
เพลงที่ต้องฟัง ...ก่อนตาย - ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย
จากเด็กสมุทรสงคราม จนเป็นหนุ่มในกรุงเทพมหานคร
จากก่อสร้าง อุเทนถวาย ถึงโฆษณา ประชาสัมพันธ์ รามคำแหง
จากนักดนตรี นักแสดง นักจัดรายการวิทยุ ศิลปิน โปรดิวเซอร์ เจ้าของค่ายเพลง และกำลังจะไปสู่ผู้กำกับภาพยนตร์ในอีกไม่นาน
ธเนศ วรากุลนุคราะห์ กับ 4 อัลบั้มที่ผ่านมาในช่วง พ.ศ.2528-2535 หากลองไล่เรียงความคิดทางดนตรี อาจพบความแตกต่างกันทั้งสถานการณ์ วิธีการผลิต ทีมงานดนตรี ไปจนถึงแนวทางและวิธีการนำเสนอแนวคิด แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือทุกงานผ่านกระบวนการคิด ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนตกผลึก เพื่อค้นหาวิธีการนำเสนอดนตรีแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ
ผลผลิตจาก ไนท์สปอต โปรดักชั่น งานดนตรีส่วนใหญ่ล้ำสมัย ข้ามยุค เพราะความน่าสนใจ แตกต่างและมองไกล
สำหรับ ธเนศ ในฐานะเป็นศิลปินเบอร์แรกๆ ของค่าย นั้นเป็นส่วนผสมของความสนใจและ ทักษะทั้งด้านการแสดง การนำเสนอดนตรี (จัดรายการเพลง การทำงานดนตรี) ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีในการนำเสนองานในฐานะศิลปินของเขา
เราจะย้อนเวลาไป 25 ปีที่แล้วของวงการเพลงไทย ไปฟัง ไปค้นหาความหมายหลายอย่างที่เขาตั้งใจให้ฟัง ในงานดนตรีของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ทั้ง 4 อัลบั้ม ด้วยกันอีกครั้ง
01.ธเนศ วรากุลนุเคราะห์_แดนศิวิไลซ์ พ.ศ.2528
ดนตรีล้ำสุดยุคของเพลงไทย ในเวลานั้นกลองไฟฟ้า ซินธิไซเซอร์ ซาวนด์เอฟเฟกท์ และที่สำคัญ นักดนตรีอัดเสียงและการบันทึกเสียง รวมถึงการผสมเสียง อัลบั้มที่เดินทางไปบันทึกเสียงที่ประเทศอังกฤษ ควบคุมการผลิตโดย อัสนี โชติกุล
แทร็กแรก เบื่อคนบน กับ Pattern ดนตรีทันสมัยแบบยุค 80 มีแร็พมีร็อกให้พอได้เต้นแบบมูนวอล์กได้ แต่เนื้อเพลงถูกถ่ายทอดตรงไปตรงมา และตรงใจของคนที่ถูกพิพากษาจากคนรอบข้าง อะไรก็ว่า อะไรก็บ่น โดยไม่รู้ว่าแท้จริงเรื่องราวมันเป็นอย่างไร เพราะไอ้คนที่บ่นก็พ่นกันมันไป
ได้ฟังแล้วก็พอนึกถึงคำว่า ผู้ใดเริ่มนินทา ผู้นั้นเริ่มก่อเวร
ดนตรี ลีลา ภาษาที่สวยงามที่สุดของโลกภาษาหนึ่ง กับคุณสมบัติที่ขัดเกลาจิตใจมนุษย์ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในเชิงศิลป์
ดีใจ เพลงที่ดูจะเป็นป๊อปไทย เข้าใจง่าย และหมายมั่นให้เป็นเป้าหมายในการนำเสนอกลุ่มกว้าง โดยวางไว้ที่เพลงที่สามของอัลบั้ม
ไม่รู้รึไง..โอ้ย ซึ่งหากร้องว่า ไม่รู้รึไง...โว้ย น่าจะได้อารมณ์ร็อกมากกว่า แตก็เข้าใจได้ ในเจตนาที่นำเสนอออกมาแบบนี้ เพราะนั่นมัน 25 ปีที่แล้วหนิ ถ้าเป็น พ.ศ.นี้ คงแสบกว่านี้หลายเท่า ริฟฟ์กีตาร์เท่ กลองแบบซัฟเฟิลส่งให้เพลงมันขึ้นอีกหลายขุม บวกสำเนียงการออกเสียงภาษาไทย ร ล ควบกล้ำได้ชัดมาก
ลุงคิดกับหลานชิดชัยและแดนศิวิไลซ์สุดขอบฟ้า เพลงชื่อเดียวกับชื่ออัลบั้ม ตัวอย่างของเพลงปรัชญา ฟังไปนึกไปได้บทสรุปในมุมตัวแทนมนุษย์ ที่พยายามค้นหาความสุข ความเจริญ ความสะดวก และทันสมัยกว่าที่เป็นอยู่ โดยบางทีอาจลืมไปว่าหลายสิ่งที่เป็นสิ่งที่เคยโหยหาเรานั้นเคยได้มันมาแล้ว เพียงแต่เราไม่หยุดที่จะแสวงหา คงเป็นเพราะกิเลสในใจของเราเอง ที่บางครั้งมันส่งแรงจูงใจให้เราเดินหน้าค้นหา และพบความทุกข์ สุขปะปนกันไป แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนิยามความสำเร็จ ความสุขที่แท้จริงของแต่ละคนกันอย่างไร ผมยังเชื่อว่าทุกอย่างมนุษย์นั้นกำหนดได้ เพราะอยู่ไม่ไกล อยู่ใกล้ๆ อยู่ที่ใจของเรานั่นเอง
โธ่...ผู้หญิง สองเรื่องหลักของวัยแสวงหาคือ (ความรัก และ เพศตรงข้าม) เพลงที่พูดถึงความรักส่วนใหญ่มักไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เป็นแค่การคาดเดา ประชดประชัน เปรียบเปรย น้อยใจ ไม่เข้าใจ ขณะที่เพลงที่พูดถึงผู้หญิง ก็เป็นไปในทางเดียวกันแต่มักพูดถึงการหยั่งไม่ถึงหัวใจของหญิงนั่นเอง
(จริงๆ)...เพลงในใจ ซาวนด์เพลงวังเวงจากกีตาร์และคีบอร์ด บอกล่าวอารมณ์ออกมาเป็นเพลง การเคลื่อนของจังหวะเพลงสลับไปมาระหว่างแบบเนิบๆ และกระแทกกระทั้น ผมฟังความหมายยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง เหมือนพี่เขาจะรำพึงรำพันถึงอะไรให้ฟังมากกว่า โดยไม่ต้องรับรู้ถึงที่มาที่ไปของความหมายนั้น แต่ฟังแล้วโอเค ก็พอแล้ว
(?)....ในถนน นึกไม่ออกเหมือนกันว่า นักจัดรายการเพลงสมัยนั้น หากเลือกเปิดเพลงนี้จะบอกชื่อเพลงว่าอย่างไร “เพลงที่จบไปแล้วนั้นคือเพลง ในถนน แต่มีเครื่องหมายคำถามอยู่ข้างหน้า หรือว่าเป็นเควสชั่นมาร์ค ในถนน นะครับ (ค่ะ) สำหรับเพลงที่เปิดให้ฟังไปเมื่อสักครู่นี้” อืม หรือยังไงนะ นึกไม่ออก โดไม่ทันจัดรายการในยุคนั้น เป็นแค่ผู้ฟังรายการ โดยนี่ยังไม่รวมถึงการขอเพลงจากผู้ฟังนะว่าเชาจะพูดกันว่าอย่างไร เอาเป็นว่าคนไหนขอเพลงและพูดชื่อเพลงได้ถูกต้อง รับเพลงไปฟังพร้อมตังค์อีกหนึ่งร้อยบาทไปเลยละกันคุณผู้ฟังที่ร้ากกก... (ฮา)
คนเกลียดคน..อย่า(ก)ออกไป กลองไฟฟ้าเสียงแน่นปึ้ก สนุก คึกคัก เล่นคอนเสิร์ตน่าสนุกครับเพลงนี้ เสียงสอดรับระหว่างกีตาร์และซินธิไซเซอร์นั้นดูกลมกลืนเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน รับส่ง มันควัน ลงตัว เนื้อเพลงที่พูดถึงความอันตราย ที่มีอยู่ทั่วไป เตือนให้ระวัง แต่ไม่หวังให้ทำตาม เพราะถ้าอ่านจากชื่อเพลงก็ไม่รู้ว่า อยาก หรือไม่อยากให้ออกไปกันแน่
เบื่อคนบ่น (รีมิกซ์)
ความยาว 7 นาทีเศษ ตั้งใจทำมาพิเศษเพื่อดีเจและขาเต้นโดยเฉพาะ เรียกว่าเปิดเพลงนี้แล้วไปเข้าห้องน้ำกลับมาเพลงยังไม่จบเลย (ฮ่า ฮ่า) ถือว่าเป็นความใหม่ของเพลงไทยในเวลานั้นที่แร็พและวิธีการแซมปลิ้ง (จำลองเสียง) ถูกนำมาใช้อย่างทันสมัยและเหมาะสมกับเพลง
การพูดถึงเพลงที่ผ่านมาหลายปี ไม่ต่างจากการย้อนไปดูรูปสมัยหนุ่มสาว มีความเท่ มีความแปลก และความต่างจากปัจจุบันแน่นอน เพียงแต่ผมพูดและมองในมุมมองที่ค่อนไปทางอารมณ์นะวันนั้น มากกว่าเท่านั้นเอง หากจะมีอารมณ์ของความร่วมสมัยบ้างก็คงช่วยไม่ใด้เพราะประสบการณ์และมุมมองในเรื่องดนตรีที่ผ่านเข้ามา
สังเกตจากการตั้งชื่อเพลงที่พอคาดเดาได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ที่พลุ่งพล่านไปทั้งอัลบั้มแล้วครับ ไม่ผิดครับที่จะตั้งชื่อเพลงที่ยาวที่สุดอย่าง ลุงคิดฯ, หรือเพลงที่มีเครื่องหมายอื่นมาประกอบ แต่บางทีมันก็สร้างความสับสนได้เหมือนกันหากจะออกเสียงเรียกชื่อเพลงให้ถูกต้องตามภาษาเขียนบนปกอัลบั้ม แต่หากเป็นการตั้งชื่อเพลงในยุคนี้ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ถ้อยคำที่ติดหู จำง่าย และเรียกร้องความน่าสนใจ (ขณะที่บางเพลงนี่ตั้งชื่อเรียกร้องความน่าสนใจ เกินไปมากแล้วจริงๆ ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่าง)
ทุกๆ ที่แม้ตรงนี้คือขอบฟ้า ที่สายตามองมาว่าไว้สวย
จะดั้นด้นค้นหาไปทำไม... จงมาช่วยสร้างตรงนี้ให้ศิวิไลซ์
(ข้อความจากปกเทป)
เครดิต:-จากปกอัลบั้มธเนศ วรากุลนุเคราะห์ - คำร้อง-ทำนอง Lea Heart - กีตาร์Terry Stevens - เบส Ray Callcut - ลีดกีตาร์ Graham Garrett - กลอง Nick Coler - เปียโน, คีย์บอร์ด Jeff Finch - เฟรทเลสเบส John Earle - อัลโตแซ็กโซโฟน อัสนี โชติกุล/Lea Heart : โปรดิวเซอร์ Gary Edwards: ซาวนด์เอ็นจิเนียร์
งานดนตรีของ ธเนศ วรากุลนุคราะห์ อีก 3 อัลบั้มที่เหลือ ขอยกยอดไปคราวหน้าครับ ระหว่างนี้ฝากการบ้านไปฟังล่วงหน้าได้ก่อน แล้วครั้งหน้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การฟังเพลงไทย ในแบบที่คุณและผมรักมากที่สุดก็แล้วกันครับ
"โชคชัย เจี่ยเจริญ"
[email protected] <mailto:[email protected]>