คมเคียวคมปากกา - ทุ่งสานสะเทือน
เมื่อตอนเรียนจบประถมที่บ้านนอก แล้วเข้ามาต่อมัธยมในกรุงเทพฯ ผมพักอยู่แถวซังฮี้ มักจะนั่งรถเมล์ไปเที่ยวทางวงเวียนใหญ่
ยามที่นั่งรถเมล์ผ่านสามแยกไฟฉาย ก็จะเห็น “อาคารมุกดาพันธ์” โดดเด่นอยู่ข้างทาง ในฐานะแฟนลูกทุ่งวัยเยาว์ รู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อแรกได้เห็น
เพราะตอนอยู่บ้านนอก ก็ฟังรายการเพลงของ พยงค์ มุกดา กับชาวคณะอยู่เป็นประจำ
นั่นเป็นเรื่องราวของครูพยงค์ ที่เด็กบ้านนอกคนหนึ่งสัมผัสได้
คืนก่อน ขับรถกลับบ้าน วิทยุชุมชนการเมืองคลื่นหนึ่ง ได้นำเพลง “ทุ่งสานสะเทือน” ผลงานการประพันธ์ของครูพยงค์ ร้องโดย สายัณห์ สัญญา มาเปิดปิดท้ายรายการ
นัยว่านักจัดรายการคงต้องการปลุกกระแส “รักชาติ” จึงนำเอาเพลงนี้มาเปิดทุกคืน แถมสายัณห์ ร้องได้อารมณ์มากๆ ฟังกี่ครั้งก็ยังไม่เบื่อ
เนื้อในเพลงนี้ ครูพยงค์ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นคีตกวี ด้วยการเขียนเพลงการเมืองเรื่องรักชาติแบบภาษาสวยๆ
“ทุ่งสานสะเทือน สะเทือน สะเทือน เกลื่อนภัยคุกคาม ทั่วพรหมพิราม พิษณุโลก ทุ่งสานสีทองต้องกลายเป็นแดนแสนวิปโยค ชุ่มโชกด้วยเลือดและน้ำตานอง”
บังเอิญครูพยงค์ แต่งจากการอ่าน “ข่าวหนังสือพิมพ์” ซึ่งภาพข่าวที่ปรากฏ ชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ดินทำกิน ถูกบิดเบือนให้เป็นเรื่องชาวบ้านเข่นฆ่ากันเอง เพื่อแย่งยึดที่ดินทำกิน
อย่างว่าแหละ เพลง “ทุ่งสานสะเทือน” แต่งขึ้นในยุคเผด็จการ “ถนอม-ประภาส” ครองเมือง
แต่ความเป็นจริง ได้ถูกเปิดเผยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ นายทุนสมคบข้าราชการกดขี่ข่มเหงชาวนา เมื่อพวกเขาสิ้นสุดความอดทน จึงต้องบุกเข้าแย่งยึด “ทุ่งสาน” เป็นที่ทำกิน
“พม่ารบไทยครั้งในอดีต ไทยเคยสละชีวิตคิดป้องกันอธิปไตย แต่ศึกทุ่งสานนั้นรบกับใคร พรหมพิราม เปลี่ยนนามเสียใหม่ เป็นพรหมพิราบ อาบเลือดน้ำตา”
เมื่อข่าวชาวนาเข่นฆ่ากันเองในหนังสือพิมพ์หัวสียุคเผด็จการ ครูพยงค์ จึงต้องอ้างประวัติศาสตร์ดั่งคำร้องข้างต้นนี้
เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกประมาณปี 2514-2515 โดย ศรคีรี ศรีประจวบ แต่เราไม่ค่อยได้ฟังเวอร์ชั่นนี้ เพราะมักจะคุ้นกับเวอร์ชั่นสายัณห์มากกว่า
ถัดจากนั้นมา สายัณห์ สัญญา จึงนำมาบันทึกแผ่นเสียงใหม่ ในยุครัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งชาวนาทุ่งสาน ได้เดินขบวนมาร้องเรียนถึงทำเนียบรัฐบาล
จะอย่างไรก็ตาม “ทุ่งสานสะเทือน” เป็นอีกเพลงหนึ่ง ซึ่งฟังคราใด ก็ขนลุก ในภาษากวีแบบพยงค์ มุกดา !
"บรรณวัชร"