ลูกชาย "วิทยา ศุภพรโอภาส" แถลงข่าวสุดช็อก เผยมีภาวะปอดฉีกก่อนเสียชีวิต
จากกรณีการเสียชีวิตของ "วิทยา ศุภพรโอภาส" ที่ลูกชายออกมาเผยว่าคุณพ่อไม่ได้จากไปด้วยโรคมะเร็งปอด ทำเอาหลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
สำหรับการเสียชีวิตของ "วิทยา ศุภพรโอภาส" นักจัดรายการวิทยุ พิธีกร และผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ลูกชายอย่าง "เป้ ศุภวิทย์" ได้ออกมาพูดหลังเกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคุณพ่อของตน "สาเหตุการเสียชีวิตของคุณพ่อไม่ได้เกิดจากโรคมะเร็งปอด แต่สาเหตุของการเสียชีวิตคือสมองตาย โดยเกิดจากการช่วยเหลือที่ผิดพลาดล่าช้าและบกพร่องเรื่องอุปกรณ์ ซึ่งนับตั้งแต่ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวทางเฟซบุ๊ก และมีสื่อนำเสนอข่าว ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลที่ทำการรักษา"
นอกจากนี้ลูกสาวของ "วิทยา ศุภพรโอภาส" ก็ยังออกมาเคลื่อนไหวถึงเรื่องนี้ด้วยว่า
วันที่2/4/65 คุณพ่อเข้ารับการผ่าตัด ด้วยความสดใส แข็งแรง และพร้อมมากในการเข้ารับการผ่าตัด
บ่ายวันที่3/4/65 ผ่าตัดออกมาเรียบร้อย ตื่นขึ้นมาแล้วและ นอนดูอาการหลังผ่าตัดในห้อง ICU
เช้ามืดวันที่4/4/65 ได้รับแจ้งว่าคุณพ่ออาการโคม่าไม่ได้สติ ไม่รู้สึกตัว (เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้) หลังจากนั้นคุณหมอบอกว่าคุณพ่อ สมองตาย
จนถึงวันที่18/4/65 ท่านได้จากครอบครัวไปอย่างสงบ
ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นของวันนี้ (28 เมษายน 2565) เป้ ศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส ได้แถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของคุณพ่อ วิทยา ศุภพรโอภาส นักจัดรายการชื่อดัง ที่วัดราชวรินทร์ พร้อมด้วย เป็ด เชิญยิ้ม-ดร.ธัญญา โพธิ์วิจิตร, นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และ นายธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โดยยืนยันว่าคุณพ่อไม่ได้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง พร้อมบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเข้ารับการรักษาตัวของคุณพ่อว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คุณพ่อตรวจพบพบมะเร็งลำไส้ขั้นที่ 1 ได้ทำการรักษาตัวผ่าตัดและให้คีโมที่โรงพยาบาลนึง การรักษาผ่านไปได้ด้วยดี มีการตรวจเช็คอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตรวจเลือด ค่ามะเร็ง ส่องกล้องก็ไม่มีพบว่ามะเร็ง จนครั้งสุดท้ายเมื่อ เดือนกรกฎาคม ปี64 ก็ไม่พบค่าเลือดว่ามีมะเร็ง จนเดือน กันยายน ปี64 คุณพ่อมีอาการไอ มีเลือดติดออกมากับเสมหะ อาการไอเป็นปกติเพราะใช้เสียงและเสียงดัง เลยไปตรวจ หมอวินิจฉัยว่ากล่องเสียงอักเสบ ที่มีเลือดเพราะไอเยอะเกินไป กล่องเสียงเป็นแผล แค่นั้นเอง แต่เพื่อความชัวร์ หมอเลยแนะนำเช็คปอดด้วยเลย ไปเอ็กซ์เรย์ปอดก็เจอจุดก้อนมะเร็งเล็กๆ ที่ปอดทั้ง 2 ข้าง ก็ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ทำการวางแผนการรักษา
คุณพ่อไม่เคยเจ็บป่วยจากมะเร็งตรงนี้ เจอด้วยความบังเอิญ ก็วางแผนการรักษากับทีมโรงพยาบาลเดิม วิธีการรักษาคือให้คีโมมา 8 ครั้ง ตลอด 8 เดือน จนถึง กุมภาพันธ์ ปี65 ให้คีโมครบ 8 ครั้งแล้ว หมอแนะนำว่ามะเร็งฝ่อไปแล้ว ถ้าให้หายขาดคือต้องผ่าตัดเฉือนก้อนเนื้อเล็กๆ ที่เหลืออยู่ออก เพื่อให้หายขาดอยู่ได้อีก 10 ปี เราก็ตกลงตามนั้นทำตามแผน จนกลางเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา จะเข้ารับการผ่าตัดก็มีการเตรียมตัวตรวจสุขภาพ เทสต์เลือด เทสต์ทุกอย่าง เข้าโรงพยาบาลทั้งสัปดาห์ก่อนผ่าตัด ผลออกมาว่าพ่อพร้อมสามารถผ่าตัดได้เลยทำการผ่าตัด
วันที่ 3 เมษายน ตอน 8 โมงเช้า ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 5 ชม. ผมก็รอฟังอยู่ตลอด จนประมาณช่วงบ่าย 3 ได้รับโทรศัพท์จากญาติที่เป็นหมอ เพราะในห้องไอซียูผมไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ จากมาตราการโควิด ต้องรอย้ายเข้าห้องพักฟื้นถึงเข้าได้ ตอนบ่าย 3 ญาติที่เป็นหมอเข้าเยี่ยม พ่อก็ฟื้นสามารถทักทายกันได้ดี เราสบายใจว่าพ่อปลอดภัย ก็เลยกลับบ้าน รอไปเจอพ่อในอีกวัน
ตี 3 คืนเดียวกัน โรงพยาบาลโทรมากลางดึกว่าคุณพ่ออาการไม่ดี รีบมาด่วน เราก็รีบไปโรงพยาบาล ไปถึงตอนประมาณตี 4 ภาพที่เห็นมีทีมแพทย์พยายามช่วยชีวิตคุณพ่อในไอซียู จนมีแพทย์ท่านนึงเดินมาบอกผมแนะนำตัวว่า ท่านมาจาก อีกโรงพยาบาลหนึ่ง บอกว่าตอนนี้พ่อเกิดวิกฤติ มีเลือดออกจากปอด หายใจเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ หรือเครื่องเอคโม่ ที่ขอยืมมาจากจุฬาฯ และจะพาไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลจุฬาฯ
7 โมงเช้า โทรเรียกว่าเครื่องเอคโม่มาถึงแล้ว จะใส่เครื่องนี้แล้วพาพ่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาฯ รอปฎิบัติการไปจน 10 โมง ทีมแพทย์มาอีกชุดนึง ทำการเริ่มใส่อุปกรณ์และส่งไป โรงพยาบาลจุฬาฯ ถึงตอนเที่ยง เข้าไอซียู ผมก็นั่งรอยังไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น
จนบ่าย 2 คุณหมอที่ไปรับคุณพ่อมาบอกว่าอาการคงที่แล้ว ปอดและหัวใจคงที่ และเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง สรุปสั้นๆ ก่อนว่าเมื่อคืนคุณพ่อมี อาการหายใจลำบาก ทางไอซียูโรงพยาบาลแรกได้ทำการสอดเครื่องช่วยหายใจเข้าไป แต่ปอดเพิ่งได้รับการผ่าตัดมาทั้ง 2 ข้าง เครื่องช่วยหายใจอัดลมเข้าไปทำให้ปอดแตกมีเลือดออกมา ปอดทำงานไม่ได้เต็มที่ ทำให้อ็อกซิเจนไปเลี้ยงสมองคุณพ่อไม่เพียงพอ แต่พอใส่เครื่องเอคโม่จากจุฬาฯ อาการดีขึ้นตามลำดับ แต่มีเรื่องเป็นห่วง 2 ข้อคือ 1 จะไม่ฟื้นอีกเพราะสมองขาดอ็อกซิเจนนานในระหว่างการช่วยชีวิต และ 2 อาจจะต้องตัดแขนซ้ายพ่อทิ้ง เนื่องจากระหว่างการช่วยเหลือมีการใส่อุปกรณ์ทำให้เลือดไปไหลเวียนไม่ได้ ทำให้มือตาย ถ้าพ่อรอดได้ต้องตัดแขนทิ้ง ก็ให้รอดู 48 ชม. ว่าอาการจะเป็นยังไงบ้าง
ซึ่งพอฟังก็ได้ถามหมอไปว่า ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในไอซียูของโรงพยาบาลจุฬาฯ จะเป็นแบบนี้ไหม หมอบอกคงไม่เป็นแบบนี้เพราะมีอุปการณ์ครบ อันนี้คือเบื้องต้น ผ่านไป 48 ชม ผมก็รอไปว่าน่าจะมีปาฏิหาริย์ ทำให้พ่อตื่นขึ้นมาได้จะตัดแขนก็ไม่เป็นไร รอไป 3-4 วันได้รับการคอนเฟิร์มทีมแพทย์จุฬาฯ ว่าสมองตายเพราะเสียหาย เราก็รอไปอีก 2 สัปดาห์ จนเช้าวันที่ 18 เมษา คุณพ่อก็หมดลมไปเอง ผมมาทบทวนว่าคุณพ่อเสียชีวิตไม่ปกติ คุณพ่อไม่ได้เสียชีวิตเพราะการผ่าตัด คุณพ่อฟื้นแล้วหลังจากนั้น มันก็มีประเด็นนึงที่ผมและครอบครัวสงสัย
1. การประเมินของทีมแพทย์ผ่าตัดว่าผ่าตัดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างอ่ะถูกต้องไหม คุณพ่อดูแข็งแรง แต่จริงๆ คุณพ่อก็ 72 แล้ว ทำไมต้องตัดพร้อมกันทั้งสองข้าง และเตรียมความพร้อมหลังผ่าตัดไว้แค่ไหน สำหรับรองรับผู้ป่วย
2. หลังผ่าตัดคุณพ่อฟื้นแล้ว แล้วเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นทำไมถึงวิกฤติขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในไอซียู เกิดเหตุบกพร่องอะไรในการช่วยชีวิต
3. การช่วยชีวิตคุณพ่อในห้องไอซียู การใช้เครื่องช่วยหายใจจนแผลการผ่าตัดของพ่อ ปอดฉีกออกมา มีเลือดออก ทำถูกต้องหรือเปล่า น่าจะต้องรู้ว่าปอดเสียหายจากการผ่าตัดแล้ว จนทำให้สมองขาดอ็อกซิเจน จนวิกฤติ
4. เมื่อคุณพ่อเข้าสู่อาการโคม่าจนวิกฤติแล้ว ต้องใช้เครื่องเอคโม่ต้องขอยืมจากโรงพยาบาลจุฬาฯ มา กว่าจะมาถึงใช้เวลาประมาณ 3 ชม. กว่า เหตุใดไม่มีการเตรียมเครื่องนี้ไว้ตั้งแต่แรก การยืมเครื่อง เครื่องเดินทางมาช้าไปหรือเปล่า ถ้าโรงพยาบาลรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเครื่องนี้คนไข้ผ่าตัดปอดประเมินว่าต้องใช้เพื่อป้องกันเหตุร้ายแรงที่สุด ถ้าไม่มีโรงพยาบาลควรผ่าตัดพ่อที่นั่นหรือเปล่า
หลังคุณพ่อเสียชีวิตลงทางโรงพยาบาลได้เรียกผมและครอบครัวเข้าไปพูดคุยแสดงความเสียใจที่เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธการรับผิดชอบทั้งหมดโดยอ้างว่าได้ทำตามขั้นตอนมาตราฐานเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว ผมได้ทำการชันสูตรพลิกศพคุณพ่อเพื่อต้องการหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและจะพิจารณาดำเนินการทางกฏหมายต่อไป
ทางด้าน นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ก็ได้ยืนยันว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวหาว่าโรงพยาบาลที่ให้การรักษาว่าทำให้เสียชีวิต เพียงแต่นำข้อมูลทั้งหมดมาบอก ส่วนถ้าโรงพยาบาลให้ตำตอบมาแล้ว ก็ต้องดูว่าทางครอบครัวของวิทยาจะยอมรับหรือไม่อย่างไร ส่วนถ้าการแถลงข่าวครั้งนี้ทำให้โรงพยาบาลเกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียง นายธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ก็ว่า นี่เป็นการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการกล่าวหาโรงพยาบาลและทีมแพทย์ "เป็นข้อสงสัยที่มีเหตุผล เพราะมีข้อมูลบางอย่างทางการแพทย์ที่ครอบครัวได้มา ผมมองกลับกันว่า การที่เรามาพูดวันนี้ ถ้าโรงพยาบาลตั้งใจจะแก้ปัญหา โรงพยาบาลแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ผมว่าโรงพยาบาลกลับได้นะ" เรื่องถ้าจะมีการฟ้องกลับ นายธงชัยก็ว่า ในมุมของตน มองว่าโรงพยาบาลน่าจะเป็นมืออาชีพในเรื่องนี้มากกว่า