เปิดประวัติเจ้าพ่อวรรณกรรม “สิงห์สนามหลวง” สู่ “ศิลปินแห่งราษฎร์” ชู 3 นิ้ว
โลกโซเชียลกระหึ่ม หลังข่าว “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ถูกถอดจากการเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” พร้อมให้ความเห็นว่า การสั่งปลดครั้งนี้มาจาก การเคลื่อนไหวทางการเมือง และตำหนิการทำงานของรัฐบาลอยางหนัก รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันด้วย
กรณีที่เกิดขึ้น ถ้ามีการปลดสำเร็จจริง ถือว่า “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” จะเป็นคนแรกที่โดนยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยล่าสุด สุชาติ ได้เคลื่อนไหวผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า "การละเมิดในยุคเผด็จการมีหลายรูปแบบ/เนื้อหา” และแชร์ข้อมูล-ภาพอินโฟกราฟฟิกของ "iLaw" หากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลัง "ละเมิด" ประชาชนฟ้อง "ต้นสังกัด" ให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ ขณะที่หน้าเพจ มีคนส่งกำลังใจให้อย่างมากมาย
หากย้อนไล่เรียง ประวัติชีวิต และผลงานจะเห็นว่า สุชาติมีความสนใจด้านการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และส่งผ่านทางงานเขียนและศิลปะที่เขารัก
“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” นักเขียนเจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2488 ที่ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) สาขาประวัติศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2509 สมรสกับ นางวรรณา สวัสดิ์ศรี (ทรรปนานนท์) นักเขียนเจ้าของนามปากกา "ศรีดาวเรือง" มีบุตรชาย 1 คน ชื่อ โมน สวัสดิ์ศรี
สุชาติ เป็นผู้ก่อตั้ง "รางวัลช่อการะเกด" ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น ระหว่างปี 2520 - 2542 เพื่อส่งเสริมนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่ มีต้นกำเนิดจากนิตยสาร โลกหนังสือ เมื่อ พ.ศ. 2520 มีการรวบรวมเรื่องสั้นของนักเขียนร่วมสมัยมาจัดพิมพ์ไว้ในชุด โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น โดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ และมีการประดับช่อการะเกดให้เรื่องสั้นดีเด่น ต่อมาเรียกว่า หนังสือช่อการะเกด
นอกจากนี้ ยังเคยเป็นครูโรงเรียนราษฎร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเขียน บรรณาธิการนิตยสาร บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ร่วมก่อตั้งกลุ่มวรรณกรรม ก่อตั้งสำนักช่างวรรณกรรม ในเหตุการณ์ 14 ตุลา เขาเป็นบรรณาธิการ วารสารรายสามเดือนของสมาคม สังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ยังมีความสนใจด้านศิลปะ โดยศึกษาด้วยตัวเอง และจัดแสดงนิทรรศการมาแล้วหลายครั้ง
“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อปี พ.ศ. 2554 และในปี 2555 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น จตุตถดิเรกคุณาภรณ์