ไม่ธรรมดา เปิดเบื้องหลังการทำหนังสั้น "Merman" ที่สุดหินของ "ทราย สก๊อต"
กว่าจะถ่ายทำเสร็จบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับ หนังสั้น "Merman" ของ "ทราย สก๊อต" นักอนุรักษ์ทะเลไทย ชายหนุ่มไฟแรง ที่ได้หยิบเอาเรื่องราวของ "มนุษย์ มีสิทธิ์ ที่จะดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตทุกชนิดก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่อยากให้ใครละเมิดสิทธิ์ ก็ไม่ควรละเมิดคนอื่น"
หนังสั้น "Merman" / เมื่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ใต้ท้องทะเลไทย กำลังถูกคุกคามและทรมานจากฝีมืออันโหดร้ายของมนุษย์ จากสาเหตุที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศษขยะและพลาสติกในทะเลที่คร่าชีวิตปลาไปจำนวนมากในแต่ละปี หรือการลากอวนที่รุกล้ำแหล่งที่อยู่อาศัย และเพาะพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ใต้ทะล ถูกลืมเลือนและมองว่าไม่สำคัญโดยมุนษย์อย่างเราที่กำลังเป็นผู้กระทำ หรือ "ฆาตรกร" โดยไม่รู้ตัว
"ทราย สก๊อต" นักอนุรักษ์ทะเลไทย ชายหนุ่มไฟแรง หยิบเอาปัญหาเหล่านี้มาถ่ายทอด เพื่อสื่อสารให้ทุกคนได้ตระหนักและเห็นถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้น ผ่านหนังสั้น "Merman" หรือ "Merman, Ocean Pollution Film" หนังสั้นเชิงอนุรักษ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจริงใต้ท้องทะเลโดยมี "ทราย สก๊อต" รับบทเป็น "มนุษย์เงือก" ซึ่งเป็นนักแสดงนำของเรื่อง
ฉากทุกฉากเป็นฉากที่เกิดขึ้นจริง ถ่ายใต้ท้องทะเลลึกจริง ไม่ใช่ในสระว่ายน้ำ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เอฟเฟ็กต์สร้างขึ้น และทุกวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในหนังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นหนังสั้นเชิง อนุรักษ์ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ถ่ายทำจนถึงออกมาเป็นหนังเลยก็ว่าได้
ละเอียดและใส่ใจทุกขั้นตอนการถ่ายทำ ต้องไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม?
"ทราย สก๊อต" เสริมว่า "ทรายต้องการสร้างหนังสั้นเชิงอนุรักษ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาจริงๆ ขณะเดียวกันตอนสร้างหนังก็ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ทำหนังอนุรักษ์แต่สุดท้ายทำร้ายทะเล แบบนี้ทรายก็ไม่เอาครับ วัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความคงทนและทนทานต่อกระแสน้ำลึกใต้ทะเล จะต้องไม่หลุดลุ่ยเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ไม่แตกกระจายออกเป็นไมโครพลาสติกในทะเลที่อาจเสี่ยงทำให้ปลากลืนกินจนเสียชีวิตได้ ถึงแม้ทรายและทีมงานจะมีความรู้ความเข้าใจในงานอนุรักษ์ทางทะเล แต่เพื่อความมั่นใจว่าตัวเราเองจะไม่ประมาททำให้ระบบนิเวศผิดเพี้ยนหรือพังตอนถ่ายทำ ทรายมีเจ้าหน้าที่ทางทะเลที่มีความรู้และดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะที่ให้คำแนะนำและคอยตักเตือนทรายและทีมงานทุกคน ดำน้ำลงไปดูแลตลอดระยะเวลาการถ่ายทำครับ"
ความท้าทาย 4 ชั่วโมงในหางเงือก ที่ทำให้ ‘มนุษย์เงือก’ คล้ายเงือกมากที่สุด?
การอยู่ใต้ท้องทะเลลึกด้วยระยะเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงในชุดหางเงือกและยังต้องถ่วงน้ำหนักขาเพิ่มอีกหลายกิโลกรัม คือเรื่องท้าทายมาก ทรายจะต้องว่ายออกมาให้เหมือน "มนุษย์เงือก" มากที่สุด มีความพริ้วไหวเหมือนปลา และมีความรู้สึกว่าทะเลคือบ้านของทรายจริง ๆ ขณะเดียวกันความปลอดภัยคือเรื่องสำคัญ ทำให้ไม่ค่อยมีใครถ่ายทำใต้ทะเลลึกกันจริง ๆ เพราะต้องอาศัยทักษะการดำน้ำที่เชี่ยวชาญ ในการถ่ายทำครั้งนี้ทรายมีเจ้าหน้าที่ Safety อยู่ใต้น้ำกับทรายหลายคน ทุกครั้งเวลาถ่ายหนึ่งฉาก ทรายจะต้องหายใจจากถังอ๊อกซิเจนฉุกเฉินของคนที่หนึ่งเพื่อว่ายไปถ่ายทำ พอคัตทรายต้องว่ายไปหา Safety อีกคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เพื่อหายใจจากถังอ๊อกซิเจนฉุกเฉินของของเขา ขณะเดียวกันทรายก็ต้องรักษาระดับการดำน้ำของทรายไปด้วย เป็นเรื่องที่ยากมากครับ เพราะไม่ใช่ว่าทรายจะว่ายน้ำไปทางไหนอย่างไรก็ได้ ยิ่งเมื่อมีการหายใจจากถังอ๊อกซิเจนใต้น้ำ ถ้าคุณอ๊อกซิเจนหมดและเกิดตกใจ การว่ายน้ำขึ้นผิวน้ำกระทันหันเพื่อหายใจอาจทำให้ปอดคุณแตกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากครับ กว่าที่ทรายจะได้ถ่ายหนังเรื่องนี้ทรายต้องเข้าเรียนหลักสูตรการดำน้ำและฝึกซ้อมเยอะมาก รวมถึงหลักสูตรที่สอนเรื่องการช่วยเหลือชีวิตด้วยครับ
ความพิเศษของหางเงือกที่ทำให้ ‘มนุษย์เงือก’ สมจริงมากที่สุด?
ปัจจัยที่ทำให้การถ่ายทำยากที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องหางเงือก เพราะนอกจากเป็นตัวชูเรื่องแล้ว ในแง่ของการแสดงก็คือ ตัวถ่วงการว่ายน้ำที่ทำให้ทรายว่ายน้ำได้ยากมาก และที่สำคัญคือต้องถ่ายออกมาให้สมจริงมากที่สุด
ภราดร เกตุรัตน์ (หัวหน้าทีมดีไซเนอร์ผู้ผลิตและออกแบบหางเงือกหนังสั้น Merman) เผยว่า จากโจทย์ของคุณทรายที่ต้องการหางเงือกที่มีทั้งความสวยงาม ทนทาน สมจริงในทุก ๆ ฉาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ขั้นตอนการผลิตจึงซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากกว่าปกติ อันดับแรกเราเลือกใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการวางแผน ออกแบบ และคำนวณปริมาณความยาวของผ้าที่ต้องใช้ รวมถึงวัสดุต่างๆ เพื่อให้การผลิตออกมาคุ้มค่าและเหลือเศษผ้าให้น้อยที่สุด
เพื่อความสมจริงของทุกฉาก เราผลิตหางเงือกทั้งหมด 3 หาง แต่ละหางใช้ในฉากที่แตกต่างกันออกทุก ๆ หางต้องมีความคงทนและทนทานอย่างมากเมื่ออยู่ใต้ทะเลลึก ไม่หลุดลุ่ยเป็นเศษเล็ก ๆ ในทะเล ดังนั้นกระบวนการตัดเย็บจึงไม่สามารถทำเหมือนการเย็บทั่วไป เราเลือกใช้วิธีบัดกรีในการตัดชิ้นส่วนทั้งหมดและทาขอบด้วยน้ำยาเคลือบเล็บอีกทีหนึ่งเพื่อทำให้ไม่มีเศษอะไรตกลงไปในทะเลได้ ถ้าหลุดต้องหลุดเป็นชิ้นใหญ่ที่ตามองเห็น สามารถว่ายน้ำไปเก็บได้
หางแรก จะเป็นหางที่มีความสวยงามมากที่สุด สีเข้ม คมชัด มีความเปล่งประกาย มีความวาว และพริ้วไหวเหมือนหางเงือก เราเลือกใช้เป็นผ้า Organza ที่มีความโปร่งแสง มีการผสม Material ที่เป็นพลาสติกรีไซ
เคิล มีความสะท้อนแสงอย่างพลาสติกห่อหนังสือ พลาสติกโฮโลแกรม จะทำให้ดูเหมือนเกล็ดปลา จะใช้ในหางส่วนแรก ดูเป็นหางที่มีชีวิตและมีความเปล่งประกายของความสวยงาม
หางที่สอง เป็นหางที่มีความบอบช้ำจากการโดนเบ็ดเกี่ยว บางจุดมีลักษณะคล้ายคราบเลือด และรอยแผลสดที่เกิดขึ้น แต่เราไม่สามารถเอาเลือดหรือการผสมของเหลวแทนเลือดลงไปในทะเลได้ จึงมีการออกแบบชิ้นโลหะที่เอามาเกี่ยว และออกแบบการตัดเย็บให้ดูเหมือนเป็นรอยแผลสดจริง ๆ
และหางที่สาม สำหรับฉากที่มนุษย์เงือกกำลังจมน้ำตาย สีของหางจะซีดและค่อย ๆ เฟดมากกว่าอีกสองหางแรก เป็นหางที่มีขยะและเศษอวนติดที่หาง ทรายเลือกใช้เป็นเศษอวนและขยะจริง ๆ ในทะเลที่พบเจอเก็บและส่งให้ดีไซเนอร์เอาไปเย็บติดกับหางเงือก หางนี้เป็นหางที่หนักมากครับ เพราะรวมน้ำหนักหางและน้ำหนักขยะ เศษอวนที่ติดหาง รวม ๆ แล้วก็เกือบ 10 โลเลยครับ
นอกจากทักษะการดำน้ำและความพิเศษของหางเงือกแล้ว ทีมงานและทีม Safety เป็นสิ่งที่สำคัญตลอดระยะเวลาการถ่ายทำอย่างมากครับ ทรายต้องเชื่อใจและไว้ใจให้เขาดูแลตอนที่อยู่ใต้น้ำ และทีมงานเองก็ต้องไว้ใจนักแสดงในการแสดงบทของเขา และด้วยความทุ่มเทของ ทราย สก๊อต และทีมงานทั้งหมด จนทำให้เกิดเป็นหนังสั้นเรื่อง Merman ที่พูดได้เต็มปากว่า นี่คือหนั้งสั้นเชิงอนุรักษ์ของจริง ไม่ฉาบฉวย! ที่ห้ามพลาดรับชมเด็ดขาด!
รับชม "Merman, Ocean Pollution Film" หนังสั้นอนุรักษ์ เรื่องจริงของทะเล โดยมนุษย์เงือก "ทราย สก๊อต" ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=CpWRbpqnQk8