
คมเคียวคมปากกา - เพลงแม่นี้มีบุญ และ เพลงอุ่นใดๆ
เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘-๘
สักสี่ปีก่อน ประมาณช่างเดือนนี้แหละ มีค่าย กองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ ที่บ้านไผ่ ขอนแก่น “พี่จุ้ย” ของน้องๆ หรือ ศุ บุญเลี้ยง ของใครต่อใคร ได้ไปร่วมงานด้วย เวลาเขาร้องเพลง “อิ่มอุ่น” แล้วเด็กนักเรียนร้องตามเสียงดังพร้อมกัน ผมแอบเห็นเด็กหลายคนน้ำตาไหล (รวมทั้งตัวผมเอง) ทั้งที่ในชีวิตและสภาวการณ์จริง บางคนอาจไม่เคยมีเวลาสะทกสะท้านใจกับสิ่งดีๆ เลย ด้วยต่างคนต่างก็รีบเร่ง
สักสิบปีก่อน ตอนเพลงนี้ได้รับความนิยมใหม่ๆ ผมเคยเขียนถึงด้วยความชื่นชม ประมาณว่าหลังจากเพลง “ค่าน้ำนม” ของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ก็มีเพลง “อิ่มอุ่น” นี่แหละ ที่สื่อกับคนร่วมสมัยได้อย่างจับอกจับใจในเรื่อง “น้ำนม” ถ้าเราฟัง “ค่าน้ำนม” จะพบท่าทีที่ยกย่องแม่ สั่งสอนลูกในเรื่องบุญคุณแบบคนสมัยก่อน โดยเฉพาะจะเน้นลูกชาย เพราะมีคำว่า “...บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น...” หรือ “...หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย...” กระทั่ง “...ควรคิดพินิจให้ดี...”
ส่วนเมื่อฟัง “อิ่มอุ่น” แม้จะเป็นเชิงยกย่องแม่แบบ “...อุ่นใดๆ โลกนี้ไม่มีเทียบเทียม...” เหมือน “...แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง...” แต่ก็มีลักษณะให้และรับซึ่งกันและกันแบบคนสมัยใหม่ คำว่า “...ให้เจ้าเป็นความหวังของแม่ต่อไป...” ถือเป็นความหวังได้ทั้งลูกชายลูกหญิง และคำว่า “...ใช่เพียงอิ่มท้อง ที่ลูกร่ำร้อง เพราะต้องการไออุ่น...” ก็เปรียบเทียบ “อุ่นใดๆ” กับ “อิ่มใดๆ” ได้อย่างมีโวหารกวี
อย่างไรก็ตาม ทั้งคีตกวีสมัยครู และคีตกวีสมัยศิษย์ ต่างก็ได้สร้าง “น้ำนมทางใจ” แก่สังคมไทย ในจังหวะแวดล้อมของตัวเองอย่างน่านับถือ...
ต้องนำเรื่องใกล้ตัวมาเล่า (อีกแล้ว) สิบปีก่อน หรือสี่ปีก่อน ผมยังไม่มีลูก แต่ตอนนี้ผมมีเด็กชายวัยสามขวบอยู่ในบ้านแล้ว แรกๆ แม่เขาก็ร้องเพลง “ค่าน้ำนม” ให้ฟัง พอเขาเบื่อเพลงสนุกๆ ร่วมสมัยที่ติดหูอยู่ทั่วไป ก็จะบอกแม่เขาว่า “ขอเพลงแม่นี้มีบุญ” แล้วแม่กับลูกก็พากันร้องไปเรื่อยๆ แบบจำได้บ้างไม่ได้บ้าง หลังๆ นี้เขาเกิดไปได้ฟังเพลง “อิ่มอุ่น” ด้วยบังเอิญมีเพื่อนคนหนึ่งเก่งทางศิลปะ ขอภาพถ่ายผมตั้งแต่ตอนแต่งงาน ไล่เรื่อยกระทั่งถึงตอนมีลูกชายตัวเล็กๆ พอส่งให้แล้วเขาก็นำไปตัดต่อเป็น “ภาพสไลด์” ประกอบด้วยเพลง “อิ่มอุ่น” ฉบับร้องครั้งแรกของ ศุ บุญเลี้ยง ผมจึงเหมือนมี “มิวสิกวิดีโอ” ส่วนตัวเกี่ยวกับครอบครัว เปิดให้ลูกดูและฟังบ่อยๆ ทั้งตอนอยู่ในบ้าน และตอนนั่งรถยนต์เดินทางไกล
ครับ...“พี่จุ้ย” จึงกลายเป็นขวัญใจเขาอีกคน ถ้าเขาเบื่อเพลงอย่าง “คนบ้านเดียวกัน” ของ ไผ่ พงศธร หรือ “รักคนมีแฟน” ของ วงเอเซียร์ เขาก็จะมาหาแม่หรือพ่อ บอกว่า “ขอเพลงอุ่นใดๆ”
ผมตื้นตันใจ ทั้งกับเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของเพลง และลูกชายวัยสามขวบที่พยายามจะร้องเพลงนี้ให้ได้ทั้งหมด แต่ไม่หมดดอกครับ แค่กระท่อนกระแท่น แต่วรรคทองที่เขาร้องได้ก็คือ “...ให้เจ้าเป็นเด็กดี ให้เจ้ามีพลัง ให้เจ้าเป็นความหวังของแม่ต่อไป...” แล้วก็หันมองพ่อแบบกลัวพ่อน้อยใจ บอกว่า “พ่อด้วย...”
เชื่อว่าพ่อแม่หลายต่อหลายบ้านก็คงได้เลือกใช้บทเพลงหรือบทกวีกับลูก ไม่ว่าแบบสมัยเก่าอย่าง “...นี่แหละหนาอะไร มิใช่ใดหนา เพราะค่าน้ำนม...” หรือว่าแบบสมัยใหม่อย่าง “...น้ำนมจากอก อาหารของความอาทร...” ก็ล้วนเป็น “กระแสธารน้ำนม” ที่ไหลผ่านฟากฝั่งชีวิตและกาลเวลา
พูดถึง ศุ บุญเลี้ยง แล้ว โดยส่วนตัวก็ต้องขอแสดงความนับถือ และขอแสดงความขอบคุณ ด้วยเขาออกแบบสร้างสรรค์ “กะทิกะลา” ผลิตผลงานดีๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอและทันสมัย โดยเฉพาะการทำปกแผ่นเพลงคล้ายหนังสือรวมบทเพลงและบทกวี น่าอ่าน น่าเก็บ น่ารักษา (ไม่ใช่เป็นกล่องแผ่นพลาสติก แกะปุ๊บ พังปั๊บ) ในฐานะคนไม่ใกล้ไม่ไกลกัน ผมได้รับเป็นของฝากจากเขาทั้ง “เพลงรักไม่รู้โรย” และ “เสมอคำยืนยัน” รวมทั้ง “บทเพลงกวี : เกี่ยวก้อย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ” ที่แต่ละเพลงทยอยฟังได้เรื่อยๆ
คนช่างเดินทางอย่างเขา ยังคงเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจเหนือใต้ออกตก แต่งและร้องเพลงใหม่ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็น “เสน่ห์สงขลา” หรือ “น่าน...นะสิ” ล่าสุด ได้ข่าวว่าบ้านเกิดของเขาที่เกาะสมุย ก็กำลังประสบคลื่นน้ำมันในทะเลจากมนุษย์ เพลงที่เกี่ยวกับ “สมุย” ของเขา คงจะออกมาอีกหลายรสชาติ
จาก “เพลงแม่นี้มีบุญ” ถึง “เพลงอุ่นใดๆ” ก็ร่ายมาจนถึงบรรทัดสุดท้าย ด้วยประการฉะนี้แล!
"ไพวรินทร์ ขาวงาม"