บันเทิง

มองผ่านเลนส์คม - บางระจัน 2

มองผ่านเลนส์คม - บางระจัน 2

26 มี.ค. 2553

"คุณปื๊ด" ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับหนังเรื่อง "บางระจัน 2" บอกในรายการ "แมงโก้ ทอล์ก" ทางเนชั่น แชนแนล วันก่อนว่า ที่ทำหนังฉายในช่วงนี้ เพราะอยากให้คนไทยนึกถึงบรรพชนที่สละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อผืนแผ่นดิน...

 เขาใช้สิ่งที่ถนัดเป็นสื่อให้คนหันมาฉุกคิดว่า ทำไมเราต้องรักกัน! 
 หากไม่นับข้าศึกเผ่ากรุงศรีฯ อย่างพม่าแล้ว เขาฝังความเป็นแดง-เหลืองไว้ที่นักรบ 2 ฝ่าย

 ฝ่ายหนึ่งเป็นนักสู้ชาวบ้าน ที่ทิ้งจอบทิ้งเสียม มาถือดาวถือขวาน เป็นนักรบผ้าประเจียด ที่มีหัวหน้าคือ "นายมั่น" แสดงโดย "คุณบอล" ภราดร ศรีชาพันธุ์ นักเทนนิสมือวางอันดับ 9 ของโลก และอีกฝ่ายคือ พระยาสิงหราช หรือ พระยาเหล็ก สวมบทโดย "คุณนก" ฉัตรชัย เปล่งพานิช

 ถึงจะเป็นคนไทยด้วยกัน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดยืนต่างกันคนละขั้ว

 นายมั่น ฆ่าพม่าเพื่อช่วยเหลือเชลยคนไทย และปล้นสดมเพื่อนำเสบียงมาไว้กินไว้ใช้ในชุม

 ขณะที่ พระยาเหล็ก รบเพื่อหน้าที่...หน้าที่ของทหารที่ต้องปกป้องรักษาประเทศ
      
 แรกนั้น แม้ว่าชาวบ้านจะช่วยเหลือเหล่าทหาร ที่เพลี้ยงพล้ำจากฝ่ายพม่า ทว่าต่อมา กลับขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์กันเอง

 กระทั่ง หลวงพ่อธรรมโชติ พระดีแห่งค่ายบางระจัน ต้องออกมาปรามว่า เป็นคนไทยด้วยกัน แล้วทำไมมาทะเลาะกันเอง ทำไมไม่ร่วมกันสู้กับศัตรูที่แท้จริง คือคนที่รุกรานประเทศ 

 นี่คือสิ่งที่คุณปื้ดพยายามปลุกตำนานการต่อสู้ของคนยุคกรุงศรีอยุธยาในห้วงยามนี้

 และแม้ในท้ายที่สุด จะไม่มีความช่วยเหลือจากอยุธยา และไม่มีปาฏิหาริย์จากฟ้า แต่ชาวบ้านเพียงไม่กี่ร้อยคน ก็ยังยกดาบขึ้นโห่ร้องก่อนเข้าประจันบานกองทัพนับพันของพม่าอย่างฮึกเหิม

 ภาพของพวกเขาจะค่อยๆ หายไปจากจอ ทีละคน...ทีละคน จนเหลือเพียงความมืดดำ... แต่นั่นกลับแสดงถึงความมุ่งมั่น และพลังที่ไม่รู้จักหมดสิ้น เพราะวิญญาณของพวกเขาเชื่อว่าจะมีตัวตายตัวแทนเกิดขึ้นอีกไม่รู้กี่สิบกี่แสนคน

 หนังเรื่องนี้อาจไม่น่าพิสมัย สำหรับคนรักสงบ เพราะเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นฉากการสู้รบฆ่าฟัน

 หนังเรื่องนี้อาจดูโหดร้าย สำหรับคนที่ไม่เคยหยิบมีดมาเฉือนหมู
 และสำหรับคอหนังและนักวิจารณ์ หนังเรื่องนี้อาจทำได้ไม่ถูกใจนัก
 แต่สิ่งหนึ่งที่หนังพยายามทำ คือได้ส่งสารถึงคนดู เพื่อให้รู้ว่า...                
  “ดินทุกก้อน ต้นไม้ทุกต้น สายน้ำทุกสาย
  หล่อหลอมขึ้นมาจากเลือดและเนื้อของคนไทย
  จงรักษามันไว้ให้ดี”!

"นันทพร ไวศยะสุวรรณ์"