ปีทองหนังไทย2009ตลกแชมป์รักเยอะแต่คุณภาพลด
หนังรัก 4 เรื่องที่ดาหน้ากันฉายตลอดเดือนธันวาคมนี้ อาจจะเป็นการสร้าง สถิติปิดท้าย ของปี 2009 ว่า นี่คือเดือนสุดท้ายของปีที่มีหนังในตระกูลเดียวกัน ฉายช่วงใกล้กันมากที่สุดในรอบหลายๆ ปี แม้ว่าบางเรื่องนั้น จะใช้สัมผัสด้าน comedy เข้ามาสนับสนุนก็ตาม
อานิสงส์อีกอย่างหนึ่งของเรื่องข้างต้นที่พูดถึงก็คือ มันเพิ่มปริมาณของ “หนังรัก” ให้ครองแชมป์มากกว่าจำนวนของ “หนังตลก” ที่ตัวเลข 14-15 เรื่องหนังรักที่เป็นหนังไทยนอกจากมีมากที่สุดของปีแล้ว ยังมีเครดิตติดท้ายเล็กน้อยด้วยการยึดแชมป์หนังทำเงินสูงสุดจาก “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ในเดือนตุลาคม ด้วยรายได้ร่วมๆ 150 ล้านบาท (ขณะที่หนังเทศนั้น แชมป์คือ 2012 วันสิ้นโลก ซึ่งเฉือน Transformers 2 ไปเล็กน้อย ทั้งที่ 2012 นั้น เป็นหนังตอแหล เล่นกับอารมณ์วิตกจริตของคนค่อนโลก)
แนวทางของหนังไทยโดยหลักๆ มันไม่ขยับแบบพลิกฟ้าคว้าดาวหรอก เพราะมันขยับรุนแรงไม่ได้ เนื่องจากพื้นฐานการดูหนังของคนไทย เปลี่ยนไม่ได้มาก ทุกๆ ปี หนังรัก หนังสยอง หนังผี และหนังตลก จะยึดหัวหาดการเป็นแนวทางหนังหลักในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
แต่แม้จะไม่เปลี่ยนมาก ปี 2009 ของหนังไทยมีเรื่องให้ต้องบันทึก 3 อย่าง ที่น่าจับตาไปถึงปีหน้า 2010
ประการแรก มีการผุดโผล่ของหนังแปลกๆ ออกมาทดลองตลาดอย่างน่าสนใจ หมายความว่าแนวทางนั้นน่าสนใจ แต่ไม่ใช่เรื่องราวหรือพล็อต ตัวอย่างเช่น สาระแนห้าวเป้ง และพลเมืองจูหลิง รวมไปถึงหนังที่พยายามจะมีอะไร และสามารถสมาร์ทได้อย่าง “เฉือน” ซึ่งออกจากกรอบที่ “5 แพร่ง “สร้างไว้ได้สำเร็จ
บางทีปีหน้า 2010 หนังแบบนี้จะมีมากขึ้น หนังที่พยายามจะทดลอง ถางทางใหม่ๆ ด้วยเชื่อมั่นว่า รสชาติแปลกออกไป ถ้ามีรสนิยม คนดูก็ให้โอกาส เหมือนกินปลาในตลาดมานาน ลองไปกินปลาในบุฟเฟ่ต์ดูบ้าง แต่เป็นปลาเหมือนกันนี่แหละ
ประการที่สอง, ถ้าดูจากจำนวนรายได้ 500-600 ล้านจากหนัง 4-5 เรื่อง (ความจำสั้นฯ, สาระแนห้าวเป้ง, วงษ์คำเหลา, รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, 5 แพร่ง, แหยม 2) ก็สะท้อนได้ถึงรสนิยมของคนดูหรือผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
กล่าวคือ แนวทางแม้เป็นแบบเดิม แต่วิธีคิด วิธีขาย หรือสไตล์การเสนอต้องเปลี่ยนไป รถไฟฟ้ามาหานะเธอ เล่นกับอารมณ์ของผู้หญิง แต่ไม่ใช่คนเมือง (ที่แม้จะมีรถไฟฟ้าและไลฟ์สไตล์ชนชั้นกลาง) ความจำสั้นฯ ตอบสนองสิ่งที่คนดูอยากพูดหรือใฝ่หา ส่วน 5 แพร่ง เป็นแฟรนไชส์ที่สานต่อความสำเร็จมาจาก สี่แพร่ง ที่จะต้องมีภาคต่อไปอีกแน่นอน และไม่ต้องรอนาน
หนังทำเงิน 3 เรื่องของ GTH ต่างกระจัดกระจายอยู่ใน 3 ตระกูลและแนวทาง (สยองขวัญ-ตลก-หนังรัก) แต่จุดร่วมที่มีเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ เป็นงานที่มีความเข้าใจตลาดของตัวเองสูง เล่นกับแง่มุมที่ตัวเองถนัด เสริมด้วยการตลาดที่ครอบคลุม
เหมือนแนวคิดของ shopper marketing บวกกับ popumentary
แพ็กเกจจิ้งสวย และเนื้อในใช้ได้ ไม่ใช่แกะกล่องกินแล้วคายทิ้ง
แต่ สหมงคลฟิล์ม ก็ไม่ได้ขายหน้าเช่นกัน เพราะขณะที่ GTH จับจนอยู่หมัดกับตลาดชนชั้นกลางในเมือง ทางสหมงคลฟิล์มเอง ก็กวาดตลาดแมส หรือคนดูที่อยู่ข้างล่างลงไป ด้วยโปรดักท์แข็งแรงอย่าง หม่ำ จ๊กมก ซึ่งมีบทบาทหมดกับหนัง 3 เรื่อง (สาระแนห้าวเป้ง, วงษ์คำเหลา, แหยม 2) แต่เป็น 3 เรื่องที่ไม่มีคุณภาพใดๆ ให้จดจำหรือเข้าตานักวิจารณ์ แถมถูกค่อนแคะในเชิงว่า เข้าสู่การเป็นนักการตลาดเต็มตัว จากการทำตัวเป็นข่าวกับสาระแนห้าวเป้ง
แม้จะถูกผู้คนเหน็บแนมไม่น้อย แต่คุณหม่ำ ยังขายได้ในปีนี้
และถ้านี่คือ หนังที่มีกลิ่นรสแปลกออกมาจนได้สตางค์ ปีนี้มีหนังเชยๆ เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะมาฉายในยุคสมัยนี้
หนัง 3 เรื่องคือ 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร และ ปายอินเลิฟ รวมทั้ง ม.3 ปี 4 เรารักนาย กับ Roommate
สองเรื่องแรกนั้น มาฉายผิดเวลาไปมาก เรื่องหนึ่งเลยมา 5 ปี อีกเรื่องหนึ่งเลยมา 4 ปี กระแสของปายนั้นไม่มีแล้ว และแม้จะมองออกจากโปรดักชั่นและโลเกชั่น รูปแบบของหนังในแบบ anthology ก็ไม่ได้มีสิ่งใหม่ นอกจากโฆษณาแฝง
ที่เลวร้ายกว่าก็คือ สองเรื่องหลัง ซึ่งขายหน้าในการลอกเลียน แนวทางหนังของ GTH แบบไร้รสนิยม ก่อนจะบาดเจ็บด้วยการถูกปฏิเสธจากคนดู
การบาดเจ็บของหนังสองเรื่องที่ว่านี้ ได้บอกชัดเจนว่า คนดูนั้นได้ก้าวข้ามไปไกลกว่าคนทำหนังเสียแล้ว
เรื่องตอแหลน่าอายอีกประการหนึ่งที่ขอด่าไว้ตรงนี้ก็คือ การลอกเลียน ก๊อบปี้อย่างหน้าด้านด้วยประโยคโฆษณาแบบที่ GTH ใช้ ในพรินท์แอด คำพูดประเภทดูแล้วดูอีก, ดูกับครอบครัวหรือคนรัก รวมไปถึงสร้างสถิติประหลาด ซึ่งเป็นเคล็ดในการทำโฆษณาสินค้า ถูกนำมาใช้อย่างเกลื่อนกลาด และดาษดื่น อย่างน่าสำรอก
หนังไทยบางเรื่องไร้ยางอายถึงขั้น gu ลอกนักแสดงกันเลย คือแนวทางเลียนแบบแล้วไม่พอ ต้องลอกนักแสดงเอามาเล่นด้วย
อย่าลืมว่า แม้จะเป็นหนังที่พยายามใกล้กัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จ รักแห่งสยามนั้นดีแน่ แต่เมื่อจะเป็นซ้ำกับฝันหวานอายจูบ มันก็ล้มเหลวได้ทันที
แม้ปี 2009 จะเป็น 12 เดือนที่รุ่งเรืองของอุตสาหกรรมหนังไทย แตกต่างไปจากปี 2008 ที่มีหนัง 100 ล้านประกอบอยู่ แต่ทุนสร้างที่สูงไม่ได้ทำให้ค่ายหนังแฮปปี้เหมือนปีนี้ ซึ่งทุนสร้างหลายเรื่องต่ำกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม หนังไทยที่มีคุณภาพเข้าตาเอง ก็ไม่ได้มาจากหนังเหล่านั้น ซึ่งถ้าต้องเลือกสักเรื่อง ความจำสั้นฯ ชนะ รถไฟฟ้าฯ และ 5 แพร่ง รวมทั้งหนังจากค่ายอื่นๆ (นี่หมายถึงในกลุ่มหนังทำเงิน 5-6 เรื่อง)
ขณะที่หนังมีคุณภาพจริงๆ กลับตกอยู่กับพลเมืองจูหลิง และตัวเต็งอย่าง “นางไม้” ซึ่งขอให้จับตาดูกันบดบี้ระหว่าง กิ๊บซี่ จากนางไม้กับ คริส หอวัง จากรถไฟฟ้าฯ
หมอดูมั่วๆ ซอมซ่อจากตึกเนชั่นย่านบางนา ขอทำนายว่า คู่นี้บี้กันสูสีดู๋ดี๋ โดยมี มาช่า จาก 5 แพร่งเป็น “ม้ามืด”
ผู้แพ้อย่างชัดเจน คือหนังผีเกรดต่ำ ราคาถูก ที่หวังตีหัวเข้าบ้าน และตายสนิท และในฐานะที่ต้องมาสรุปภาพรวมทุกๆ ปี ผมขอทำในสิ่งที่ตามใจตัวเอง ด้วยรสนิยมของผมคนเดียว โดยไม่แคร์ผู้กำกับหรือค่ายหนัง นั่นคือการเลือกหนังดีๆ ของปี
หนังไทยยอดเยี่ยมปีนี้ ผมให้ นางไม้ ครองแชมป์ร่วมกับ พลเมืองจูหลิง
หนังสยองขวัญชมเชย ขอมอบให้เรื่อง “เฉือน”
หนังตลกแห่งปีคือ รถไฟฟ้าฯ
นักการตลาดดีเด่นคือ หม่ำ จ๊กมก
หนังน่าให้กำลังใจคือ “สามชุก”
หนังตอแหลตลอดปีทุกเครือ คือ นักการเมืองทุกพรรค
สวัสดีปีใหม่ 2010
นันทขว้าง สิรสุนทร
[email protected]