
ความจำสั้น แต่รักฉันยาว
นี่คือหนังรักที่ลงตัวอีกเรื่องในรอบหลายปีนี้ครับ...
เป็นหนังที่แทบจะหารอยตำหนิไม่ได้เลยทีเดียว มีความสมบูรณ์ตั้งแต่เรื่องของ บท การแสดง องค์ประกอบศิลป์ งานกำกับภาพ ตัดต่อ ดนตรีประกอบ ฯลฯ
‘พล็อต’ วางน้ำหนักของตัวละครหลักทั้งสี่เอาไว้ดีมาก ตั้งแต่บทเกริ่นนำให้รู้จักตัวละคร โดยย้อนไปถึงความประทับใจในครั้งอดีตของ ‘เก่ง’ ที่มีต่อหญิงที่เขาแอบรัก...หนังเริ่มต้นด้วยการแนะนำความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เก่ง’ และ ‘โอม’ ในฐานะเพื่อนสนิท ซึ่งการปูพื้นมาตั้งแต่ต้นเรื่อง ให้เวลามาพูดถึงในช่วงกลางอีกเล็กน้อย ก็สามารถนำกลับมาใช้ในการคลี่คลายหาทางออกตอนท้ายเรื่องได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกันรายละเอียดต่างๆ ที่หนังใช้วิธีเล่าเรื่องแบบข้ามเวลา โดยที่ยังแสดงให้เห็นภาพความผูกพันระหว่างเพื่อน และสถานการณ์เหล่านั้นเองก็สามารถนำมาใช้เชื่อมต่อเพื่อเปิดตัวละครสำคัญอย่าง ‘ฝ้าย’ ได้อย่างแนบเนียนเพียงแค่ฉากงานเลี้ยงฉากเดียว และในเหตุการณ์ต่อเนื่องกันนั่นเอง บทหนังก็บอกเล่าลักษณะอุปนิสัยใจคอของตัวละครแต่ละคนไปในเวลาเดียวกัน...
เพียงแค่ไม่ถึง 5 นาที หนังก็สามารถอธิบายที่มาของเรื่องราว และมิติของตัวละครชุดแรกเอาไว้ได้เกือบจะครบถ้วน เพราะฉะนั้นหลังจากช่วงนี้ไป เราจึงไม่รู้สึกติดขัดหรือตะขิดตะขวงใจกับพฤติกรรมต่างๆ หรือการตัดสินใจของตัวละครทั้ง ‘เก่ง’ ‘ฝ้าย’ และ ‘โอม’ โดยเฉพาะความในใจที่ฝังแน่นอันเนื่องมาจากความรักเมื่อครั้งแรกรุ่นของพวกเขา ทั้งกับ ‘เก่ง’ และ ‘ฝ้าย’…
จากตัวละครชุดแรก หนังขยับนำคนดูไปรู้จักกับสองตัวละครสำคัญในเวลาต่อมาโดยไม่เยิ่นเย้อ บทหนังยอดเยี่ยมตรงที่สามารถเชื่อมรอยต่อ จากเรื่องราวของตัวละครชุดหนึ่ง (‘เก่ง’ ‘ฝ้าย’ ‘โอม’) ไปยังอีกชุดหนึ่งโดยไม่รู้สึกว่ากระโดดข้ามไปลอยๆ และทิ้งตัวละครจากซีเควนซ์ที่แล้วไปเฉยๆ เพราะในฉากระหว่างทางกลับบ้าน และถูกตำรวจจับเพราะเมาแล้วขับ บทหนังยังอุตส่าห์ทิ้งปม เจ้าหมา ‘สะพานลอย’ เพื่อให้ตัวละคร ‘เก่ง’ และ ‘ฝ้าย’ ได้กลับมาค่อยๆ ผูกสัมพันในฉากต่อไป...
ความเยี่ยมยอดในการลำดับเวลา เมื่อให้ ‘เก่ง’ ต้องบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการไปสอนคอมพิวเตอร์ให้กลุ่มผู้สูงอายุ ที่นอกจากแนะนำ ‘ป้าสมพิศ’ กับ ‘ลุงจำรัส’ คู่รักวัยดึกให้คนดูได้รู้จักแล้ว ยังสามารถเติมรายละเอียดความสัมพันธ์ของตัวละครชุดแรกไปพร้อมๆ กันได้อย่างกลมกลืน เราเห็นความรักกะหนุงกะหนิงระหว่าง ‘ป้า’ กับ ‘ลุง’ แล้ว ในเวลาเดียวกัน หนังก็ใช้อาการบาดเจ็บของเจ้าหมา ‘สะพานลอย’ เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เก่ง’ และ ‘ฝ้าย’ ไปในตัว...
เมื่อความรักรุ่นเล็กเริ่มจะไปได้สวย ความรักรุ่นใหญ่ที่กำลังสดใสกลับเจออุปสรรคเขาอย่างจัง บทหนังสลับขั้วหันมาให้น้ำหนักกับคู่ ‘ป้าสมพิศ’ กับ ‘ลุงจำรัส’ เมื่อลูกๆ ของ ‘ป้า’ กำลังจะย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา แต่ ‘ป้า’ ไม่อยากไปและต้องการใช้ชีวิตกับ ‘ลุง’…ถึงแม้บทหนังจะทิ้งน้ำหนักมายังคู่รักสูงวัยแค่ไหน แต่ก็ไม่หลงลืมที่จะกลับไปขมวดปมความสัมพันธ์ของคู่แรกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และลงเอยด้วยการพาทั้งสองคู่มาขยับขยายความสัมพันธ์ในสถานที่และห้วงเวลาเดียวกัน ปิดท้ายครึ่งเรื่องแรกของหนังได้อย่างลงตัว ก่อนที่ครึ่งเรื่องหลังของหนังจะเข้มข้น และถ่ายเทน้ำหนักจากความรักกุ๊กกิ๊กมาสู่เรื่องรักที่จริงจังและพูดถึงความสำคัญกับเรื่องของชีวิต(คู่)มากขึ้น
…เพียงแค่ครึ่งเรื่องแรก ‘การแสดง’ ของตัวละครทุกคน ล้วนเต็มไปด้วยสีสันและเสน่ห์เฉพาะตัวที่น่าจดจำ แม้กระทั่งบทสมทบของ ‘โอม’ หรือ ‘แจนไร’ ผู้ช่วยประจำคลินิกรักษาสัตว์ของ ‘เก่ง’ ไปจนถึง ‘ลูกชาย’ ของป้าสมพิศ แต่ละคนต่างมีพื้นที่ทางการแสดง ต่างรักษาอาณาเขตของบทบาท ไม่ล้ำเส้น ไม่ถดถอย ทั้งเสริมตัวละครอื่น และสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครของตัวเองได้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะรุ่นใหญ่อย่างคุณป้าศันสนีย์ วัฒนานุกุล นี่คือสุดยอดการแสดงที่ดารารุ่นเก่าโชว์ความเก๋าให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ดูกันเป็นขวัญตา (หลังจากได้เห็นคุณลุงสะอาด เปี่ยมพงษ์ศานต์ โชว์ความเนียนใน “ความสุขของกะทิ”, ได้เห็น ‘น้าตุ๊ก’ เดือนเต็ม สาลิตุลย์ ปล่อยฝีมือชนิดไม่มีออมใน “A Moment in June ณ ขณะรัก” และได้ยลอาสุเชาว์ พงษ์วิไล ใช้กึ๋นบวกหัวใจในการแสดงจากเรื่องเดียวกัน) ขณะเดียวกันเสน่ห์จากความเป็นธรรมชาติของ ญารินดา บุนนาค ก็ทำให้เราหลงรัก ‘ฝ้าย’ อย่างหัวปักหัวปำ
…หนังเลือกใช้ ‘ชมพู่มะเหมี่ยว’ เป็นสื่อรักของ ‘ป้า’ กับ ‘ลุง’ เพราะไม่เพียงสีสันชมพูอมแดงสดใส ที่ขับเน้นบรรยากาศในห้วงรักได้อย่างไม่หวานเลี่ยน (และอาจเชย) เหมือนดอกไม้สัญญลักษณ์แห่งความรักอย่างดอกกุหลาบแล้ว หนังยังช่วงชิงความได้เปรียบจากรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของไม้ผลชนิดนี้ ตรงที่ทุกส่วนประกอบของ ‘ชมพู่มะเหมี่ยว’ ไม่ว่าจะเป็นสีสันหรือรูปทรง สามารถนำมา ‘เล่น’ สำหรับสื่อถึงความรักได้อย่างแยบยล ทั้งฉากที่ ‘ลุงจำรัส’ เด็ดลูกชมพู่มาขอแต่งงานกับ ‘ป้า’ หากมองเผินๆ จะเห็นว่าผลของมันคล้ายกับรูปหัวใจ หรือฉากที่สองคู่รักนั่งกินอาหารใต้ต้นไม้ เมื่อกล้องจับภาพจากมุมสูงจะเห็นเกสรสีชมพูเข้ม ร่วงหล่นเต็มพื้นดูราวกับปูด้วยพรมแดง และแม้กระทั่งในฉากที่ ‘ลุง’ กับ ‘ป้า’ ต้องห่างกันไกล แต่ใจยัง ‘คลิก’ ถึงกัน ยอดอ่อนที่แทงช่อออกมาจากลำต้น สีชมพูอมเขียวสดใส ก็สื่อความหมายเป็นนัยว่า ‘ความรัก’ เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
การลำดับเรื่องราวในทุกๆ เหตุการณ์ของหนัง คล้ายๆ กับเป็น ‘Tempo’ ที่คล้องจองไปตามอารมณ์และบรรยากาศอย่างลื่นไหล มีการผ่อนหนักผ่อนเบา บีบคั้นและคลี่คลายได้อย่างลงตัว เหมือนท่วงทำนองเพลงที่แต่ละบีท แต่ละห้อง สอดรับและประสานกันอย่างกลมกลืน แม้แต่เพลง “จะได้ไม่ลืมกัน” ในตอนสุดท้ายยังชวนให้นั่งตรึงอยู่กับเก้าอี้แทบไม่อยากลุกไปไหน เพราะเกรงอาการหลงๆ ลืมๆ จะเกิดขึ้นกับความรู้สึกดีๆ ในหนังเรื่องนี้
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"
ชื่อเรื่อง : ความจำสั้น แต่รักฉันยาว / Best in Times
ผู้เขียนบท : อมราพร แผ่นดินทอง, นนตรา คุ้มวงศ์, วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์
ผู้กำกับ : ยงยุทธ ทองกองทุน
นักแสดง : อารักษ์ อมรศุภศิริ, ญารินดา บุนนาค, ศันสนีย์ วัฒนานุกูล, กฤษณ เศรษฐธำรงค์, เจมส์ อเล็กซานเดอร์ แม็กกี้, กันตพัฒน์ เพิ่มพูนพัชรสุข
วันที่เข้าฉาย : 5 มีนาคม 2552