ทำไม! ประชาชนเดือดร้อนต้องมาพึ่งคนดัง
มองอีกมุมกับปรากฏการณ์ที่คนดังในสังคม มีบทบาทสำคัญเป็นที่พึ่งของประชาชน "ทนายเจมส์ นิติธร และ แพรี่ ไพรวัลย์" คนดังจากวงการกฎหมายและสื่อ เผยมุมมองเรื่องควรระวังในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
เรียกได้ว่าเป็น 2 บุคคลชื่อดังที่มักจะมีกระแสอยู่ในโซเชียลอยู่เสมอ ทนายเจมส์ นิติธร และ แพรี่ ไพรวัลย์ โดยล่าสุดมาเปิดใจ ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องปรากฏการณ์ที่คนดังมีบทบาทสำคัญ
ตอนนี้คนเดือดร้อนกันเยอะมาก เห็นปรากฎการณ์อะไรบ้างกับข่าวคราวมากมายในช่วงที่ผ่านมา ?
ทนายเจมส์ : ผมเห็นถึงปรากฏการณ์อย่างหนึ่งก็คือ คนดัง ๆ ทั้งนั้นเลยที่ถูกดำเนินคดี ผมกำลังจะบอกว่ามันกำลังจะสะท้อนหรือเปล่าว่าคนดังไม่ได้แปลว่าดี และคนดีไม่ได้แปลว่าจะต้องดัง ทำงานอยู่เบื้องหลังก็มีอยู่เยอะแยะมากมาย แต่อีกอย่างนึงที่เราเห็นก็คือ ทำไมคนที่เดือดร้อนจำเป็นต้องไปหาคนดังหรืออินฟูลฯ แทนที่จะไปหาหน่วยงานราชการ หรือก็ไปหาหน่วยงานราชการแล้วแต่มันไม่ได้ผล มันช้า มันติดอะไรยังไงตรงไหน
แพรรี่ : ในยุคนี้มันเหมือนรู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองเขาก็จะมีหน่วยงานที่เขาจะมีเพจมีอะไรให้คนแบบว่าสามารถร้องเรียนได้ แล้วยุคนี้เราจะเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นก็คือสมัยก่อนทนายแบบนี้ จะรู้สึกว่าทนายเป็นคนที่ไม่ควรเข้าใกล้ คนจะรู้สึกว่าอย่าไปคบทนาย
ทนายเจมส์ : บางคนเขาพูดแบบนี้เลยนะพี่ เจองูกับเจอทนายตีทนายก่อน
แพรรี่ : ทนายหลาย ๆ ท่านก็ดี หนูไม่ได้เหมารวมนะคะ เขาก็จะมีช่องทางชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านจริง ๆ ในการที่เขาจะไปร้องเรียน เพราะรู้สึกว่าไปร้องเรียนแล้วเรื่องไม่เงียบ อย่างเคสหนูล่าสุดกำลังจะเดินทางขึ้นมาทำงานที่กรุงเทพอยู่ดี ๆ ก็มีชาวบ้านโทรมาว่ามีเคสที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสที่วัดรู้สึกว่าไม่ค่อยโปร่งใสเรื่องการใช้ปัจจัยเงินทอง หน้ากฐิน เงินมันเยอะอยากให้คุณแพรรี่เข้ามาดูหน่อย แค่นี้หนูก็รู้แล้วว่าชาวบ้านเขาพยายามร้องเรียนตามระบบ ตามกลไกล ร้องเรียนผ่านเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ คณะปกครอง คณะสงฆ์แต่ 3 ปีแล้วเรื่องยังเงียบเหมือนเดิมเขาก็จึงรู้ว่าพึ่งไม่ได้กับกลไกลแบบรัฐ จึงตัดสินใจพึ่งคนที่เป็นชาวบ้านเหมือนกันแต่มีพื้นที่สื่อมีแสง
พูดถึงทนายในช่วงนี้ก็มีติดคดีเยอะมาก และเป็นทนายคนดังพอสมควร จากเหตุการณ์นี้จะส่งผลต่อแวดวงทนายหลังจากนี้ไหม ?
ทนายเจมส์ : มองได้หลาย ๆ มุม ในมุมที่สอนตัวผมเองด้วย สอนหลาย ๆ คนด้วยว่าการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ อย่างที่แพรรี่พูดอันนี้จะเกิดประโยชน์ แต่การใช้สื่อในทางที่ผิดมันก็จะเกิดโทษอย่างที่เห็น พูดง่าย ๆ คืออย่าหลงกับแสงสี สิ่งเหล่านี้มันเป็นดาบสองคมได้เสมอ เพียงแต่ความดีขอให้มั่นคงเหมือนเกลือรักษาความเค็ม แต่ถ้าเกิดคุณใช้สื่อในทางที่ผิดแสวงหาผลประโยชน์มิชอบ สื่อหรือประชาชนนี่แหล่ะ จะลุกขึ้นจัดการกับคุณเอง ผมจะบอกว่าทุกวันนี้ทนายเจมส์เองไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะตัวของผม เกิดขึ้นจากสื่อและประชาชนให้การสนับสนุนผมถึงมีทนายเจมส์ เพราะฉะนั้นการใช้ชื่อเสียงที่ประชานชนให้มาไปหากินกับประชาชนอีกครั้งหนึ่ง มันไม่สมควร
แพรรี่พอจะเคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาบ้างไหม ในแง่ของการที่จะมาปรากฏตัวในรายการต้องมีค่าใช้จ่าย ?
แพรรี่ : เคยได้ยินอย่างในรายการดัง ๆ ที่เราจะอยู่ตลอดเวลา ก็คือมีการถูกแอบอ้างจริงว่าอยากไปนั่งในรายการนี้ไหม แล้วต้องจ่ายเงินเท่านี้ จนหนูต้องออกมาแซวว่าหนูออกรายการทุกครั้งว่าไม่เคยต้องจ่ายเงินนะ แล้วหนูแบบยังแอบเอาของไปขายอีกด้วยโดยไม่ต้องเสียค่า Tie in อะไรเลยแบบนี้ แต่มันมีอยู่จริง ๆ นะคะ แบบชาวบ้านบางทีเขารู้สึกแบบหมดหวัง ไม่มีหวังต่อให้เขาต้องจ่ายเงินราคาหลักพันหรือหลักหมื่น เขาก็รู้สึกว่าพร้อมที่จะจ่าย ถ้าสามารถได้เข้าไปนั่งพูด มันไม่ใช่แค่ประชาชนนะ คนที่ทำอะไรไม่สะอาด ไม่โปร่งใส ถ้าเขาได้จ่ายเงินแล้วสามารถฟอกตัวเองได้เขาก็ยินดีที่จะจ่าย
ทั้งหมดที่ได้เรียนรู้มา ทนายเจมส์ แนะนำหน่อยว่าการเป็นผู้ประกอบการหรืออินฟลูฯ เราควรจะมีหลักการอะไรบ้างเพื่อที่จะมั่นใจว่าจะไม่เดินไปในทางที่ผิด ?
ทนายเจมส์ : หลักการผมง่าย ๆ เลยครับ ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน กินมูมมามจานข้าวก็ตกแตกไม่ได้กินเลย ผมบอกแค่นี้ เพราะฉะนั้นการทำอะไรก็แล้วแต่ทำให้เสมอต้นเสมอปลาย และท้ายที่สุดก็คืออย่าทำให้ใครเดือดร้อนเสียหาย นี่คือสิ่งที่สำคัญและอย่างที่ผมย้ำอีกก็คือประชาชนเป็นคนให้ชื่อเสียงคุณมา คุณอย่าเอาสิ่งที่เขาให้มาไปหากินกับเขา ปัจจุบันนี้พอมันมีเรื่องราวที่เสียหายอย่างหนึ่งเลยคือคุณจะโดนใช้กฎหมายปิดปาก พอมีเรื่องไม่ดีขึ้นมา เขาใช้กฎหมายปิดปากไม่ให้พูด หรือพูดก็พูดด้วยขีดจำกัดและเราก็ไม่สารมารถเข้าถึงตัวบุคคลคนนั้นได้ว่าบุคคคลนั้นมีข้อไม่ดีตรงไหนอย่างไร ด้วยเหตุผลนี้แหล่ะ จึงจำเป็นจะต้องมีเพจดาร์ก ๆ ขึ้นมาเพื่อแฉกระบวนการพวกนี้เพื่อไม่ให้คนเหลือบไรอาศัยของคำว่าคนดีไปหากิน
ได้ข่าวว่ามีบางเคสที่ขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นอาชีพเลย เหมือนกับว่าเป็นกลุ่มคนที่หากินจากการขึ้นโรงขึ้นศาลการฟ้องร้อง ?
ทนายเจมส์ : มีครับอาศัยคนมาแขวะนิดหนึ่ง ด่านิดหนึ่งก็แจ้งความ
แพรรี่ : มันเป็นระบบกล่าวหา ใครก็ฟ้องร้องได้ แล้วก็ไปฟ้องร้องเป็นคดีอย่างหนูโดนบ่อยรู้สึกว่ามันเป็นภาระของคนที่ถูกกล่าวหาที่จะต้องไปพิสูจน์ตัวเอง ที่พี่วู้ดดี้ถามว่าทำไมใครหลาย ๆ คนถึงไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบศาล เพราะว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึง อาจจะพูดแบบนี้ในฐานะที่หนูเคยโดนมาก่อนมันไม่แฟร์กับทุกคน อย่างเหมือนอาจารย์จรงค์เคยไปพูดในรายการโหนกระแสว่าการใช้สิทธิ์ทางกฏหมายแบบพร่ำเพรื่อบางทีมันก็สร้างความเดือดร้อนให้ แล้วยิ่งแบบชาวบ้านตาดำ ๆ ที่เขาไม่มีเงินพอที่จะสู้คดี อย่างหนู สมมติหนูเคยถูกฟ้องร้องต้องใช้เงินในการประกันตัวสู้คดี สมมติคดีละ 10,000 โดนไป 3 คดีก็ 30,000 บาท แต่ 30,000 บาทสำหรับคนหาเช้ากินค่ำเอาที่ไหนถ้าเขาไม่มี เขาอาจจะไม่มีความผิดอะไรเลยแต่ถ้าเขาไม่มีหลักทรัพย์ในการประกันตัวก็ต้องเข้าไปนอนในเรือนจำ รู้สึกว่ามันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ค่อยจะแฟร์เท่าไหร่
แบบนี้ก็น่าเป็นห่วงเพราะหลายคนที่ไม่มีเงินไม่มีรายได้ จะประกันตัวออกมายังไง โครงสร้างนี้ควรจะปรับเปลี่ยนอะไรไหม ?
ทนายเจมส์ : ควรปรับ ผมอยากให้ต้นทางของความยุติธรรม อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างแท้จริง บางคนกลัวครับ รู้ว่าคดีนี้ขึ้นศาลยังไงก็ยก แต่ตัวเองก็สั่งมีมูลหรือสั่งไปฟ้อง เพราะอะไรเพราะกลัวโดนร้องเรียนปัญหาเดียวเลย พอสั่งไม่ฟ้องปุ๊ปก็อย่างที่พี่วู้ดดี้ถามว่ามันเกิดข้อสงสัยว่ารับตังค์เปล่า ปัญหานี้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองอำนวยความยุติธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ชัดนะครับ ตำรวจไม่ได้มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดเท่านั้น เขามีหน้าที่รวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย แต่ส่วนใหญ่อันที่ 2 เขาไม่ค่อยทำกัน ไม่ค่อยใช้ เพราะมันยุ่งยากในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานระหว่างผู้กล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหา แต่ง่ายที่สุดเลบอกทางนี้ไม่ต้องให้การก็มีแค่คำกล่าวหาของผู้กล่าวหาอย่างเดียว หลักฐานของผู้กล่าวหาอย่างเดียวเขาก็สั่งฟ้องง่าย ผมจะบอกว่าเราในฐานะที่ถูกกล่าวหามีสิทธิ์ที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ถ้าไม่ให้การตำรวจสั่งฟ้องอย่างเดียวครับ แต่ถ้าเกิดเราให้การเอาพยานหลักฐานเข้าสู่ระบบ ตำรวจต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของผู้กล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาว่าสามารถที่จะสั่งฟ้องได้หรือไม่
ดูเหมือนกับว่าใครที่เป็นข่าวก็ผิดไปแล้ว ด้วยความรู้สึกของสังคมที่มองว่าเขาผิดมันจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการตัดสินด้วยหรือไม่ ?
แพรรี่ : หนูอาจจะยังเห็น ยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมแล้วก็ในระบบศาล อยู่ว่าศาลเวลาท่านตัดสินท่านก็ไม่ได้เอาแต่สังคมเป็นหลัก มันก็มีพยาน เหมือนมีหลาย ๆ เคสที่ค้านสายตาเรา แล้วรู้สึกว่าทำไมแบบนี้ ยกฟ้องอย่างเช่นเคสคดีภูเก็ต ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุ หลาย ๆ เคสศาลก็ยกฟ้องแม้สังคมจะรู้สึกว่าฝรั่งผิด หลาย ๆ เคสศาลท่านก็ใช้ดุลยพินิจตามพยานหลักฐานที่มันควรจะเป็น
บางกรณีที่เป็นผู้ต้องหา แต่ภาพมันดูเป็นคนร้ายแล้ว อันนี้จะมองรวมๆ ยังไงดี ?
แพรรี่ : มันก็รู้สึกไม่ค่อยแฟร์กับเขา ถ้าสมมติหนูเป็นเองมันก็ไม่แฟร์ อย่างหลาย ๆ เคส ออกมาก็คือศาลยกฟ้อง แต่ว่าเขาก็ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ อันนี้คิดว่ามันต้องมีกระบวนการอะไรบางอย่างในกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ทำยังไง ผู้ต้องหาที่ไม่ได้มีคำพิพากษาไม่ควรที่จะไปอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาจากศาลแล้ว รู้สึกว่าอยากให้ความเป็นธรรมกับคนเหล่านั้น เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเราก็จะถือว่าถ้ายังไม่มีคำตัดสินถึงที่สุดผู้ถูกกล่าวหาก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่มันยังไม่มีตรงจุดนั้นไง
ทนายเจมส์ : ท้ายที่สุดแล้วผมอยากให้เสพข่าวอย่างมีสติ ฟังเขาเราวิพากษ์วิจารณ์ได้ในขอบเขตแต่อย่าไปด่าเขา อย่าไปว่าเขาจนเกินขอบเขตเพราะมันอาจจะนำมาสู่กระบวนการที่เรียกว่าใช้กฎหมายก็เป็นไปได้ แล้วอย่าไปบอกว่าคุณใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ไม่ใช่ครับเพียงแต่คุณใช้สิทธิเกินส่วน เขาก็เลยจำเป็นต้องใช้กฎหมายจัดการกับคุณปกป้องสิทธิของเขาเหมือนกัน คุณมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะภายในขอบเขต แต่ถ้าเกินล่วงล้ำละมิดสิทธิส่วนบุคคลเมื่อไหร่อันนี้ก็จำเป็นจะต้องใช้กฎหมายปกป้องสิทธิของตัวเองเช่นเดียวกัน
ถ้าเอาหลักธรรมมาอธิบายให้ใจมันร่มเย็นขึ้น จากการเสพข่าวทั้งหมด คิดว่าเราจะใช้อะไร ?
แพรรี่ : เวลาเราเห็นปรากฏการณ์ข่าวหรืออะไรเราอย่าพึ่งไปอินเกินเบอร์ หรือว่าเราอย่ามีส่วนร่วมเร็วเกินไป สังคมไทยเป็นสังคมที่มีอารมณ์ร่วมง่ายมากแล้วก็ฉาบฉวย อย่างสื่อดึงประเด็นดราม่าอะไรขึ้นมา คนก็จะไปอยู่ในประเด็น ดราม่านั้นซ้ำ ๆ คนไทยเป็นคนประเภทไม่ชอบจบ ชอบรื้อฟื้นแล้วก็ปั่นดราม่าไปเรื่อย รู้สึกว่ามันไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ทุกดราม่าที่เกิดขึ้นในสังคมเราควรแค่ไปเรียนรู้อะไรบางอย่างกับมันก็พอแล้ว สังคมไทยเป็นอันหนึ่งที่รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวพอมันครบรอบปี จะมาอีกแล้วมันจะวนซ้ำ ๆ เหมือนเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากเรื่องพวกนี้
แชร์ลูกโซ่ 30-40 ปีแล้วนะมันก็ยังมีแล้วมันก็ยังปรากฏขึ้นมาอีกเหมือนเราไม่ได้เรียนรู้ว่าเรื่องนี้มันก็เป็นแค่การตกแต่งใหม่แต่ไส้ในเหมือนกันหมด ?
แพรรี่ : กิเลสคนเป็นอะไรที่ไม่เคยล้าหลัง ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงทันสมัยอยู่ตลอดเวลา อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ติตฺติ กาเมสุ อตฺถิ ความอิ่มในความอยากมันไม่มี ตราบใดที่คนยังรู้สึกว่ายังมีความอยากอยู่ ยังมีความโลภที่มันเกินประมาณอยู่ ยังมีความเพ่งเล็งอยากได้ของๆ คนอื่น แบบที่มันไม่ควรจะได้อยู่ มันก็จะยังเกิดเคสแบบนี้ ต่อให้มันมีคนเตือนแล้วมันก็ยังมีอยู่
ที่มา WOODY INTERVIEW