ยอมตายคาวง บทเรียน "นกน้อย"
ยอมตายคาวง บทเรียน "นกน้อย" แม่นกน้อยจะไหวมั้ย แบกหนี้สิน สามีเจ็บป่วย โดนโควิดรอบสอง ถึงกับไปไม่เป็น คอลัมน์... คมเคียวคมปากกา โดย... บรรณวัชร
++
ตกอกตกใจไปตามกัน สำหรับเอฟซีเสียงอิสาน เมื่อ “นกน้อย อุไรพร” ไลฟ์เฟซบุ๊คแฟนเพจเสียงอิสาน ประกาศขายบ้านตองห้า บ้านพักหมอลำเสียงอิสาน กลางเมืองอุดรธานี เพื่อนำเงินไปรักษาสามี-พ่อใหญ่ทิดหลอด หรืออาวทิดหลอด ที่ป่วยหนัก และนำเงินไปใช้หนี้ เพื่อรักษาวงดนตรีเสียงอิสานให้เดินหน้าต่อไปได้
อาวทิดหลอดเป็นยิ่งกว่าคู่ชีวิต เพราะนับแต่ก้าวแรกของนกน้อย ในฐานะผู้นำคณะเสียงอิสาน มีอาวทิดหลอดเป็นลมใต้ปีก พูดง่ายๆ “บ่มีทิดหลอด กะบ่มีนกน้อย”
จากวัยสาวรุ่นจนถึงช่วงสนธยาของชีวิต แม่นกน้อยบินไกลไปรับใช้แฟนเพลงทั่วประเทศ ปีหนึ่งได้พักวงแค่ 3 เดือน แต่ระยะหลังก็ไม่ได้พัก เพราะช่วงหยุดเดินสาย ก็ต้องพานักร้องกลุ่มหนึ่งเข้าห้องบันทึกเสียงเพลง
นกน้อย อุไรพร หรือชื่อเดิมสกุลเดิม อุไร สีหะวงศ์ เกิดที่บ้านจอม ต.ยางชุมน้อย อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ แจ้งเกิดจากวงเพชรพิณทอง ของนพดล ดวงพร
แม่นกน้อย และอาวทิดหลอด
++
ทิดหลอด-ผู้อยู่เบื้องหลัง
++
ปี 2518 นกน้อยลาออกจากวงเพชรพิณทอง มาสังกัดสำนักงานบ้านพักทัมใจ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของหมอลำกว่าร้อยคณะ ภายใต้การบริหารงานของ “อาวทิดหลอด” หรือ “มัยกิจ ฉิมหลวง” ซึ่งตอนนั้นเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ได้รับความนิยมของอุดรธานี
แรกๆ นกน้อยยังเป็นนักร้องรับเชิญตามคณะหมอลำต่างๆ โดยมีอาวทิดหลอดเป็นผู้ขับรถ และประสานงานในทุกเรื่อง นกน้อยมีหน้าที่ขึ้นร้องเพลงอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่นานนัก อาวทิดหลอดแต่งงานกับนกน้อย และตัดสินใจตั้งวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ “เสียงอิสาน” ภายใต้การนำของนกน้อย อุไรพร เดินสายรับใช้แฟนทั่วภาคอีสาน
เส้นทางเดินของเสียงอิสาน ไม่ได้ราบรื่น ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี แต่อาศัยสามี-อาวทิดหลอด เป็นนักธุรกิจบันเทิง จึงปรับเปลี่ยนวงหมอลำในทุกปี ตั้งแต่การแสดงหน้าเวที ไปจนถึงเวที ตลอดจนแสง สี เสียง
เสียงอิสาน ต้องยิ่งใหญ่
++
ยุคทองแม่นกน้อย
++
ช่วงที่เสียงอิสาน ประสบความสำเร็จสูงสุด ประมาณปี 2542-2549 นำทีมโดยลูกแพร-ไหมไทย อุไรพร และปอยฝ้าย มาลัยพร พร้อมด้วยทีมตลกก็สุดยอด ทั้งยายจื้น ยายแหลม จัดว่าเป็นจุดขายของวง
ส่วนลำเรื่องต่อกลอนของคณะเสียงอิสาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮอยปานดำ, ฮอยปูนแดง, และวงเวียนชีวิต ล้วนได้รับความนิยม
วงเสียงอิสานได้รับการโจษขานว่าเป็นคาราวานหมอลำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีทีมงานทั้งนักร้อง นักดนตรี หางเครื่องและคอนวอยมากกว่า 420 ชีวิต และรถยนต์ชนิดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 30 คัน
ตลอดฤดูกาลการเดินสาย 8 เดือน มีการแสดงทุกคืน แถมเจ้าภาพจองคิวการแสดงข้ามปี อัตราค่าจ้างต่อคืน ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท แถมมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน ทำให้เสียงอิสานมีเงินทุนปรับปรุงวงให้ยิ่งใหญ่อลังการกว่าหมอลำคณะอื่นๆ
คอนเสิร์ตออนไลน์ แม่นกน้อยก็ทำ
++
ขาลงไม่ยอมลง
++
นับแต่ปี 2556 วงเสียงอิสานเริ่มอยู่ในภาวะขาลง ตลาดเพลงลูกทุ่งซบเซา ตลาดซีดี-วีซีดีตายสนิท ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ได้ทำให้เกิดพลิกผันในวงการเพลงลูกทุ่งและหมอลำ
พูดกันตามตรง ความยิ่งใหญ่ของเสียงอิสาน มาจากการลงทุนไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียง เวที ซึ่งบอบช้ำมาจากการทัวร์เดินสาย 8 เดือนเต็ม เมื่อเปิดฤดูกาลใหม่(เดือนตุลาคมของทุกปี) ก็ต้องลงทุนใหม่ ใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านบาท รวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของหางเครื่องอีก 5 ล้านบาท รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่รายได้ของวงเสียงอิสาน กลับไม่ได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนในอดีต
นักร้องแม่เหล็กอย่างไหมไทย อุไรพร ลูกแพร อุไรพร และปอยฝ้าย มาลัยพร แยกตัวออกไปเป็นศิลปินอิสระ ประกอบกับสปอนเซอร์หลักถอนตัว ทำให้วงเสียงอิสานในช่วง 2-3 ปีมานี้ อยู่ในภาวะประคองตัวให้อยู่รอด
ลูกแพร-ไหมไทย แม่เหล็กของวง
ถึงกระนั้น แม่นกน้อยก็ไม่ท้อ ยืนกราน “ยอมตายคาวง” ไม่ยุบไม่เลิกตามคำแนะนำของผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนว่า "เลิกตอนนี้ยังจะมีอะไรเหลือ"
โชคดีแม่นกน้อย มีหลานๆ ที่เข้าใจยุคสื่อดิจิตอล จึงใช้โซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือโฆษณาผลงานวงเสียงอิสาน และขายสินค้าออนไลน์หารายได้เสริม
ต้นปีที่แล้ว โควิดรอบแรก แม่นกน้อยร้องไห้ออกสื่อ ระบายความในใจเรื่องหนี้สิน ถึงขั้นไปต่อยาก แต่ใจแม่นกน้อยยังเด็ดเดี่ยว ไม่ยอมแพ้ หลังโควิดรอบแรกซาไป ก็วิ่งหาเงินมาทำวงใหม่ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทันวงอื่นๆเขา ที่มีแฟนคลับมากมายหนาแน่นกว่า
ปลายปี 2563 มีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่ง จ้างงานคอนเสิร์ต 60 คิว ทางรอดเห็นรำไรๆ ได้ไปต่อ แต่เล่นไปได้เพียง 5 คิว โควิดรอบสองก็มา งานแสดงทั้งหมดถูกยกเลิก
นี่แหละจึงเป็นที่มาของการไลฟ์สดระบายความทุกข์ในใจ พร้อมประกาศขายบ้านหาเงินไปรักษาอาวทิดหลอด