บันเทิง

สาระแน สิบล้อ

สาระแน สิบล้อ

01 เม.ย. 2553

ถ้าหนังตลกเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน หนังไทยกำลังผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกขั้น (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หนังตลกไทยพัฒนาไปสู่การยกระดับสติปัญญา มีรสนิยมที่หันไปเล่นกับมุกสูงกว่าสะดือ หรือไม่ใช้คำหยาบโลน รวมทั้งปฏิเสธที่จะนำส

  ไม่เพียงแค่วิธีการที่ “สาระแนสิบล้อ” ฉกฉวยจากจอแก้วมาใช้บนหน้าจอเงินที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว...หากแต่การลองของ ทดลองเล่น วิธีการร้อยเรียงมุกตลก เพื่อนำไปสู่การเล่าเรื่อง (เน้นว่าเป็นวิธีการร้อยเรียงเพื่อนำไปสู่เรื่องราว ไม่ใช่การเล่าเรื่อง) ของ “สาระแนสิบล้อ” นั้น ยังเป็นไปอย่างได้ผล การเดินทางในครึ่งเรื่องแรกถือว่าเยี่ยมเอามากๆ ทั้งในแง่การเล่นกับมุกใหม่ๆ (แต่เก่าเหลือเกินบนจอทีวี) และขยับขยายเรื่องราวไปในทางที่มันควรจะเป็น อันว่าด้วยการจับไอ้หนุ่มตุ๋มติ๋มชื่อ ‘เอก’ มาขัดเกลาให้ชายมาดแมน ด้วยการที่ผู้เป็นพ่อส่งมาให้เรียนรู้ชีวิตลูกผู้ชายกับผู้เป็นอาเจ้าของสมญานาม ‘เช ชวาลา’ คนขับรถบรรทุกสิบล้อ ที่มี ‘เช กูวารา’ เป็นไอดอล (ที่เราเห็นกันชินตา กับภาพชายเคราครึ้มสวมหมวกเบเร่ต์ สะบัดปลิวไปมาท้ายรถ) พร้อมคู่หู ‘อู๊ด’ กับ ‘แอ๊ด’ เด็กท้ายรถที่เขาเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก

 การผจญภัยของหนุ่มน้อยด้วยการร่วมทางไปกับอาๆ บนรถบรรทุกสิบล้อ เพื่อบ่มเพาะความเป็นชายชาตรีในช่วงครึ่งเรื่องแรกของหนังนั้น เป็นไปด้วยความสนุกสนานไม่น้อย ตั้งแต่ร่ำสุรา เคล้านารี หรือกระทั่งถูกชวนไป ‘ขึ้นครู’ ก่อนที่เจ้าหนูจะบังเอิญพบกับสาวห้าวแสนสวยพนักงานร้านสะดวกซื้อ ความเป็นชายภายในใจจึงถูกปลุกขึ้นมาเมื่อรู้ตัวว่า แอบรักหญิงสาวเข้าให้แล้ว ขณะเดียวกันผู้เป็นอา ก็มีความรักกับหญิงสาวขายบริการขาพิการ ที่ตัวเองนึกทึกทักเอาว่า ในอดีตเป็นคนขับรถชนเธอจนทำให้มีสภาพเป็นอย่างนี้ และตัดสินใจพาเธอร่วมเดินทางไปสู่ชีวิตใหม่พร้อมกัน ก่อนที่ทั้ง 5 ชีวิตบนรถบรรทุกสิบล้อ ทั้ง อา ’เช’ อู๊ด-แอ๊ด เอก และ ดาวสาวขายบริการ จะพบกับเหตุการณ์พลิกผันจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดในเวลาต่อมา

 ความพยายามลองเล่นกับวิธีการใหม่ๆ ของ “สาระแนสิบล้อ” (แม้จะเป็นรูปแบบเก่าๆ ที่รายการตลกทางทีวีใช้มาก่อนก็ตาม) ก็คือการปล่อยการแสดงบนจอดำเนินต่อไป แม้นักแสดงบางคนที่รอต่อบทอยู่ในฉาก จะเกิดอาการต่อมหลุด ไม่สามารถควบคุมอาการขำที่เกิดขึ้นจากมุกตลกที่เล่นกันแบบด้นสดของนักแสดงร่วมได้ เผลอปล่อยเสียงหัวเราะกลางจอ โดยไม่มีการคัท เทคใหม่ หรือถ่ายซ่อม ปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยต่อไป เท่าที่นักแสดงในฉากจะประคับประคอง ด้นเรื่องราวไปให้ถึงที่สุด

 แม้เรื่องราวไม่รื่นไหล มีอาการตะกุกตะกัก ติดขัดเล็กน้อยระหว่างเล่นมุก รับ-ส่ง ต่อกันของนักแสดง ที่บางคนเล่นนอกบท บางคนเล่นด้นสด จนทำให้บางคนตามมุกไม่ทันถึงขั้นกลั้นหัวเราะไม่อยู่ หากแต่ยังแถกสีข้างเพื่อให้ต่อเรื่องกันได้จบ หลายๆ ฉากใน “สาระแนสิบล้อ” คนดูได้เห็นมาริโอ เมาเร่อ ไม่สามารถหักห้ามใจกลั้นเสียงหัวเราะตัวเองเอาไว้ได้ เมื่อเห็นนักแสดงรุ่นพี่ปล่อยมุกกันกระจัดกระจาย (ที่เชื่อว่า หลายๆ มุกเล่นกันนอกบท) รวมทั้งนักแสดงคนอื่นๆ ทั้งเสนาหอย โก๊ะตี๋ หรือกระทั่ง เปิ้ล นาคร ที่หลายๆ ฉาก เขาเองกลับสะกดตัวเองไม่อยู่ เผลอหลุดออกมาหลายครั้ง...

 รูปแบบการปล่อยไหลให้เหตุการณ์ดำเนินไป อย่างข้างๆ คูๆ แบบนี้ เราเห็นกันบ่อยๆ ในรายการตลกบนหน้าจอทีวี จนกลายเป็นความคุ้นชินที่นักแสดงตลกมักใช้กัน ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันได้กลายเป็นมุกตลกอย่างหนึ่งไปแล้ว และเมื่อเหล่า ‘สาระแน’ ประสบความสำเร็จจากการนำรูปแบบของทีวีมาใช้ในหนัง “สาระแนห้าวเป้ง” มาถึง “สาระแนสิบล้อ” พวกเขาก็ทดลองนำวิธีการเล่นแบบ ‘มุกหลุดๆ’ มาใช้ในหนังบ้าง มันก็กลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ทำให้หนังสนุก และได้อรรถรสมากกว่าการรับ-ส่งมุกกันธรรมดา เช่น ที่เห็นในหนังตลกทั่วไป

 วิธีการใหม่ๆ อีกอย่าง (แต่คนทำหนังทั่วไปมักมองข้าม) คือการตัดต่อแบบ ‘Jump Cut’ หนังไม่สนใจที่จะเรียงคัท ลำดับช็อต หากแต่ให้ความสำคัญกับการเล่นมุกให้กระชับ ได้จังหวะรับ-ส่ง ชง-ตบ อย่างที่ต้องการ โดยไม่ใส่ใจกับความต่อเนื่อง-ไม่ต่อเนื่องที่เกิดขึ้น (ซึ่งวิธีการตัดต่อแบบนี้มักใช้ในหนังตัวอย่าง ที่ต้องอธิบายหรือโชว์จุดขายเพื่อกระตุ้นเร้าความสนใจของคนดูในเวลาอันจำกัด) “สาระแนสิบล้อ” ดูจะเล่นสนุกกันจนเลยเถิด ถึงขั้นเลอะเทอะ สะเปะสะปะ เมื่อช่วงครึ่งเรื่องหลัง หนังไปไกลกว่าแค่การผจญภัยไปบนรถบรรทุกสิบล้อ เมื่อตัวละครทั้งหมดไปพบเจอเข้ากับเหตุการณ์เขย่าขวัญ ตามด้วยการหักมุมไปมา จนโครงเรื่องบิดเบี้ยวจากเค้าเดิม ซึ่งกำลังไปได้สวยในครึ่งเรื่องแรก (แต่จะสนใจทำไมในเมื่อหนังให้ความสำคัญกับเล่น รับ-ส่ง มุก มากกว่าจะเดินไปตามเส้นเรื่อง ว่าด้วยการค้นหาตัวตนของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง) และอย่างที่บอกว่า หนังพยายามทดลองอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ทั้งวิธีการตัดต่อ การเล่นมุกบางอย่าง รวมไปถึงงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าเทคนิคซีจีฝีมือคนไทยนั้น ทำได้ไม่น้อยหน้าฮอลลีวู้ด (แม้การโชว์เทคนิคเปลี่ยนรูปร่างแบบในหนังทรานส์ฟอร์เมอร์ จะไปกันไม่ได้เลยกับตัวหนังก็ตาม)

 การใช้เพลง ‘ห้องสุดท้าย’ ของศิลปิน ‘เอ้’ รงค์ สุภารัตน์ มาเป็นเพลงธีมของเรื่อง ถือเป็นความโดดเด่นอีกอย่าง แม้เวลาจะผ่านเลยมากว่าสิบปี แต่ท่วงทำนองและเนื้อหาของเพลงๆ นี้ยังเข้ากันได้กับยุคสมัยปัจจุบัน เมโลดี้ที่ฟังดูล่องลอย เคว้งคว้าง ให้อารมณ์ลึกลับสอดคล้องกับคำร้องที่พูดถึงการตามหาหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีจุดจบอันน่าสะเทือนใจ ดนตรีที่ให้ความรู้สึกประหนึ่งเหมือนมีวงเครื่องสายมาบรรเลงอยู่ตรงหน้า พิสูจน์ความเหนือกาลเวลาของงานเพลงหลบเร้นอยู่ใต้หลืบ ที่วันหนึ่งคุณค่าของผลงานก็สะท้อนออกมาได้ในท้ายที่สุด เชื่อว่าหลายคนเมื่อดูหนังคงอยากหาเพลงต้นฉบับมาฟังกันอีกครั้งอย่างแน่นอน

ชื่อเรื่อง : สาระแนสิบล้อ
ผู้เขียนบท : กฤษณะ จิตรเนาวรัตน์, นฤบดี เวชกรรม
ผู้กำกับ : นฤบดี เวชกรรม
นักแสดง : นาคร ศิลาชัย, เกียรติศักดิ์ อุดมนาค, เจริญพร อ่อนละม้าย, มาริโอ เมาเรอร์, อารยา เอ ฮาเก็ต, วิลลี่ แมคอินทอช, พัทธ์ธีรา ศรุติพงศ์โภคิน
เรตติ้ง : น.13+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 1 เมษายน 2553

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"