บันเทิง

พระราชทานเพลิงศพ "ต้อย เศรษฐา" ความดีงาม คงอยู่ตลอดกาล

พระราชทานเพลิงศพ "ต้อย เศรษฐา" ความดีงาม คงอยู่ตลอดกาล

05 มิ.ย. 2565

ภาพบรรยากาศเต็มไปด้วยความอาลัย ในช่วงบ่ายก่อนงานพระราชทานเพลิงศพ นายเศรษฐา ศิระฉายา (จ.ภ., บ.ม.) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๕

โดยเมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. มีกิจกรรมไว้อาลัยจากศิลปินชื่อดังในวงการมากมาย อาทิ เท่ห์-อุเทน พรหมมินทร์ เพลงจูบฟ้าลาดิน, วิยะดา โกมารกุล ณ นคร เพลงสกุณา, ฮาร์ท-สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล เพลงชื่นรัก, จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว เพลงเริงทะเล, ก้อย&เกี้ย เพลง The end of the world, สปาย เพลงคีรีบูนบิน, บี-พีรพัฒน์ เถรว่อง เพลงเหมือนเคย , สุชาติชวางกูร เพลงระเริงชล, ปิง-กัณพล ปรีดามาโนช เพลงงัวหาย, ชมพู-สุทธิพงษ์ วัฒนจัง เพลงโอ้รัก, นันทิดา แก้วบัวสาย เพลงวิมานดิน, สุดา ชื่นบาน เพลงค่าของคน, วินัย พันธุรักษ์&แดง-พิชัย ทองเนียม พร้อม อ.วิรัช อยู่ถาวร เพลงทะเลไม่เคยหลับ, หนาวเนื้อ, Medley the lettermen และพิเศษสุดบุตรสาวอี๊ฟ-พุทธธิดา ศิระฉายา มาในเพลงหัวใจเหิรและ มีบุญ- ด.ช. ศักดาพร  ศิระฉายา หลานชายสุดที่รัก มาโชว์ในเพลงเป็นไปไม่ได้

นายเศรษฐา ศิระฉายา เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2487 ปัจจุบันมีอายุ 77 ปี เป็นบุตรของนายบุญรอดและนางสมจิตต์ศิระฉายา นายเศรษฐาเป็นบุตรคนกลางในจำนวน พี่น้อง 3 คน โดยมีพี่สาว1คนและน้องสาว1คน เนื่องจากบิดาเสียชีวิตในขณะที่ยังอยู่ในวัยเด็กทำให้ไม่ได้มีโอกาสศึกษาต่อหลังจากจบการศึกษามัธยมต้นจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ  

 

เศรษฐา ศิระฉายา เริ่มเข้าทำงานในวงดนตรีตามคำชักชวนของ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ อดีตพระเอกภาพยนตร์ชื่อดังผู้เป็นน้าชาย ตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยความมานะ  และมีพรสวรรค์ในด้านดนตรี  ทำให้ เศรษฐา เรียนรู้ทักษะทางดนตรีด้วยวิธีครูพักลักจำ  จึงทำให้สามารถเล่นดนตรีได้ จนก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องและได้มีโอกาสร้องตามสถานบันเทิงต่างๆ ในปี2509 ได้ร่วมวงกับปราจีน ทรงเผ่า และยงยุทธ มีแสง เล่นประจำที่อุบลราชธานี  หาดใหญ่ โคราช ตามแคมป์ทหารอเมริกัน ช่วงสงครามเวียดนาม หลังจากนั้นเข้ากรุงเทพฯตั้งวงหลุยส์กีต้าร์เกิร์ลกับเพื่อน เล่นประจำบาร์ย่านสะพานควาย ต่อมาได้รวมตัวกับวินัย พันธุรักษ์, พิชัย ทองเนียม, อนุสรณ์ พัฒนกุลและสุเมธ อินทรสูต เพื่อนนักดนตรีตั้งวง Holiday J-3 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Joint Reaction และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ดิอิมพอสซิเบิ้ลส์ (The Impossibles) โดย เศรษฐา รับหน้าที่เป็นนักร้องนำ 

 

พระราชทานเพลิงศพ \"ต้อย เศรษฐา\" ความดีงาม คงอยู่ตลอดกาล

 

 

ในปี 2512 ครูเพลง นริศ ทรัพย์ประภา ได้แนะนำให้ไปสมัครประกวดเข้าร่วมแข่งขันวงดนตรีสตริงคอมโบชิงถ้วยพระราชทาน ที่จัดขึ้นครั้งแรกโดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยวงดิอิมพอสซิเบิ้ลส์ได้คว้ารางวัลชนะเลิศ ส่งผลให้เป็นที่รู้จัก และเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เศรษฐาได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสวงการภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อ เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้เข้ามาทาบทามให้วงดิอิมพอสซิเบิ้ลส์มาร่วมบรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน (2513) จากนั้นวงดิอิมพอสซิเบิ้ลส์ได้เข้าร่วมการประกวดวงสตริงคอมโบอีกสองครั้ง และชนะการประกวดติดต่อกันทั้งสองครั้ง 

 

เศรษฐา ศิระฉายา สามารถนำวงชนะเลิศถ้วยพระราชทาน 3 ปีซ้อน จึงได้ถ้วยพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์   ต่อมาได้มีโอกาสบรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง อาทิ ดวง (2514) สวนสน (2514) ระเริงชล (2515) ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) ฯลฯ รวมทั้งการออกอัลบั้มเพลง ในรูปแบบแผ่นเสียงคือชุด “เป็นไปไม่ได้”  และชุด “หมื่นไมล์แค่ใจเอื้อม”  ใน  

 

ขณะเดียวกันก็เล่นประจำอยู่ที่ อิมพอสซิเบิ้ลส์ คาเฟ่ ทุกคืนมีผู้ชมจำนวนมาก เข้าแถวเพื่อจองโต๊ะก่อนจะเปิด เป็นแถวยาวตลอดถนน ทำให้ชื่อของวง The Impossibles โด่งดังถึงต่างประเทศ กระทั่งได้รับการติดต่อ ให้เดินทางไปเปิดการแสดงที่ฮาวาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการได้ไปเล่นดนตรีประจำที่ฮาวายในบาร์ ฮาวายเอี้ยน ฮัท อยู่ในอะลาโมน่า โฮเต็ล เป็นบาร์ที่ใหญ่มากของฮอลโนลูลู เล่นจนครบปี ได้รับรางวัลGolden Boy Awards ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับวงดนตรีสามารถทำสถิติ Break Records ทำเงินมากที่สุดตั้งแต่กิจการเปิดมา เมื่อหมดสัญญาที่ฮาวายในเดือนสิงหาคม2516 ได้เดินทางกลับเมืองไทย The Impossibles ได้แสดง ณ เดอะเดนไนท์คลับ โรงแรมอินทรา ประตูน้ำ และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการเข้าชมการแสดงโดยมีการเก็บค่าบัตรเข้าชมนับว่าเป็นครั้งแรกในเมืองไทยและวงดนตรีคนไทย

 

เศรษฐา ศิระฉายา ได้เดินทางไปพร้อมกับวง The Impossibles ในยุโรปหลายประเทศ อาทิ สวิสเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ฟินแลนด์, สแกนดิเนเวีย  สวีเดน เป็นต้น ปี 2518 ได้กลับไปตระเวนแสดงในยุโรปครั้งที่ 2 และได้บันทึกเสียงเพลงสากลเป็นครั้งแรก ในชื่ออัลบั้ม Hot Pepper เป็นเพลงแต่งใหม่ 5 เพลง เพลงสากลที่เป็นที่รู้จัก 4 เพลง และเพลงบรรเลงอีก 1 เพลง อัลบั้มชุดนี้บันทึกเสียงที่เมือง Gothenberg Sweden ในระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2518 โดยมี โปรดิวเซอร์ชื่อ Jan Jin Gryd เป็นชาวสวีเดน

 

หลังกลับมาจากทัวร์การแสดงดนตรีที่ต่างประเทศ เศรษฐาได้รับการชักชวนจาก จุรี โอศิริ ให้มาแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกในเรื่อง ฝ้ายแกมแพร (2518) และได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาครอง จากนั้น เศรษฐา ศิระฉายา ได้เดินทางไป กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน กับ วง The Impossibles  เปิดการแสดงที่โรงแรมมาเจสติค ช่วงเดือน มิถุนายน –กันยายน 2519 

 

หลังกลับมาเมืองไทย ในเดือนตุลาคม 2519 ได้เปิดการแสดงที่ทอปเปอร์คลับ โรงแรม  แมนฮัตตัน ตึกนายเลิศ และที่เดอะฟ็อกซ์ ชั้นใต้ดินศูนย์การค้าเพลินจิต ก่อนที่จะหยุดทำการแสดงอย่างเป็นการถาวรในนาม The Impossibles ในปี2521 เศรษฐา ศิระฉายา ได้บันทึกแผ่นเสียงให้กับ บริษัท เมโทร แผ่นเสียง จำนวน 11 เพลง เป็นเพลงใหม่ 10เพลงส่วนอีก 1 เพลงเป็นการเมดเล่ย์เพลงจากภาพยนตร์ 4 เพลงคือ ชื่นรัก ลำนำรัก หนาวเนื้อ และโอ้รัก ภายหลังบริษัทเมโทรได้นำออกจำหน่ายในชื่อชุด “ผมไม่วุ่น”

 

หลังประกาศยุบวงอย่างเป็นทางการ เศรษฐาจึงก้าวเข้าวงการบันเทิงเต็มตัว ทั้งการแสดงภาพยนตร์ และโทรทัศน์ จนได้แสดงภาพยนตร์คู่กับ คุณอรัญญา นามวงษ์ เรื่อง “ชื่นรัก” และแต่งงานกันในปี 2522   มีบุตรสาว 1 คน คือ น้องอี๊ฟ-พุทธธิดา ศิระฉายา เป็นโซ่ทองคล้องใจกันมาจนถึงทุกวันนี้  นับแต่นั้นมา เศรษฐา ศิระฉายา ได้แสดงในภาพยนตร์ติดต่อกันมากว่า 100 เรื่อง นับเป็นดารายอดฝีมือที่สามารถรับบทบาทได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบทดี บทร้าย บทตลก ส่งผลให้มีผลงานโด่งดังเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ชมออกมามากมาย

 

จากความสามารถในบทบาทการแสดง เศรษฐา ศิระฉายา ได้รับการชักชวนจาก พันเอกพยุง ฉันทะศาสตร์โกศลเจ้าของรัชฟิล์ม ให้รับหน้าที่เป็นผู้กำกับละครให้กับค่ายรัชฟิล์มและได้กำกับละครอีกหลายสิบเรื่องนับแต่นั้นมา

 

ในช่วงที่รายการเกมส์โชว์เข้ามามีบทบาทบนจอทีวี  เศรษฐา ศิระฉายา ได้รับหน้าที่พิธีกรรายการ “มาตามนัด” คู่กับคุณญาณี จงวิสุทธิ์  รายการมาตามนัดเป็นรายการที่ได้รับความนิยมมากมาย เนื่องจากความสามารถของพิธีกรที่สามารถ ให้ความสนุกสนานกับผู้ชม สามารถพูดได้ว่า ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครไม่รู้จักรายการมาตามนัด เศรษฐา ศิระฉายา ประสบความสำเร็จในฐานะพิธีกร ได้รับรางวัลในฐานะพิธีกรชายยอดเยี่ยมจากรายการนี้ และยังมีผลงานพิธีกรที่โด่งดังตามมา อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นรายการประเภทเกมส์โชว์ วาไรตี้ รายการเด็ก ทอล์คโชว์ หรือแม้แต่รายการเรียลลิตี้ที่โด่งดังมากอย่าง อคาเดมี แฟนเตเชีย หรือ เอเอฟ ที่รู้จักกันดี และยังได้รับรางวัลในการ เป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นอีกด้วย

 

ด้วยความรักในศิลปะการแสดง และความไม่หยุดนิ่งกับความคิดสร้างสรรค์ของ  เศรษฐา     ศิระฉายา ได้หันมาผลิตรายการโทรทัศน์ โดยเริ่มจากรายการ ดวงกับดาว รับหน้าที่ผู้จัดและพิธีกร ควบคู่กันไป รายการ “ดวงกับดาว” ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะเกมโชว์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2537 นอกจากนี้ยังผลิตรายการเพื่อสังคมโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของธุรกิจ  โดยผลิตรายการสำหรับเยาวชนเป็นรายการเฉพาะเด็ก  ทำหน้าที่พิธีกรร่วมกับบุตรสาว พุทธธิดาศิระฉายาในรายการ “แบบ..เด็กเด็ก” ส่งผลได้รับรางวัลจาก ฯพณฯนายกรัฐมนตรีนาย ชวน หลีกภัย

 

นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมกับสมาชิกรายการ ”แบบ... เด็ก เด็ก”  รวมรวมปัจจัย 4 และเงิน นำไปมอบให้สถานสงเคราะห์เด็ก พิการและทุพพลภาพ ปากเกร็ด มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก สถานสงเคราะห์คนชราย่านบางแคตลอดการผลิตรายการ

 

จากความสามารถที่มากมายของ  เศรษฐา  ศิระฉายา ทั้งด้านการแสดงและการกำกับทั้งละครและภาพยนตร์ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้เป็นผู้จัดละคร ด้วยความรักและเชิดชูในศิลปวัฒนธรรมของไทย เศรษฐา  ศิระฉายา จึงเลือกที่จะผลิตละครโดยเน้นบทประพันธ์จากเรื่องใน วรรณคดี  ละครพื้นบ้านเพื่อให้ผู้ชมได้รับประโยชน์และปลูกฝังให้เยาวชนหันมารักและเรียนรู้ความเป็นไทย โดยสวนกระแสละครในช่วงเวลาที่ตลาดผู้ชมกำลังชื่นชอบละครรัก ริษยา ชิงดีชิงเด่น อาฆาตแค้น แต่อย่างไรก็ตามละครของ เศรษฐา ศิระฉายา ก็ได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างมากมาย อาทิ  ขุนช้างชุนแผน สังข์ทอง อิเหนา พระอภัยมณี  เทพอัศวิน  โสนน้อยเรือนงาม และอีกมากมาย 

 

ผลงานสร้างชื่อเรื่องสุดท้ายของ เศรษฐา ศิระฉายา คือละครเรื่อง “ร้อยป่า” ที่ได้รับความไว้วางใจจากช่อง 7HD ให้เป็นผู้จัดละคร เป็นละครสะท้อนสังคมและปลุกจิตสำนึกเรื่องการรักป่าไม้ ที่สามารถทำเรตติ้งสูงสุดในปี 2563 รวมทั้งยังมีละครที่กำลังอยู่ในการผลิต และใกล้ออกอากาศ อย่างเรื่อง “สายเลือดสองหัวใจ” ที่เศรษฐา ศิระฉายา ฝากผลงานไว้อีกด้วย

 

หลายปีที่ผ่านมาเศรษฐา ศิระฉายาได้กลับมาทำหน้าที่นักร้องนำของวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ลส์อีกครั้งเพื่อกลับมามอบความสุขให้กับแฟนเพลง และได้กลับมาร้องเพลงที่ตัวเองรัก มีการจัดคอนเสิร์ตตลอดหลายปีที่ผ่านมามากมายนับแต่ปี2544 อาทิ

-Legend of the Impossibles, -Music & Moment with the Impossibles,

-The Immotal The IMPOSSIBLES -An Unforgettables Valentine Concert

-เพราะไม่มีเหตุผล -Love Song is FOREVER

-Me & My Family -จากวันนั้นถึงวันนี้เพราะมีคุณ

-70ยังแจ๋ว - Music Never Dies by เศรษฐา ศิระฉายา

-50th IMPOSSIBLES -The End of The Im เป็นต้น

 

คอนเสิร์ตในแต่ละครั้งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและอบอุ่นจากแฟนเพลงเสมอ นอกจากนี้ยังมีคอนเสิร์ตการกุศลอีกมากมายที่เศรษฐา ศิระฉายาทั้งไปรับเชิญ และเป็นแกนนำในการจัดงานเพื่อนับเงินไปมอบการกุศลและสร้างสาธารณะประโยชน์ อาทิ Lake of Love, SAF 1-2, มั่วคอนเสิร์ต, น้ำมากแค่ไหน..ไม่ท่วมน้ำใจเรา ฯลฯ ในช่วงนี้เองทำให้เศรษฐา ได้ทำอัลบั้มเพลงออกมาอีก 2 ชุด อัลบั้ม 4 ครูเพลง “จากวันนั้น..ถึงวันนี้เพราะมีคุณ” และอัลบั้ม “บอกรักด้วยเพลง” ช่วงสุดท้ายของชีวิต เศรษฐา ศิระฉายา ยังคงคิดถึงการร้องเพลงและหวังที่จะหายจากอาการเจ็บป่วยเพื่อที่จะกลับมาจัดคอนเสิร์ตให้แฟนๆอีกสักครั้ง แต่น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้น

 

นอกจากเรื่องงานแล้ว เศรษฐา ศิระฉายา เป็นพุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธาและเลื่อมไสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากมาโดยตลอด เป็นผู้ศึกษาธรรมะ ทำวัตร สวดมนต์อย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตนเป็นพุทธบริษัทที่ดี (กิจกรรมทางศาสนาไม่เคยขาด) และมีความปิติที่ตนได้อุปสมบท ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ 

 

เรื่องการศึกษา ด้วยเพราะเป็นคนที่รักและใฝ่ในการเรียนรู้ จึงได้ลงเรียนกศน. (ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน)จนจบการศึกษามัธยมปลาย และสมัครเข้าเรียนปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ภาคพิเศษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อด้วยปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และจบด้วยปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จนสำเร็จเป็น ด็อกเตอร์ สูงสุดในชีวิตการศึกษาของตนเอง

 

เศรษฐา ศิระฉายา เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่องานสาธารณะกุศลเพื่อประโยชน์ต่อวงการนักแสดง นักร้อง นักดนตรี รวมถึงเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ในบทบาทของประธานมูลนิธิสวัสดิการนักแสดงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบัน 

 

เป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ง.ภ.) ปี 2552 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยชั้น 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) ปี 2555 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.) และในปี 2553 ได้รับรางวัลพระราชทานบันเทิงเทิดธรรม ในปี 2554 ได้รับรางวัลการเชิดชูบุคคล ทางด้านผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ และ เศรษฐา ศิระฉายา ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี 2554 

 

และถึงแม้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและสร้างสรรค์งานมากมาย เศรษฐา ก็ยังเป็นบิดาและสามีที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวและชีวิตส่วนตัวมาโดยตลอด ทำหน้าที่สามี และพ่อที่ดีจนได้รับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติในปี พ.ศ. 2560 ถือเป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิตคู่และชีวิตครอบครัวที่ได้รับการยกย่องจากคนทั่วไปให้เป็นครอบครัวตัวอย่างนอกจากนี้ยังเป็นเพื่อนที่ดี พี่ที่ดี น้องที่ดี อาที่ดี ลุงที่ดี และแม้แต่ศิษย์ที่ดี ของญาติมิตรทั้งในวงการบันเทิงและนอกวงการบันเทิงมาโดยตลอด ทำให้เศรษฐา ศิระฉายา เป็นที่รักที่เคารพชองทุกคนที่ได้พบเห็น ได้รู้จัก และได้ร่วมงานเสมอมา

 

เศรษฐา ศิระฉายา เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์2565 เวลา 04.41 น. สิริรวมอายุ 77 ปี

 

พระราชทานเพลิงศพ \"ต้อย เศรษฐา\" ความดีงาม คงอยู่ตลอดกาล

 

พระราชทานเพลิงศพ \"ต้อย เศรษฐา\" ความดีงาม คงอยู่ตลอดกาล

 

พระราชทานเพลิงศพ \"ต้อย เศรษฐา\" ความดีงาม คงอยู่ตลอดกาล

 

พระราชทานเพลิงศพ \"ต้อย เศรษฐา\" ความดีงาม คงอยู่ตลอดกาล

 

พระราชทานเพลิงศพ \"ต้อย เศรษฐา\" ความดีงาม คงอยู่ตลอดกาล