ไม่ดราม่า วธ.ชื่นชม "ลิซ่า" นำวัฒนธรรมไทยผงาด อวดสายตาชาวโลก
วธ. รวมทั้งนักวิชาการ ต่างชื่นชม "ลิซ่า ลลิษา-ผู้ออกแบบ" นำทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดสร้างสรรค์ ผ่านการออกแบบแฟชั่นสู่ระดับโลก เผย "รัดเกล้ายอด" เป็นศิราภรณ์ประกอบการแสดง ที่สร้างสรรค์มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
จากก่อนหน้านี้ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนส่วนหนึ่ง ถึงความเหมาะสมของเครื่องประดับศีรษะหรือศิราภรณ์ ที่ ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า นักร้องสายเลือดไทย หนึ่งในสมาชิกวง BLACKPINK ประเทศเกาหลีใต้ ใส่ในการแสดงMV เพลง “LALISA” ของเธอ จนฮือฮาไปทั่วโลกนั้น
ล่าสุด วันที่ 12 ก.ย. นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขอแสดงความชื่นชมลิซ่าและผู้ออกแบบชาวไทย ที่เป็นผู้ออกแบบเครื่องประดับศีรษะที่ลิซ่าใส่แสดงใน MV นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ในด้านการออกแบบแฟชั่นไทย ทำให้ศิลปวัฒนธรรมไทยและงานออกแบบแฟชั่นไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการเผยแพร่สู่ระดับโลก
ที่ผ่านมา วธ.ได้ดำเนินการส่งเสริมและนำทุนวัฒนธรรมมาต่อยอดในรูปแบบต่างๆ และได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของไทย หรือ 5F ได้แก่ อาหาร(Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival)
ดังนั้นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดโดยการนำความคิดสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะให้คนที่ชม mv ดังกล่าวได้ชมความงดงามของวัฒนธรรมไทยในรูปแบบร่วมสมัย ที่ผู้ออกแบบและลิซ่า ได้นำเสนอออกมาให้เข้ากับยุคสมัยและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่
ด้าน ดร.สุรัตน์ จงดา รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และอาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวว่า เครื่องประดับศีรษะหรือศิราภรณ์ที่ ลลิษา หรือ ลิซ่า ใส่แสดงเรียกว่า “รัดเกล้ายอด” เป็นศิราภรณ์ประกอบการแสดงไทย ช่างฝีมือไดัรังสรรค์ศิราภรณ์หลายรูปแบบตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม
ศิราภรณ์ประดับ ที่เป็นงานศิลปกรรมสร้างสรรค์ หรืองานประยุกต์ศิลป์ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานช่างฝีมือโบราณเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่นำไปต่อยอดไปสู่ระดับสากล ซึ่งเป็นศิราภรณ์ประกอบการแสดงที่สร้างสรรค์มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในปัจจุบันมีการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ มาใช้ในการแสดงที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นงานช่างฝีมือที่สร้างงานสร้างรายได้จากการทำเครื่องประดับประกอบการแสดง
ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างชฎา และรัดเกล้ายอด ในการแสดงนาฏศิลป์นั้น ชฎาจะใส่ละครตัวพระ ขนาดทรงสูง มีกรอบหน้า จรหู เป็นชิ้นเดียวกัน สวมใส่ครอบลงบนศีรษะ
สำหรับรัดเกล้ายอด เป็นศิราภรณ์ เครื่องประดับสำหรับตัวนาง จะสวมตั้งอยู่บนกลางศีรษะ และมีดอกไม้ไหวประดับ
สำหรับเครื่องประดับศีรษะ ทั้งชฎา มงกุฎ และรัดเกล้า เป็นสัญลักษณ์ทางการแสดงที่ทำให้คนต่างชาตินึกถึงความเป็นประเทศไทย เป็นเอกลักษณ์ที่มีความงดงาม ตระการตา ซึ่งแม้แต่คณะทูตชาวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทยในอดีต ก็ยังกล่าวถึง รวมทั้ง การแสดงละครเวที การแสดงบัลเลต์ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็ยังใช้เครื่องประดับศีรษะในลักษณะเดียวกันนี้ ประกอบการแสดงอีกด้วย