อาลัย "บุญช่วย หิรัญวิทย์" ช่างฝีมือผู้สร้างตำนานเครื่องเงินล้านนา
นับเป็นข่าวเศร้าของวงการประณีตศิลป์ เมื่อ “บุญช่วย หิรัญวิทย์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช 2557 ช่างฝีมือผู้สร้างตำนานเครื่องเงินแห่งล้านนา ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.)ได้เปิดเผยว่า วงการงานช่างฝีมือด้านเครื่องเงินของภาคเหนือสุดเศร้า เมื่อได้รับรายงานว่า "บุญช่วย หิรัญวิทย์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์) พุทธศักราช 2557 ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 04.00 น. ที่บ้านพักเลขที่ 37/1 บ้านประตูปล่อง ถนนเปรมประชาราษฎร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สิริรวมอายุ 88 ปี
นายชาย เปิดเผยอีกว่า นอกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนแล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิต เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท และขอพระราชทานเพลิงศพให้ ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ
ซึ่งจะมีกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพดังนี้ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2564 เวลา 20.00 น. ณ วัดสวนตาล ถนนมหายศ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โดยมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 น. ณ เมรุวัดสวนตาล จังหวัดน่าน
สำหรับประวัติ "บุญช่วย หิรัญวิทย์" เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ที่จังหวัดน่าน ฝึกหัดทำเครื่องเงินจากครูช่างโบราณหลายคนในหมู่บ้านประตูปล่อง จนสามารถประกอบอาชีพได้ สามารถอนุรักษ์ลายพื้นถิ่น อีกทั้งยังคิดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ และเป็นที่ยอมรับแพร่หลายต่อ ๆ มา คือ ลายดอกกระถิน และยังได้พัฒนารูปแบบเครื่องเงินในอีกหลายรูปแบบ นายบุญช่วย มีความอดทนพากเพียร สร้างผลงานเป็นอาชีพ จนประสบความสำเร็จและเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาตลอดต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 60 ปี
นอกจากนี้ ยังเป็นครูถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนตลอดเวลา ได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องมาตลอดชีวิต จัดแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณถึง 25 รางวัล ตลอดระยะเวลาของการเป็นช่างฝีมือด้านเครื่องเงิน ผลงานนับได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งเดียวของจังหวัดน่าน ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและพัฒนาต่อเนื่องมาตลอดเวลา จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์) พุทธศักราช 2557