อาลัยศิลปินแห่งชาติ "ประยอม ซองทอง" กวีร้อยกรองแห่งยุค เสียชีวิตในวัย 87 ปี
นับเป็นข่าวเศร้าของวงการนักเขียนไทย ที่ได้สูญเสีย "อ.ประยอม ซองทอง" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2548 ไปด้วยโรคปอดอักเสบ ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2564 สิริรวมอายุได้ 87 ปี
ล่าสุด "นายชาย นครชัย" อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า วงการวรรณกรรมและนักเขียนของประเทศไทยสุดเศร้า เมื่อได้รับรายงานว่า "อ.ประยอม ซองทอง" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2548 ได้ถึงแก่กรรมด้วยเนื่องจากปอดอักเสบ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2564 เวลา 17.49 น. ณโรงพยาบาลศิครินทร์ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุ 87ปี โดยทายาทได้แจ้งกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ ดังนี้ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2564 เวลา 17:30น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ 12-18 ธันวาคม 2564 เวลา 18:00น. ณ ศาลา 6 (ชวลิตธำรง) วัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 100 วัน และสวธ.จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
นอกจากนั้นอธิบดีสวธ. ยังบอกอีกว่า นอกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ นอกจากดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ แล้ว ยังมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท และขอพระราชทานเพลิงศพให้ ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ
สำหรับประวัติโดยสังเขป "อ.ประยอม ซองทอง" เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2477 ที่จังหวัดนครพนม เป็นผู้ที่มีความสนใจและประทับใจกับคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองของไทย มาตั้งแต่เยาว์วัย ประยอม ซองทอง ได้แสดงความสามารถพิเศษด้านการประพันธ์ร้อยกรองอย่างโดดเด่นเมื่อครั้งเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเขียนร้อยกรองที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการของกวีที่อ่อนหวานและสะเทือนอารมณ์ ขณะเดียวกันก็แฝงความคิดเห็นต่อสภาพสังคมและเหตุการณ์บ้านเมืองไว้อย่างคมคาย ร้างผลงานเป็นอาชีพจนประสบความสำเร็จและเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาตลอดต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 60 ปี
"อ.ประยอม ซองทอง" ทุ่มเทเวลาในชีวิตให้กับการฝึกฝนเขียนคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองอย่างเอาใจใส่จริงจังลุ่มหลงกับเสน่ห์ภาษาในบทร้อยกรองที่ไพเราะงดงาม ผลงานจึงปรากฏสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนักกลอนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป ผลงานที่เป็นที่กล่าวขวัญและจดจำกันของนิสิตนักศึกษาและประชาชนในช่วงนั้น ได้แก่ “จะอยู่ไปไย...ถ้า..” “เพื่อและจาก...เพื่อนใจ” “ธารทอง” “ชีวิตเราถ้าเหมือนเรือ” “ไหนศรัทธาอันยืนยง” “กว่าโลกร้อง” และ “หิ่งห้อย” เป็นต้น ซึ่งนับเป็นบทร้อยกรองที่งดงาม แฝงจินตนาการและสะท้อนความผูกพันของชีวิตกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ความคิดความฝันประยอม ซองทอง หลั่งไหลมาต่อเนื่องยาวนาน
ปัจจุบันมีบทร้อยกรองที่เป็นวัฒนธรรมไว้มากมายทั้งจากการรวมเล่มเฉพาะของตนและรวมกับนักกลอนร่วมสมัยทุกทุกชุดล้วนมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ บ่งบอกถึงความเป็นอัจฉริยะทางด้านการประพันธ์ ทั้งยังเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ สนับสนุนและส่งเสริมให้กำลังใจผู้สนใจการเขียนคำประพันธ์รุ่นหลังอย่างสม่ำเสมอ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้คิดริเริ่มและประสานงานในการจัดตั้งกลุ่มนักกลอนร่วมสมัยเป็น "ชมรมนักกลอน" ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางการจัดตั้งชมรมวรรณศิลป์ทั้งในสถาบันและนอกสถาบันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และสืบทอดการแสดงสักวาอย่างแน่วแน่มั่นคงมากว่า 4 ทศวรรษ นายประยอม ซองทอง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2548