บันเทิง

"บุษยา รังสี"กับเพลงลาชั่วนิรันดร์

"บุษยา รังสี"กับเพลงลาชั่วนิรันดร์

18 ก.พ. 2553

ขณะที่วงการเพลงไทยเพิ่งเสียขวัญกับการจากไปของศิลปินแห่งชาติ พยงค์ มุกดา ได้ไม่กี่วัน พลันก็ต้องเสียใจกันอีกครั้งเมื่อ บุษยา รังสี นักร้องเจ้าของเสียงเพลง น้ำตาดาว โดมในดวงใจ กระซิบสวาท สั่งไทร ลาภูพิงค์ ฝนหยาดสุดท้าย ฝากหมอน กระซิบสวาท ถึงอย่างไรก็ไม่เห

 บุษยา รังสี หรือ ชื่อจริงว่า มานี ทัพพะรังสี  ชื่อเล่น ต้อย  เกิด 13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 เป็นคนสงขลาโดยกำเนิด ข้อมูลจาก นิตยสารอนุทินคู่ชีวิต ดารานักร้อง เมื่อปี 2515 เธอให้สัมภาษณ์ถึงประวัติว่า  เรียนจบจากโรงเรียนในท้องถิ่นแล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ เพื่อศึกษาต่อ โดยเริ่มการเรียนที่สุกิจวิทยาลัย พระโขนง จนจบ ม.6 ต่อที่โรงเรียนพาณิชยการพระนคร จบจบประกาศนียบัตรชั้นสูง และศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  บุษยาเป็นนักร้องตอนยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนพาณิชย์ ขณะนั้นเธอเรียนอยู่ ปี 2 เป็นนักร้องอยู่กับวงดนตรีของนักเรียนนายเรือ  วันหนึ่งไปร้องเพลง "สำคัญที่ใจ" ที่สถานี อส. ในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ยินเสียงจึงชักชวนไปร้องกับวงสุนทราภรณ์

 วันที่ 28 มีนาคม 2502 หลังจากที่มาอยู่วงไม่นานก็ได้ร้องเพลงออกโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เล่นเรื่อง "วิมานใยบัว” เป็นละครเพลง มีอ้อย อัจฉรา เป็นนางเอก  เพลงนั้นคือเพลง "น้ำตาดาว" ที่สร้างชื่อเสียงให้ในเวลาต่อมา
 
  ขณะที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุษยาทำงานอยู่ที่สำนักงบประมาณ และมีชื่อเสียงโด่งดังแต่ไม่ได้เป็นข้าราชการสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ ดังเช่นคนอื่นๆ และชื่อเสียงทางด้านการร้องเพลงให้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะเพลง "สามพราน" ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพลงชุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ

 พรพิรุณ นักแต่งเพลงประจำวง เล่าถึงการได้ร่วมงานกับบุษยาในช่วงเวลาหนึ่งว่า หลังจากรวงทอง ทองลั่นทม ออกจากวงไป บุษยาก็เข้ามาประจำ ต่อด้วย มาริษา อมาตยกุล

 "และหลังจากนั้นพรพิรุณเข้าไปในฐานะนักแต่งเพลง ดิฉันได้แต่งเพลงให้เธอร้องบันทึกเสียง อย่างเพลง  ฝนหยาดสุดท้าย อาถรรพ์สวาท รักที่ต้องมนตรา เสียแรงคิดถึง เพลงหลังสุดนี้มีฉบับเสียงของครูเอื้อและเสียงของบุษยาเหมือนเป็นเพลงร้องแก้กัน  เธอเป็นนักร้องคนแรกที่ทำให้มีเพลงประจำสถาบันการศึกษา และเกือบทุกสถาบันในยุคนั้นมีเพลงที่เธอขับร้อง" พรพิรุณกล่าว

 นักแต่งเพลงหญิง เจ้าของเพลง "ขอให้เหมือนเดิม" ที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน  ขับร้อง กล่าวถึงนิสัยส่วนตัวของบุษยาว่า

 "เป็นคนร่าเริง รักเพื่อนรักฝูงรักงาน เมื่อแต่งงานก็รักสามี ปี 2533-2535 ติดตามสามีไปอยู่ที่พม่า นานๆ ก็กลับมาสักที"

 บุษยาแต่งงานเมื่อปี 2507 กับพลเรือเอกชูชาติ เกษเสถียร เพลงสุดท้ายที่บันทึกเสียงให้แก่วงสุนทราภรณ์ คือ “รักที่ต้องมนตรา”

 ความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานของบุษยา สะท้อนออกมาจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสารโลกดารา เมื่อฉบับเดือนธันวาคม 2514 ว่า

 “ต้อยยังจำได้เสมอเมื่อต้อยมาร่วมงานกับครูใหม่ๆ (ครูเอื้อ) ครูได้บอกว่า มีชื่อเสียงแล้ว ขออย่าได้ทิ้งครูทิ้งวงไปเหมือนคนอื่นๆ ที่ครูเคยต้องช้ำใจมาแล้ว  ต้อยก็ให้คำสัญญากับครูว่าไม่ทิ้งแน่ ตราบใดที่ครูยังไม่ปลดเกษียณอายุ และพอครูครบเกษียณอายุ ต้อยก็ลาออกจากครูตามที่ได้สัญญาไว้ ขนาดตอนที่อยู่กับวงสุนทราภรณ์ มีคนมาติดต่อไปร้องเพลงในไนต์คลับ ห้องอาหาร ตั้งเงินเดือนให้แพงๆ ต้อยก็ไม่ตกลง” บทสัมภาษณ์ของบุษยาเมื่ออดีต

 หลังจากนั้น สุเทพ วงศ์กำแหง กับสวลี ผกาพันธุ์ ลงทุนเปิดร้านอาหารวีไอพีที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ได้ชักชวนบุษยามาร้องเพลงด้วย และในตอนกลางวันร้องที่สีดาคลับ ถนนราชดำเนิน

 “ขนาดที่ต้อยมาร้องที่วีไอพีได้ไม่กี่วัน ร้านอาหารที่อื่นมาหา ขอให้ไปร้องที่เขา ให้เงินอีกเท่าตัว ต้อยกับแฟนต้อยบอกเขา ว่าไม่ได้หรอก แม้เราไม่มีสัญญาต่อกัน แต่เราต้องมีสัจจะ มีมนุษยธรรมต่อกัน” บุษยากล่าวให้สัมภาษณ์ในขณะนั้น

 ช่วงหลังจากนั้น บุษยา ได้บันทึกเสียงเพลงไทยสากลอยู่ระยะหนึ่ง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ฝั่งหัวใจ  ประพันธ์โดยศิลปินแห่งชาติ  พยงค์ มุกดา ที่เพิ่งล่วงลับไปก่อนหน้าไม่กี่วัน

      ชีวิตในช่วงท้ายๆ บุษยาอำลาวงการ โดยได้ติดตามสามีไปอยู่ต่างประเทศระยะหนึ่ง และหยุดร้องเพลงเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย โดยบ้านพักที่บุษยาอาศัยอยู่ในบั้นปลายอยู่ในหมู่บ้านเสรี รามคำแหง
 หลับให้สบายเถิด...บุษยา รังสี