"ทมยันตี" ถึงแก่กรรมในท่านั่งสมาธิ คนวรรณกรรม แฟนหนังสือแห่อาลัยสุดเศร้า
คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ "ทมยันตี" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2555 ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ด้วยท่านั่งสมาธิ ณ ล้านนาเทวาลัย สูญเสียนักเขียนที่ได้ชื่อว่าเป็น ราชินีนวนิยาย คนสำคัญของบ้านเรา ด้าน สวธ. จะจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงาน พร้อมช่วยเหลือครอบครัว
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นามปากกา “ทมยันตี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2555 ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 10.00 น. ถึงแก่กรรมในท่านั่งสมาธิ ณ ล้านนาเทวาลัย ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สิริรวมอายุ 85 ปี
ในส่วนกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ การสวดพระอภิธรรมศพ อยู่ระหว่างทายาทกำหนดวัน เวลา สถานที่จัดงานในกรุงเทพมหานคร และทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ (รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป)
สำหรับประวัติของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2479 เป็นนักเขียนนวนิยายยอดนิยมที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ใช้นามปากกา ทมยันตี ลักษณาวดี โรสลาเรน และกนกเลขา ต่อมา ได้สร้างนามปากกา อีก 3 นามปากกาคือมายาวดี ทยุมณิ และราตริมณิ ฯลฯ ในจำนวนนามปากกาต่าง ๆ ดังกล่าว “ทมยันตี” เป็นนามปากกาที่มีผู้รู้จักมากที่สุด
คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ “ทมยันตี” ได้สร้างสรรค์ผลงานซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักกันเฉพาะในหมู่นักอ่านคนไทยเท่านั้น มีนวนิยายหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น คู่กรรม แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น พิศวาส แปลเป็นภาษาอังกฤษ และบทประพันธ์จำนวนมากถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์
นวนิยายของทมยันตีมีพลังทางวรรณศิลป์อย่างสูง สามารถโน้มน้าว อารมณ์ผู้อ่านให้เพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องตัวละครมีชีวิตชีวา ปลูกฝังความคิดเรื่องความกตัญญู ความเคารพกฎระเบียบ ความเสียสละ ความรักชาติรักแผ่นดิน ความยึดมั่นในความดี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมุ่งสร้างบุญละบาป ความเป็นผู้หญิงที่แกร่ง อดทน ความเชื่อและเคารพตนเองฯลฯ ความคิดเหล่านี้ประสานอยู่ในเรื่องราวที่สร้างสรรค์ด้วยภาษาที่กินใจและรสวรรณศิลป์ที่ตรึงอารมณ์อย่างหาใครเปรียบได้ยาก นวนิยายของทมยันตี จึงไม่เพียงให้ความบันเทิงใจแต่กระตุ้นสำนึกและจิตวิญญาณด้วย ท่านจึงได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2555
อธิบดี สวธ.เปิดเผยอีกว่า นอกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท และขอพระราชทานเพลิงศพให้ ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ