ไม่น่าเชื่อ "JSL" รายได้รวมปี 64 หดตัว ขาดทุนเพิ่มขึ้น 155% เป็นเงิน 200 ล้าน
จากกรณีที่ บริษัท "JSL" ได้ร่อนจดหมายชี้แจงเรื่องการยุติการดำเนินงานบางส่วนของบริษัท หลังดำเนินกิจการมานานกว่า 43 ปี ก็ทำเอาหลายคนตกใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนไปดูผลประกอบการก็พบว่า "JSL" มีการขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี โดยมีรายงานจากเพจ brandinside ว่า บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด หรือ JSL ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ของไทย แจ้งรายได้รวมปี 2564 เหลือแค่ 198 ล้านบาท ลดลง 44% จากปีก่อน และน้อยกว่าช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดที่เคยมีรายได้รวมกว่า 400 ล้านบาท ทั้งยังขาดทุนสุทธิ 57 ล้านบาท มากกว่าปีก่อน 155%
โดยหากอ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด หรือ JSL แจ้งรายได้รวมของบริษัทประจำปี 2564 ลดลง 44.11% เหลือ 198 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 57 ล้านบาท มากกว่าปีก่อน 155% ซึ่งรายได้รวม และจำนวนขาดทุนสุทธิดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 ทั้งนี้ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด ภาพรวมรายได้ของ JSL หดตัวอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาเติบโตได้ โดยช่วงก่อนโรคโควิดระบาด หรือนับตั้งแต่ปี 2562 ลงไป ทางบริษัทแจ้งรายได้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามากกว่า 400 ล้านบาทมาโดยตลอด แต่รวม 7 ปีล่าสุดแจ้งขาดทุนสุทธิสะสมถึง 188 ล้านบาท
อ้างอิงจากข้อมูลเว็บไซต์ของ JSL พบว่า บริษัทเคลมตัวเองเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ของไทย รวมถึงเป็นอีเวนต์ออกาไนเซอร์ และผู้ผลิตสื่อโฆษณาให้กับแบรนด์ต่าง ๆ โดยบริษัทนี้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2522 เริ่มต้นจากการรับผลิตรายการโทรทัศน์ให้กับสถานีกองทัพบกช่อง 5 และเริ่มทยอยรับผลิตรายการให้กับช่องอื่น ๆ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่การประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2556 ทาง JSL คือหนึ่งในผู้ได้ประโยชน์ เพราะมีช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ ติดต่อให้ไปผลิตรายการ แต่นั่นเป็นเหมือนดาบสองคมที่ทำให้ JSL ต้องลงทุนต่อเนื่อง และสุดท้ายมีบางช่องทีวีดิจิทัลปิดตัว และทำผลประกอบการไม่ได้ดังหวัง ทำให้ JSL ต้องปรับตัวไปสร้างรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ
หากดูรายการโทรทัศน์ที่ JSL ผลิตมาในระยะหลังพบว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เช่น กิ๊กดู๋สงครามเพลง ที่ช่อง PPTV (เดิมอยู่ช่อง 7) ที่เทียบเรตติ้งกับช่องเดิมนั้นยังห่างกันมาก อาจมีเพียง เจาะใจ รายการเก่าแก่ของค่ายที่ยังมีแฟนคลับ และยืนระยะอยู่ได้ยาวนานผ่านการเริ่มต้นเทปแรกเมื่อปี 2534 กลายเป็นปัญหาของธุรกิจผู้รับผลิตรายการที่ก่อนหน้านี้เหมือนจะเป็นเสือนอนกิน เพราะเกิดช่องทีวีดิจิทัลจำนวนมาก ก็คงมีโอกาสหลั่งไหลเข้ามา แต่จริง ๆ แล้วสุดท้ายไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อต้องทุ่มทุนมหาศาลเพื่อผลิตรายการมากกว่าเดิม แต่ผลประกอบการของช่องทีวีดิจิทัลต่าง ๆ กลับไม่ดีเหมือนอย่างที่คาด จนสุดท้าย JSL และผู้ผลิตรายการรายอื่น ๆ ต่างประสบภาวะขาดทุน และต้องหาธุรกิจใหม่ ๆ มาจุนเจือรายได้