บุญศรี รัตนัง โล่งอก ลูกสาวสืบสายเลือดล้านนา
ศิลปินล้านนา บุญศรี รัตนัง เจ้าของเพลง "ลุงอดผ่อบ่ได้" และ "บ่าวเคิ้น" ผลักดันลูกสาวบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ้อม รัตนัง ต่ออายุเพลงล้านนา หวังสืบสานเพลงพื้นบ้านไม่ให้สูญหายและแพร่ไปทั่วโลก
บุญศรี รัตนัง วัย 58 ปี บุคลากรดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2533 กล่าวถึงบุตรสาวอย่างภาคภูมิใจว่า
“อ้อมเป็นลูกคนสุดท้อง มีสองคน คนแรกจบวิศวะ ก็ทำงานตามที่เรียน ลูกสาวมาทางพ่อหมด เราสอนลูกว่า ใช้เงินเรียนจากเงินของพ่อที่เล่นดนตรี ขอให้ลูกเรียนจบ แกก็เลยชอบ พอเรียนจบก็มาช่วยพ่อ ผมเองก็ยังทำงานด้านนี้อยู่ ช่วยเขาโปรโมท มีงานด้านวิชาการบรรยายเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม และเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพเพราะผมเป็นหลายโรค พี่น้องแฟนเพลงที่ชอบบุญศรีก็ขอฝากลูกสาวด้วย และฝากผลงานของบุญศรี ที่จะเป็นชุดเปิดกรุเพลงเก่า กำลังขอลิขสิทธิ์อยู่ หลายเรื่องที่เราเรียนมาจากประสบการณ์ ก็สอนลูกสาว ตอนนี้ทำหนังแผ่นขายแข่งกับของปลอม ขายราคาเท่าของปลอม ผมมีมีคติประจำใจในการทำงานว่า ถ้าแต่งงานกลัวมีลูกไม่ต้องแต่ง ถ้าจะทำซีดี กลัวเขาก๊อบปี้ ไม่ต้องทำ”
ด้าน มณีรัตน์ รัตนัง หรือ อ้อม รัตนัง ศิลปะบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) สาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่เข้ามาสืบสานเพลงลานนาต่อจากผู้เป็นพ่อว่า
“ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นพ่อร้องเพลงแล้ว เลยซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ชอบเสียงเพลง ตอนเรียนม.ต้น อ้อมไปเป็นหางเครื่องให้พ่อ ตอนนั้นพ่อทำวงและอ้อมก็ร้องเพลงด้วย แต่ร้องของคนอื่นที่เป็นเพลงคำเมือง จนได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ่อก็หยุดทำวงพอดี ขาดช่วงไป อ้อมก็เรียนเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมล้านนา ไม่หายห่างเรื่องนี้ไปเลย จนเรียนถึงปี 4 คุณพ่อให้ลองทำอัลบั้มสักชุด พ่อแต่งเพลงให้ ชื่อชุด “สาวเดิ้น” (หมายถึง ผู้หญิงอายุมากแต่ยังไม่ได้แต่งงาน) ตอนนั้นเหมือนว่า อ้อมยังหาตัวเองไม่เจอ แต่ก็ทำให้ดีที่สุด ชุดต่อมาก็ไปร้องกับคนอื่นๆ ที่เขาเอานักร้องทางเหนือมารวมกัน 4-5 อัลบั้ม ที่เด่นๆ หน่อยก็เป็นชุดที่มีเพลง สาวเชียงใหม่ ขอสุมาเต๊อะ จนมาถึงชุด “ กึ๊ดเติงหาอ้ายจรัล (มโนเพชร)” ของเอ็ม วสันต์ ก็ไปร่วมกับเขาในเพลง ฮานี่บ่เฮ้ย กับเพลง พี่สาวครับ ทำให้เราหาตัวเองเจอว่าอยากทำเพลงแนวไหน ก็คือชุดล่าสุด ชุด ดอกระมิงค์ ที่ห่างหายจากชุดแรกไป 6 ปี”
เมื่อถามว่า เหตุใดต้องยึดเพลงภาษาคำเมือง และรู้สึกอย่างไรที่เพลงคำเมืองเริ่มหายไปเมื่อเทียบกับเพลงภาษาท้องถิ่นของภาคอื่นๆ
“พ่อจะร้องเพลงคำเมือง เล่นดนตรีพื้นเมือง ที่บ้านทำเป็นโรงเรียนเล็กๆ สอนดนตรีพื้นเมือง ฟ้อน สอนฟรีๆ อ้อมมองว่า คำเมืองเป็นภาษามีเสน่ห์ ดนตรีพื้นเมืองออกมามีเอกลักษณ์ อยากจะสืบสานเอาไว้ เดี๋ยวนี้เพลงคำเมืองก็ได้รับความนิยมมากขึ้น มีลานนา คัมมินส์ น้องกระแต อาร์สยาาม ช่วยกันเบิกทาง มันยังมีช่องทางอยู่ แต่ความที่อ้อมอยู่เชียงใหม่ ก็ลำบากในการนำเพลงไปทั่วประเทศ เพราะปัญหาเรื่องทุน การโปรโมท ใช้ทุนเยอะ แต่ก็ไม่ท้อ รู้สึกว่า แค่มีคนฟังแล้วชอบเราก็พอใจแล้ว และอ้อมมีโอกาสทำรายการโทรทัศน์ ชื่อเป็นพิธีกรรายการ “ล้านนามหานคร” ทาง NBT ภาคเหนือ ออกอากาศทุกๆ วันศุกร์ 15.30-16.00 น. ซึ่งชมได้ทางภาคเหนือ ก็ทำให้คนรู้จักกันมากขึ้น”
สาวสวยหน้าหวานที่เคยได้ร่วมแสดงละครเวที กับ ครูเล็ก ภัทราวดี ในเรื่อง พระลอ ที่ภัทราวดีเธียเตอร์ กล่าวต่อถึง ความพยายามที่จะใช้วิชาความรู้เพื่อสืบสานเพลงพื้นบ้าน
“อ้อมจบมาทางนี้ ได้ใช้วิชาความรู้ มาใช้ในงาน รับงานเผยแพร่ศิลปะ ล้านนา ไปโชว์ต่างประเทศบ่อยๆ ทั้งที่ แอลเอ โรม อิตาลี จีน ต้นเดือนกันยายนนี้จะไปโชว์ที่เวียดนาม ร่วมกับคณะวิจิตรศิลป์ เชียงใหม่ ทุกอย่างที่ทำล้วนแต่เกี่ยวข้องกับล้านนา ทำรายการทีวีพูดคำเมือง ปัจจุบันเด็กๆ จะอู้ (พูด) คำเมืองน้อยลง ไม่ค่อยลงท้ายคำว่า เจ้า จึงอยากให้ผู้ใหญ่ ช่วยกันสอนปลูกฝัง อ้อมเกรงว่า มันจะหายไป ถ้ามีนักท่องเที่ยวไปเชียงใหม่อาจจะไม่ได้ยินภาษาคำเมืองอีกแล้ว ถ้าไม่ช่วยกัน”
อ้อม-มณีรัตน์ รัตนัง ทิ้งท้ายเรื่องความไฝ่ฝันของเธอเกี่ยวกับงานเพลงและศิลปวัฒนธรรมล้านนาว่า ต้องการทำให้ทั่วโลกได้ฟังเพลงล้านนาบ้าง
“ความใฝ่ฝัน อ้อมอยากให้มีศิลปินล้านนา ไม่ว่าจะเป็นคนทางเหนือหรือค่ายใหญ่ จัดคอนเสิร์ตร่วมกันโดยไม่แบ่งค่าย รวมพลังกัน เรื่องที่ว่า งานในจังหวัดเชียงใหม่แต่มักไม่ค่อยมีศิลปินเหนือไปโชว์ อ้อมอยากขอความร่วมมือช่วยกัน ด้านศิลปินทำผลงานที่ดีออกมา ด้านผู้จัดอยากขอความร่วมมือ กลับมามองศิลปินทางเหนือบ้าง มีหลายคนเก่งๆ เขาอาจจะยังไม่ได้รับการสนับสนุน บางเพลงก็ไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่ทั้งๆ ที่เป็นเพลงคุณภาพ เคยท้อเหมือนกันว่าเพลงเหนือ ไม่ไปไหนสักที แต่เราต้องมาวิเคราะห์ตัวเองว่า เราขาดตรงไหนไปบ้าง หาทางพัฒนาตัวเองต่อ เพลงชุดใหม่จะต่างจากชุดแรก คือ เป็นล้านนาร่วมสมัย มีดนตรีแนวสากลมาผสม เช่น ใช้สะล้อเล่นร่วมกับไวโอลิน ในการเล่นเพลงแนวแจ๊ส แล้วร้องเป็นคำเมือง มีทูตวัฒนธรรมจากอเมริกา มาร่วมเล่นไวโอลินด้วย ชื่อมิสเตอร์ Kyle Dillingham” นักร้องสาวกล่าวทิ้งท้าย