"3 ตำนานความรักอมตะ" จากเรื่องจริงที่ถูกฉายในเจอเงิน-จอแก้ว ควรดูสักครั้ง
เทศกาลวันแห่งความรัก เป็นอีกวันที่คนมีคู่ หรือ กำลังมีคู่จะได้ส่งมอบความรู้สึกดี ๆ ให้กัน "คมชัดลึก บันเทิง" จึงขอหยิบเรื่องราวความรักที่เป็นตำนานในเมืองไทย มาบอกเล่ากับ "3 ตำนานความรัก " ที่ถูกหยิบมาถ่ายทอดผ่านงานในวงการบันเทิง ซึ่งแต่ละเรื่อต้องชมให้ได้สักครั้ง
"14 กุมภาพันธ์วันวาเลนไทน์" ซึ่งเป็นเทศกาลวันแห่งความรักที่คนทั่วโลกนั้น จะส่งมอบความรู้สึกดี ให้กับหวานใจของตัวเอง แม้ว่าวัฒนธรรรมดังกล่าวนั้นจะไม่ได้เป็นของคนไทยเอง แต่ก็มีอิทธิพลต่อคนมีคู่บ้านเราพอสมควร ทีจะส่งมอบสิ่งดี ๆ ให้แก่คนที่เรารัก ทีมข่าวก็ขอให้คนมีคู่ และคนมีความรักทุกคนได้สุขสมหวังในวันพิเศษแบบนี้ วันนี้ทีม "ข่าวคมชัดลึก บันเทิง" จึงขอหยิบเรื่องราวความรักที่เป็นตำนานในเมืองไทย มาบอกเล่ากันกับ "3 ตำนานรัก" ที่ถูกหยิบมาถ่ายทอดผ่านผลงานในวงการบันเทิง ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นคอหนัง คอละครต้องชมให้ได้สักครั้ง
เริ่มที่ตำนานความรักย่านพระโขนง ที่เรื่องราวนั้นยังคงถูกกล่าวขานจนถึงทุกวันนี้ กับความรักของ "แม่นาค พระโขนง" ที่มีต่อสามี "พี่มาก" ผู้ไปเห็นทหารเกณฑ์ การเฝ้ารอชายที่รักแม้ว่าตนจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ทำให้เรื่องราวเล่านี้ถูกเล่าขานถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น พลิกสู่เรื่องราวความเฮี้ยนที่คนรุ่นก่อนบอกต่อ ๆ มา และนำไปสู่ผลงานภาพยนตร์ ละครเวที ละครโทรทัศน์ ที่ถูกหยิบมาสร้างใหม่ เล่าใหม่กี่เวอร์ชั่นก็ยังตรึงใจผู้ชมอย่างต่อเนื่อง อย่างภาพยนตร์เรื่อง "นางนากพระโขนง" ฉบับปี 2542 ก็สร้างกระแสตอบรับได้อย่างมาก ยังมีเส้นเรื่องอย่าง "พี่มาก...พระโขนง" ที่เรื่องนี้ก็กวาดรายได้นับ 1000 ล้านเลยทีเดียว
ในขณะที่ปัจจุบันนี้เรื่องราวของ "แม่นาค พระโขนง" นำไปสู่ความเชื่อเกี่ยวกับ "ย่านาค แห่งวัดมหาบุศย์ (แม่นาคพระโขนง)" ที่มีคนศรัทธาในหลากหลายเรื่องราว
ถัดมาอีกหนึ่งเรื่องคือ "ตำนานรักรันทด" ซึ่งเกิดขึ้นที่สะพานสารสิน ซึ่งนับเป็นตำนานรักที่สะเทือนใจเรื่องหนึ่ง เมื่อหนุ่มสาวที่ต่างฐานะถูกขัดขวางเส้นทางรัก และถูกต่อต้านจากพ่อแม่ของตัวเองทั้งสองฝ่าย จึงตัดสินใจใช้ผ้าขาวม้าผูกมัดตัวติดกัน กระโดดจากสะพานลงสู่สายน้ำที่เชี่ยวกราก เอาท้องทะเลเป็นสุสานรัก ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2516 แต่ถึงอย่างนั้น สุดท้ายแล้วเมื่อใช้ชีวิตแลกกับการพิสูจน์ความรักที่คนรอบข้างไม่เห็นด้วย ร่างของคู่รักก็ถูกนำมาทำพิธีทางศาสนาร่วมกันที่ วัดท่าฉัตรชัย ทำให้คิดกันว่า หากพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายยอมรับแบบนี้มาตั้งแต่ต้น โศกนาฏกรรมครั้งนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
โดยตำนานความรักที่ก่อให้เกิดความเศร้าครั้งนี้ได้ถูกหยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2530 และ ในปี 2541 สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำมาทำเป็นละคร ซึ่งมีการหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้งในงานหนังจากฝีมือ "เอกชัย ศรีวิชัย"
ปิดท้ายที่อีกหนึ่งตำนานความรัก "โลงคู่ วัดหัวลำโพง" ที่ต้องย้อนความไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2510 หนังสือพิมพ์สื่อใหญ่ได้พาดหัวข่าว โศกนาฏกรรมรักของคู่รักคู่หนึ่ง ที่โชคชะตากำหนดให้เกิดมาอยู่ในเพศเดียวกัน เรื่องจริงของ "ประโนตย์" ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ผู้หลงใหลในการแสดงละครและรักตัว "สีดา" เมื่อโตขึ้นและมีความรักครั้งแรกแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเธอได้เปิดใจรับรักอีกครั้งกับ "ชีพ" แต่ความหึงหวงและกะเกณฑ์ทุกอย่างของ "ประโนตย์" ทำให้ทะเลาะกับ "ชีพ" ทำให้ "ชีพ"ต้องออกจากบ้านไป
ก่อนจะรู้ความจริงหลายอย่างทำให้"ประโนตย์"เสียใจมาก นำไปสู่โศกนาฏกรรม หลังจากทราบข่าวร้าย และได้บวชให้ "ประโนตย์" ตัว "ชีพ" ได้สึกออกมาแะลเขียนจดหมายสั่งเสียว่า "..ศพของเขาให้เอาไว้ที่วัดหัวลำโพงคู่กับศพของโนต" ต่อมา ชีพ ก็กินยาฆ่าแมลงและเสียชีวิตเมื่อตอนเที่ยงวันที่ 15 พฤษภาคม 2510 (เดือน – ปีเดียวกัน)
ตำนานความรักเรื่องนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "สีดา ตำนานรักโลงคู่" ที่เคยเข้าชิงในภาพยนตร์ไทย ยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลคมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 17 ด้วย ซึ่งก่อนนั้น "แจ้ - ดนุพล แก้วกาญจน์" ตัดสินใจหยิบยกเรื่องราวนี้มอบให้ "ครูน้อย สุรพล โทณะวณิก" ช่วยถ่ายทอดเป็นบทเพลงในปี 2532 ในบทเพลง "สีดา"