บันเทิง

วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล (psevikul.com)

วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล (psevikul.com)

11 ธ.ค. 2551

วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล (psevikul.com) + พรรคการเมืองไทย + คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองไทยที่สำคัญๆ หลายประการ เริ่มด้วยการที่พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคเป็นระยะเวลา 5 ปี แบบม้วนเดียวจบจริงๆ โดยไม่มีการสืบพยานเพิ่มเติมหรือนัดฟังคำพิพากษาในวันหลัง อันทำให้คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชน หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย ตามมาด้วยการยุติการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ โดยกล่าวอ้างถึงชัยชนะในการต่อสู้เพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคพลังประชาชนเป็นผลสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนค่าย-ย้ายพรรคอย่างขนานใหญ่ โดย ส.ส.พรรคพลังประชาชนได้สลัดคราบเดิมออกและตบเท้าไปสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ก็มี ส.ส.สายอีสานกลุ่มเพื่อนเนวินส่วนใหญ่มิได้ปลงใจด้วย หากมีแนวโน้มที่จะไปอยู่พรรคใหม่ของตัวเองที่ชื่อสุวรรณภูมิ เพื่อความเป็นอิสระในการดำเนินงานทางการเมืองและเพิ่มอำนาจต่อรองกับทุกฝ่าย ส่วนพรรคชาติไทยที่เพิ่งฉลอง 34 ปี ไปหมาดๆ ก็ปิดตำนาน "ปลาไหลใส่สเกต" ด้วยน้ำตา และเปลี่ยนไปใช้ชื่อพรรคชาติไทยพัฒนาแทน โดยตระกูลศิลปอาชา ตั้งแต่คุณบรรหารลงมาถึงบุตรสาวและบุตรชายต้องวางมือไปชั่วคราว ปล่อยให้น้องชายคือ อาจารย์ชุมพล ศิลปอาชา ดูแลพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ ร่วมกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แต่เพียงชั่วเวลาไม่กี่อึดใจ เสธ.หนั่น ก็เปลี่ยนแกน นำพรรคชาติไทยพัฒนาไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสนับสนุนให้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลเก่าตามมาเป็นพรวน แม้ว่าการเปลี่ยนค่าย-ย้ายขั้ว จะเป็นเรื่องที่หลายคนจะคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทยในอดีต หรือพรรคพลังประชาชน ซึ่งก็กลายเป็นอดีตไปแล้วเช่นกัน กับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ แต่ความจริงประการหนึ่งของการเมืองก็คือ "สิ่งที่แน่นอนที่สุด ก็คือความไม่แน่นอน" ยิ่งการเมืองแบบไทยๆ ด้วยแล้ว ยิ่งมีความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา นักการเมืองใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ท่านต้องทำตัวเหมือนลิง ที่แม้แต่ยามหลับนอนในเวลากลางคืนก็ยังต้องไต่ต้นไม้ลงมาคอยแตะพื้น ว่าแผ่นดินยังอยู่ปกติดีหรือเปล่า ความหมายของคำว่าพรรคการเมืองซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป มี 3 ประการ ได้แก่ 1.การรวมตัวกันของคณะบุคคลที่มีแนวคิดหรืออุดมการณ์เดียวกัน 2.เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และ 3.เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ดังนั้น ความสำคัญของคำว่าพรรคการเมืองจึงน่าจะอยู่ที่แนวคิดหรืออุดมการณ์ เป็นลำดับแรก แต่พรรคการเมืองไทยมักจะคิดแบบกลับหัวกลับหาง คือ ยึดถือเอาการให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเป็นลำดับแรก โดยไม่คำนึงถึงวิธีที่จะได้มาซึ่งอำนาจดังกล่าว ที่เห็นได้อย่างชัดเจนประการหนึ่งก็คือ แนวนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศไทย ที่แทบจะไม่มีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัด ไม่มีการระบุแนวคิดว่าจะเป็นสังคมนิยม หรือเสรีนิยม จะเป็นอนุรักษนิยม หรือเสรีประชาธิปไตย เช่นในต่างประเทศ กับทั้งไม่ได้แสดงตัวเป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ อย่าง เกษตรกร หรือผู้ใช้แรงงาน ส่วนใหญ่มักจะตั้งชื่อพรรคในเชิงของนามธรรม และตามกระแสสังคมมากกว่าคำนึงความเป็นรูปธรรม ดังเช่นพรรคสามัคคีธรรมในยุคหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และพรรคมัชฌิมาธิปไตย หรือพรรคประชาราช หลังการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เป็นต้น แถมบางพรรคก็ยังลื่นไหลได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น หลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 พรรคการเมืองเชิงอนุรักษนิยมเข้มข้นบางพรรคก็ยังประกาศตนอย่างฉาดฉานว่า เป็นพรรคสังคมนิยมอ่อนๆ เป็นต้น เมื่อมีเจตนารมณ์ในการให้ได้มาซึ่งอำนาจ พรรคการเมืองไทยจึงมีสภาพไม่แตกต่างจากสโมสรฟุตบอล ที่มุ่งหมายเพื่อเอาชัยชนะในการแข่งขันและครองถ้วยรางวัล โดยมีการใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบ รวมถึงการซื้อนักฟุตบอลร้อยพ่อพันแม่มาเสริมทีม ซึ่งย่อมผิดกับทีมชาติที่มุ่งสร้างนักเตะที่เตะเพื่อชาติ เพื่อความภูมิใจและเกียรติภูมิของคนทั้งชาติ และถ้าวันนี้ พรรคการเมืองไทยยังไม่สามารถลำดับขั้นตอนของการทำหน้าที่ทางการเมืองได้ถูกต้อง อนาคตในวันหน้าของพรรคการเมืองไทย ก็คงต้องจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดิม