เราสองสามคน
ถ้าการดูหนังเปรียบได้กับการเดินทาง หนัง เราสองสามคน ก็คงพาเราออกเดินทาง ร่วมกับผู้โดยสารหนุ่ม ที่จู่ๆ เกิดมีสาวสวยลงนั่งข้างๆ เขาได้แต่เขินอายไม่กล้าสบตาพูดคุย นั่งมองวิวสองข้างทางไปเรื่อยเปื่อย จวนถึงจุดหมายปลายทางอยู่รอมร่อ จึงรวบรวมความกล้าเอ่ยปากทัก
อารมณ์ของหนัง “เราสองสามคน” ประมาณนี้ล่ะครับ จุดเด่นของความเป็น ‘Road Movie’ นอกจากพาเราเดินทางท่องเที่ยว ชมนกชมไม้ ทัศนาบ้านเมืองและผู้คนไปตลอดทางแล้ว บ่อยครั้งตัวละครที่เดินทางร่วมไปกับเรา บางคนออกค้นหาความหมายในชีวิต หลายคนผ่านพ้น และพบเจอเรื่องราวมากมาย บางคนปล่อยชีวิตหล่นหายอยู่กลางทาง บางคนล้มเหลวเพียงแค่ออกเดิน บางคนถึงจุดหมายอย่างสวยงาม และบางคนปลายทางอาจไม่สำคัญเท่าประสบการณ์ที่ได้พบเจอระหว่างทาง
พล็อตของ “เราสองสามคน” ว่าด้วยขบวนคาราวานรถออฟโรด มุ่งหน้าออกเดินทางไปยังประเทศแถบอินโดจีน โดยเริ่มต้นที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว จากนั้นตระเวนต่อไปยังเมืองต่างๆ ในเวียดนาม ขบวนรถออฟโรดทริปนี้ ‘ส้มฉุน’ รับเอาสองสาว ‘เต๋อ’ และ ‘สุนทรีย์’ ร่วมทางมาด้วย หนึ่งสาวนั้นมีปัญหาทางสายตา มองไม่ชัดถ้าขาดแว่น ส่วนอีกคนมีปัญหาทางการได้ยิน ต้องอาศัยอ่านริมฝีปากและสังเกตสีหน้าของคู่สนทนาจึงจะสื่อความหมายได้ ตลอดการเดินทางครั้งนี้ สองสาวและหนึ่งหนุ่ม ต่างมีจิตปฏิพัทธ์ต่อกัน หากแต่ละคน ต่างก็สับสนกับวิธีที่จะสื่อสารความนัยไปถึงกัน...เรื่องในหนังมีแค่นี้ล่ะครับ
แม้พล็อตของ “เราสองสามคน” จะฟังแล้วเบาหวิว แค่เรื่องรักวุ่นๆ ของหนึ่งหนุ่มสองสาวที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง แต่วิธีการหรือลูกเล่นที่คนทำสอดไส้ลงไป ทำให้ “เราสองสามคน” ไปไกลกว่าแค่หนังรักโรแมนติกธรรมดา หนังไม่ได้แค่ขายวิวสวยๆ หรือภูมิประเทศแปลกๆ หากแต่ยังแทรกการผจญภัยสนุกๆ ของการขับรถออฟโรด ไม่นับรวมการออกแบบตัวละครพฤติกรรมประหลาดๆ ของหญิงสาวที่มีปัญหาทางการรับรู้ ทั้งเรื่องของภาพและเสียง นำมาใช้เป็น ‘กิมมิค’ ต้นตอของเรื่องวุ่นๆ ประเภทฟังชัด ไม่ชัด เห็นชัด หรือพร่าเลือน อันนำมาซึ่งความเข้าใจผิดหรือแค่คิดไปเองของตัวละครหลักในหนัง
อย่าเพิ่งเข้าใจว่า เรื่องราวของหนึ่งชายสองหญิงจะลงเอยด้วยการเป็นรักสามเส้านะครับ เพราะเอาเข้าจริง หนังจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งมาก แทบไม่มีตัวละครไหนต้องสูญเสีย (คนรัก) เพราะแต่ละคนต่างพบคนที่ใช่และบอกความในใจถึงใครที่แอบชอบไปในที่สุด
ด้วยความเป็น ‘Road Movie’ สถานที่จึงมีส่วนสำคัญในการโน้มน้าวอารมณ์คนดูไปสู่สิ่งที่คนทำต้องการ แม้ฉากหลังของ “เราสองสามคน” คือภูมิประเทศที่กองคาราวานรถออฟโรดขับผ่าน ตั้งแต่ชายแดนไทย-ลาว, เมืองต่างๆ ในเวียดนาม ทั้ง เว้, ฮานอย, ฮอยอัน, ดานัง, ดาลัต ฯ แต่ดูเหมือนสภาพภูมิอากาศจะรู้เห็นเป็นใจ (หรือไม่ก็ผู้กำกับปรับบทให้เข้ากับภูมิอากาศรอบตัว) ทุกครั้งที่อากาศเปลี่ยน อารมณ์ของตัวละครก็เปลี่ยนมาเปลี่ยนไป เข้ากับบรรยากาศของแต่ละเมืองอย่าง (ไม่) ตั้งใจ ความร้อนรุ่มในใจของ ‘สุน’ แผดเผาเธอแทบละลายพอๆ กับความร้อนในทะเลทรายเมื่อเข้าใจว่าคนที่ตัวเองชอบ แอบชอบเพื่อนของตัวเอง หรือกระทั่งไอหมอกตอนเช้าตรู่ที่ปกคลุมพื้นผิวถนน ก็เหมือนกับความคลุมเครือของกิริยาอาการที่แต่ละคนแสดงออกมาต่อกัน (ซึ่งทั้ง ‘พลอย’ รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล และ ‘ยิปโซ’ รมิตา มหาพฤกษ์พงศ์ ต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม)
มองเผินๆ เหมือนว่าอุปสรรคทางกายภาพคือปัญหาใหญ่ในการสื่อสารของหนุ่มสาวในหนังเรื่องนี้ แต่ “เราสองสามคน” พยายามเน้นย้ำเสมอว่า การสื่อสารผ่านดวงตา แสดงออกผ่านสีหน้า การได้พูดคุยกันตรงๆ ต่อหน้า (จนแทบจะประชิด) คือการสื่อสารที่ดีที่สุดของมนุษย์ ที่จะบอกความในใจต่อกันและกันอย่างซื่อตรง แม้ ‘ส้มฉุน’ จะพยายามวิทยุบอกความนัยไปถึงคนที่ตนแอบรัก แต่เธอก็ไม่เข้าใจ จนเขาต้องออกมายืนอยู่ตรงหน้า เพ่งสายตา ขยับริมฝีปาก เพื่อจะส่งเสียงบอกเธอว่าแอบชอบอยู่ ก็เกือบจะสายเกินไป
หนังเล่นเอาล่อเอาเถิดอยู่นาน กว่าจะลงเอยด้วยดี แม้หลายฉากหลายตอนดูจะประดักประเดิด เกินๆขาดๆ อยู่บ้าง แต่โดยรวม “เราสองสามคน” ถือเป็นหนังที่ดูได้เพลินๆ ไม่มีพิษมีภัย หนังอาจจะไม่โรแมนติกจ๋า แต่ก็ใช่ว่าจะเต็มไปด้วยอารมณ์ดราม่า น้ำตาเล็ดทะลักทะลาย มีอารมณ์ขันแทรกสอดอยู่เป็นระยะๆ วางจังหวะจะโคนของดนตรีประกอบได้ดี หลายๆ เพลงคุ้นหูเมื่อนานมาแล้ว บางเพลงฮิตติดหูตั้งแต่หนังยังไม่ออกฉาย (และดูเหมือนจงใจ เปิดให้ฟังกันแต่ต้นเรื่อง ทั้งๆ ที่ตัวละครเพิ่งเริ่มทำความรู้จักกัน ที่สำคัญ ความผูกพันระหว่างคนดูกับพวกเขายังไม่เกิดขึ้น ถ้าเพลง ‘เราสองสามคน’ ของ อัสนี-วสันต์ มาช้ากว่านี้ สักช่วงกลางเรื่อง อารมณ์คนดูคงจะบรรเจิดตามไม่น้อย)
อย่างไรก็ตาม หนังยังทำได้ระดับมาตรฐานผลงานที่ผ่านๆ มาของผู้กำกับ เรียว กิตติกร คือ ดูได้เพลินๆ ไม่ต่างจาก “พรางชมพู” สนุกพอๆ กับ ‘ดรีมทีม’ ลุ้นเอาใจช่วยตัวละคร ไม่ด้อยไปกว่า ‘เมล์นรก หมวยยกล้อ’ หากเปรียบความรู้สึกหลังดูหนังเรื่องนี้ เหมือนกับการเดินทาง ก็ประหนึ่งว่าน่าเสียดายที่ผู้โดยสารสาวสวยที่นั่งข้างๆ เพิ่งลงจากรถไป ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ขอเบอร์เธอเลย
ชื่อเรื่อง : เราสองสามคน
ผู้เขียนบท : เรียว กิตติกร
ผู้กำกับ : เรียว กิตติกร
นักแสดง : มณฑล จิรา, รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล, รมิตา มหาพฤกษ์พงศ์, เผ่าพล เทพหัสดิน ณ อยุธยา
เรทติ้ง : น. 13+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 13 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 24 มิถุนายน 2553
"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"