดงานต้อนรับปลัดอำเภอและเกษตรอำเภอคนใหม่กันอย่างขันแข็ง และถึงแม้ฉาก ‘บายศรีฯ’ มองเผินๆ คือการปล่อยมุกกระจุยกระจายตามประสาหนังตลกทั่วไป แต่ถ้ามองดูให้ดีจะเห็นว่าฉากนี้ ‘หม่ำ’ ใส่ใจในประเพณีพื้นบ้านของเขาไม่น้อยเหมือนกัน ตั้งแต่คำร้องบายศรี ที่มีท่วงทำนอง และลูกเอื้อนลูกคอที่หาฟังได้ในแทบทุกบ้านร้านถิ่นแถบอีสานที่จัดงาน บายศรีสู่ขวัญ หรือพานบายศรีที่เย็บด้วยใบตองสามชั้นห้าชั้นถูกต้องตรงตามประเพณี รวมทั้งด้ายสายสิญจน์ผูกแขนข้อมือ วนซ้ายล้อมวง ยื่นมือแตะแขน สัมผัสตัวต่อๆ กันไปเหมือนเส้นเชือกที่ผูกร้อยความสัมพันธ์ของผู้คนเข้าด้วยกัน (แน่ละ หลายๆ คนอาจไม่สังเกต เพราะมัวแต่นั่งขำกับมุกร้องเพลง ศรีเอ๋ย สีทีโอเอ) และถ้าตั้งใจฟังเนื้อร้องจริงๆ ช่วงท้ายจะสังเกตว่ามีการแดกดันข้าราชการไทยอยู่เป็นนัย 

 ในฉากประเพณีแห่บุญบั้งไฟก็เช่นกันครับ นอกจากถือเป็นสีสันด้วยการปรากฏตัวของดารารับเชิญและไม่ได้รับเชิญหลายต่อหลายคนแล้ว ย้อนกลับไปฉากก่อนหน้า หนังยังมีความพยายามที่จะถ่ายทอดประเพณีดั้งเดิมจริงๆ ของการทำบั้งไฟ ด้วยการแสดงให้เห็นภาพของวัดที่เป็นเสมือนศูนย์กลางของชุมชน เป็นแหล่งรวมตัวของชาวบ้านมาช่วยกันทำบั้งไฟ ผสมดินปืน ดินประสิว สนุกสนานกันไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่  ไม่วายที่ฉากนี้เราจะเห็น ‘หม่ำ’ แกล้งเด็ก ด้วยมุกเดิมๆ แต่ก็เรียกเสียงฮาได้เสมอ (ฉากอะไรไปดูเอง) จนในฉากถัดมากับพิธีแห่ ที่ทั้งโกลาหล ขำขันกับลีลากวนๆ ของปลัดหนุ่ม แต่ถ้าสังเกตให้ดีฉากนี้จะเห็นว่าบั้งไฟแต่ละลำ แต่ละขบวนล้วนตกแต่งด้วยลวดลายอันวิจิตร

 ทั้งหมดทั้งมวลที่เอ่ยมา จะเห็นว่า ‘หม่ำ’ ใส่ใจในวิถีชีวิตพื้นบ้าน เท่าๆ กับที่พยายามสอดแทรกมุกตลกเข้าไปตลอดทั้งเรื่อง เผลอๆ อาจให้ความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นฉากชาวบ้านทำเครื่องจักสาน (แต่ก็อุตส่าห์หยอดมุกความเจ้าชู้ของปลัดลงไป) รวมทั้ง ฉากหว่านข้าวในนา ฯลฯ

 แม้เนื้อหาอาจดูเก่าและเชย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นขนบหนังไทยในแบบที่เราคุ้นเคย ทั้งเรื่องราวพ่อแง่แม่งอน การฟันฝ่าอุปสรรคในความรัก และสุดท้ายลงเอยด้วยการเอาชนะใจพ่อตาจากสถานการณ์คับขันที่ต่างฝ่ายต่างร่วมมือกันต่อสู้เพื่อความดีงาม แต่อย่างที่บอกล่ะครับว่า ผู้กำกับ ‘หม่ำ’ นอกจากเล่าเรื่องและเล่นมุก ด้วยการเล่นกับ ‘ขนบ’ ทั้งในรูปแบบของมหรสพและตัวตนของคนบนแผ่นดินอีสานถิ่นเกิดแล้ว เขายังวิพากษ์คนอีสานด้วยกันเอง เห็นชัดมากๆ จากฉากที่ข้าราชการบางคนเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านด้วยการร่วมมือกับพ่อค้าคนกลาง กดขี่ราคาพืชผลทางการเกษตร วิพากษ์แม้แต่คนใกล้ตัวที่ลืมกำพืด ลืมรากเหง้าชาติกำเนิด แต่ทั้งสองฉาก กลับเล่าด้วยลีลาชวนหัว ไม่จริงจัง ไม่ลงโทษสั่งสอน และก็ไม่ได้ให้บทเรียนอะไรที่จะทำให้ตัวละครของเขาได้ตระหนักรู้หรือสำนึกจากพฤติกรรมเหล่านั้น (โดยเฉพาะผู้เป็นลูกชาย)

 แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่ ‘หม่ำ’ คงพยายามจะบอกเป็นนัยๆ ด้วยท่าทีที่เรียกว่า ‘หยั่งเชิง’ ดูก่อน คือการประกาศตัวถึงความเป็นคนรักศักดิ์ศรีของลูกอีสาน จากฉากที่เขาออกตามหาปลัดธนูถึงในเมืองกรุง และประจันหน้ากับครอบครัวของปลัด (แน่นอนว่า ถ้ามีแหยมภาคสาม ภาคสี่ เมื่อไหร่ เราได้เห็นบทบาททำนองนี้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ)

 มุกตลกใน “แหยม 2” ไม่ถึงกับฝืด และก็ไม่ได้แป้กจนสิ้นท่า หากแต่สิ่งที่มาทดแทนและทำได้รื่นไหล กลมกลืนมากขึ้น คือ การสะท้อนวิถีชีวิตและทัศนคติบางอย่างที่น่าสนใจของคนอีสาน แม้วงการหนังไทยในปัจจุบัน อาจไม่ถือว่างานของ ‘หม่ำ’ เป็นตัวแทนจากคนบนดินแดนที่ราบสูงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ตลอดเวลาที่เรื่องราวดำเนินไป ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง วิธีคิด วิถีชีวิตของแต่ละตัวละคร และขนบต่างๆ ทั้งปรากฏในหนัง รวมทั้งรูปแบบภายนอกที่แสดงออก สำหรับผมแล้วมันเป็นเหมือนการปะทะสังสรรค์ทางความคิด ที่สนุกเพลิดเพลิน ชวนให้ต่อล้อและตั้งคำถาม ถึงสิ่งที่เคยมีในหนังตลก...ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน...และอาจยังต้องนึกถึงอยู่ต่อไป หากเราตั้งคำถามถึงการคาดหวังอะไรสักอย่างในหนังตลกสักเรื่องของคนชื่อ ‘หม่ำ จ๊กมก’ วันนี้อาจไม่ได้คำตอบที่ชัดนัก แต่เชื่อว่าเรายังคาดหวังจากหนังของเขาได้อีกเรื่อยๆ ครับ 

ชื่อเรื่อง : แหยม ยโสธร 2
ผู้กำกับ : หม่ำ จ๊กมก
ผู้เขียนบท : หม่ำ จ๊กมก, พิพัฒน์ จอมเกาะ
นักแสดง : หม่ำ จ๊กมก, เจเน็ท เขียว, หรินทร์ สุธรรมจรัส, บุษราคัม วงษ์คำเหลา, เพทาย วงษ์คำเหลา
เรต : น. 15+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 3 ธันวาคม 2552

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"