เอ๊ะยังไง DSI เผย ผลชันสูตรไม่ได้ระบุแผล "แตงโม" โดนใบพัดเรือ ขัดกับตำรวจ
ยังไม่จบ!! เมื่อวานนี้ (29 เมษายน 65) "อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์" หรือ "อัจฉริยะ" ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เดินทางไปที่กระทรวงยุติธรรมเพื่อยื่นหลักฐานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดี "แตงโม" เป็นคดีพิเศษ อ้างเป็นคดีฆาตกรรม หากไม่ใช่พร้อมถูกฟ้องกลับ
โดย "อัจฉริยะ" ได้นำหลักฐานที่ระบุว่าเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม "แตงโม" นิดา พัชระวีรพงษ์ นักแสดงสาวชื่อดัง วัย 38 ปี สาเหตุเกิดจากบุคคลที่อยู่บนเรือสปีดโบ๊ท จนทำให้เสียชีวิต มามอบให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ และ ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่อยู่บนเรือ ต่อไป
รวมถึง "อัจฉริยะ" ยังได้นำภาพถ่ายที่ระบุว่าเป็นบาดแผลของบุคคลที่ถูกใบพัดเรือบาดเข้าที่ขา ซึ่งต่างจากหลักฐานที่ตำรวจภูธรภาค 1 นำมาแสดง รวมทั้งข้อสงสัยในหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจ ที่ไม่มีรอยนิ้วมือการจับขาของ "แซน วิศาพัช" ตามคำกล่าวอ้างว่า "แตงโม" มาจับขาก่อนตกเรือ ส่วนหลักฐานสำคัญคือทรายที่อยู่ในมือของ "แตงโม" และที่ตรวจพบในรองเท้าของบุคคลบนเรือ ก็เห็นว่าพนักงานสอบสวนไม่ให้ความสำคัญ รวมทั้งยังเชื่อว่าบาดแผลที่ต้นขาของ "แตงโม" เกิดจากของมีคม ไม่ใช่ใบพัดเรือ ยืนยันว่าหลักฐานที่นำมามอบให้กับกระทรวงยุติธรรมนั้น พร้อมที่จะยอมรับผลที่ตามมาหากไม่เป็นความจริง สามารถฟ้องร้องกลับได้ ส่วนกรณีที่ออกมาเคลื่อนไหวในคดีนี้เพื่ออยากให้ความยุติธรรมกับ "แตงโม" เชื่อว่า ดีเอสไอ (DSI) จะสามารถคลี่คลายคดีนี้ได้
ในขณะที่ด้าน ว่าที่ร้อยตรี "ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์" เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ได้พูดถึงคดี "แตงโม" ว่า "หลังจากได้รับหนังสือแล้วจะมอบให้ DSI ไปตรวจสอบและพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากยึดตามประเด็นที่ "อัจฉริยะ" ยื่นให้ตรวจสอบคดีฆาตกรรม ยังมีอายุความ 20 ปี หากพบว่ามีหลักฐานจริงตามที่ยื่นมา ทาง DSI ก็จะรับทำคดี ซึ่งหาก "แตงโม" เสียชีวิตจากการฆาตกรรม ก็จะต้องมีผู้ถูกดำเนินคดีตามข้อหาดังกล่าว
ส่วนร่องรอยบาดแผลของ "แตงโม" ตามที่ตำรวจภูธรภาค 1 สรุปก่อนส่งอัยการที่ระบุว่ามี 26 บาดแผลนั้น ขัดแย้งกับรายงานผลการตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ได้ชันสูตรศพรอบ 2 โดยรายงานของแพทย์ระบุว่ามี 22 บาดแผล ส่วนบาดแผลใหญ่ที่ต้นขา การตรวจของสถาบันฯ ไม่ได้ระบุถึงการถูกใบพัดเรือหรือไม่ แต่ระบุว่าเกิดจากวัตถุกึ่งมีคม และ เกิดก่อนเสียชีวิต เพราะทางสถาบันฯ มีอำนาจการตรวจเฉพาะคำร้องขอจากญาติ และเป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งของการตรวจพิสูจน์เท่านั้น ส่วนพนักงานสอบสวนจะนำไปประกอบสำนวนหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ"
ภาพจาก Thai PBS News / ข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ