เริ่มแล้ว เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน สร้างสรรค์รูปแบบออนไลน์
กลับมาอีกครั้ง สำหรับเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ (BICT Fest) หรือเวทีสำหรับศิลปะการแสดงระดับนานาชาติสำหรับผู้ชมเด็กเยาวชนและครอบครัว เพื่อมอบความสนุกสนานแรงบันดาลใจและความน่าตื่นตาตื่นใจให้ทุกคน โดยปีนี้ จัดเทศกาลในเวอร์ชั่นออนไลน์
เป็นครั้งแรกที่เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ (BICT Fest) จัดเทศกาลในเวอร์ชั่นออนไลน์ ในชื่อว่า BICT on(line) the MOVE ระหว่างวันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2564 บนเว็บไซต์ www.bictfest.com
ตลอดระยะเวลา 10 วันของเทศกาลจะเต็มไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไฮไลท์ของปีนี้ประกอบไปด้วย 10 การแสดงจากศิลปินไทยและนานาชาติ ทั้งเยอรมนีสวิตเซอร์แลนด์ โปรตุเกส ญี่ปุ่น เม็กซิโก และ อาร์เจนตินา มีทั้งงานสร้างใหม่โดยศิลปินไทยที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อนการแสดงสุดล้ำจากศิลปินต่างชาติ การแสดงที่ชวนเด็กๆ และครอบครัวมามีส่วนร่วมเวิร์กช็อปกิจกรรมสร้างสรรค์ และการเสวนาโดยศิลปินอีกมากมายหลายรายการ นอกจากนี้ ยังมีสารคดีขนาดสั้นแนะนำพื้นที่เครือข่าย และตลาดนัดออนไลน์ที่ให้ทุกคนมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นและจากศิลปินอีกด้วย และนับเป็นครั้งแรกที่จับมือกับเครือข่ายต่างจังหวัดคือกลุ่มกิ่งก้านใบจากอุตรดิตถ์ และกลุ่มลูกหว้าจากเพชรบุรี เพื่อทำงานและนำงานไปเผยแพร่ยังชุมชน
อัจจิมา ณ พัทลุง ผู้อำนวยการเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ (BICT Fest) กล่าวว่าปีนี้ สิ่งที่ BICT Fest ให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ เรื่องการละครกับการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่พูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะการละครและการศึกษาในหลายๆ บริบท ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ที่โรงเรียนได้มีการปรับเปลี่ยนมาสอนออนไลน์และต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนกันใหม่ให้เหมาะสม การละครเองก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปนี้เช่นกัน ในปีนี้ BICT Fest จึงภูมิใจนำเสนอ BICT on (line) the MOVE ที่นำเทศกาลละครมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ
และครอบครัวเข้าถึงได้การแสดงนานาชาติที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพและความสนุกอย่างกว้างขวางมากขึ้นจากทุกมุมโลก
โดยเรายังยืนยันที่จะเชื่อมต่อและสร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้กับผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่เช่นทุกๆ ปี ถึงแม้ปีนี้เราอาจจะไม่ได้เจอหน้ากันแบบสดๆ แต่เราก็ยังเชื่อว่า ศิลปะจะเป็นสะพานให้เราได้รู้จักกันและกัน เชื่อมต่อและเติมพลังให้กับชุมชน รวมถึงเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้เรายังขยายการสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมและการเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว โดยร่วมมือกับเครือข่ายในต่างจังหวัด อย่าง กลุ่มลูกหว้าจากจังหวัดเพชรบุรี และกลุ่มกิ่งก้านใบจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรม นับว่าน่าตื่นตาตื่นใจ สนุกและเต็มไปด้วยพลังอย่างยิ่งยวด โดยในเทศกาลปีนี้ นอกจากเราจะได้พาเที่ยวพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมของทั้ง 2 จังหวัดแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับการแสดงแดนซ์แสนสนุก กับเวิร์กช็อปสำหรับการแสดง Dance Craze 202 จากคนในพื้นที่ ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายและ Joshua Monten ศิลปินชาวสวิส แล้วคุณจะได้รู้ว่า พื้นที่แห่งการเรียนรู้ไม่ได้ผูกติดอยู่แค่ที่กรุงเทพฯเท่านั้น
สุดาลักษณ์ บัวคลี่ ตัวแทนของกลุ่มลูกหว้า จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า “กลุ่มลูกหว้าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเต้น Dance Craze 2021 : A Swiss-Thai Collaboration โดยเข้าร่วมด้วยการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กๆ ในชุมชนจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆของเราได้เผยศักยภาพผ่านการเต้น โดยงานนี้ กลุ่มลูกหว้าและเด็กในชุมชนได้ทำงานร่วมกับศิลปินในระดับนานาชาติซึ่งปกติคนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะไม่ค่อยมีโอกาสแบบนี้ ถือได้ว่า การร่วมสร้างสรรค์กิจกรรม BICT Fest เปิดทางให้พวกเราและเด็กๆ ในชุมชนได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ได้เรียนรู้ประสบการณ์แสนสนุกนี้ไปพร้อมกับเด็กๆ และครอบครัว”
ด้าน นิวัฒน์ ต๊ะถาลี ตัวแทนของกลุ่งกิ่งก้านใบ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้สะท้อนถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมเป็นเครือข่ายทำงานกับเทศกาลละครนานาชาติว่า นี่คือโอกาสอันดีที่จะช่วยขับเคลื่อนให้พื้นที่แห่งการเรียนรู้ไม่ได้ผูกติดอยู่แค่ที่กรุงเทพฯ หรือส่วนกลางเพียงพื้นที่เดียวเท่านั้น
“ทางกลุ่มกิ่งก้านใบมองว่า กิจกรรมสร้างสรรค์หรือการใช้งานศิลปะ ทำให้เกิดการตั้งคำถาม และการทำการเรียนรู้โดยมีฐานเป็นชุมชน ก็จะทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าในตัวเอง และสุดท้ายก็จะทำให้เข้าใจว่าทุกคนควรจัดการการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ไม่ต้องฝากไว้ที่ศูนย์กลาง และไม่ใช่การเรียนรู้เชิงวิชาการอย่างเดียว ซึ่งพวกเรารู้สึกว่า BICT Fest เองก็มีเป้าหมายเดียวกัน จึงยินดีที่ได้ทำงานร่วมกัน ส่วนการทำงานในโปรเจกท์ DanceCraze 2021 : A Swiss-Thai Collaborationซึ่งเปิดโอกาสให้ได้ร่วมงานกับต่างชาติก็ทำให้พวกเราได้เห็นกระบวนการที่ต่างออกไป ปกติกิ่งก้านใบก็จะใช้กระบวนการละคร แต่งานที่ทำร่วมกับ BICT Fest เป็นงานเต้น ก็เป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้ รู้สึกว่าการทำงานกับทีมนานาชาติทำให้มีความเป็นสากล และทำให้งานมีพลังมากขึ้น ถ้าศิลปินมาได้น่าจะสนุกยิ่งขึ้นไปอีก”
พลังของความร่วมมือกันครั้งนี้นอกจากจะน่าทึ่งแล้ว ยังเผยให้สังคมได้เห็นศักยภาพของกลุ่มศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ สนุกและอบอวลไปด้วยสีสัน รวมถึงต้นทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นอันแข็งแกร่ง ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ใน เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ 2564 ระหว่างวันที่ 5-14 พฤศจิกายนนี้ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ www.bictfest.com