บันเทิง

เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย - อัสนี วสันต์ : บ้าหอบฟาง เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย

เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย - อัสนี วสันต์ : บ้าหอบฟาง เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย

05 ต.ค. 2553

จาก Isn’t (อีสาน) วงโฟล์คซอง ชนะเลิศแห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 อัสนี-วสันต์ โชติกุล สองพี่น้องจาก จ.เลย บ้านเกิด ก็ได้แจ้งเกิดกับวงการดนตรีไทย นับจากวันนั้นเป็นต้นมา รวมระยะเวลาถึงวันนี้ก็ปาเข้าไปเกือบ 40 ปี

  ต้นยุคบุปผาชน หรือยุคฮิปปี้ (Flower Power) ที่ราคาก๋วยเตี๋ยวชามละไม่เกินสองบาท ส่วนทางด้านแฟชั่น กางเกงขาบานยาว เข็มขัดรัดแน่น เอวสูง กับเสื้อเชิ้ตตัวยาวพอดีตัว ไว้ผมยาว ดำเนินชีวิตแบบอิสระ หากแต่เรียบง่าย รักสันติ จนมีสโลแกนจากผู้คนในอเมริกาว่า ( Make Love, Not War) ในขณะที่ร็อกแอนด์โรล ที่มีกีตาร์เป็นพาหะหลักในการขับเคลื่อนเพลง

 การได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นเครื่องหมายการันตีถึงทักษะ และความสามารถทางดนตรีได้ในระดับดี จึงทำให้ หนึ่งในกรรมการตัดสินวันนั้น ได้ชักชวนกันเข้าห้องบันทึกเสียง เพื่อบันทึกเสียงอัลบั้ม โฟล์คซองชุดแรกในชีวิตของพี่น้องสองคนนี้ บวกกับสมาชิกอีกหนึ่งคือจุมพฏ ปัญญามงคล ซึ่งเพลงส่วนใหญ่เป็นเพลงที่แต่งโดย ครูวิมล จงวิไล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หนึ่งมิตรชิดใกล้ ซึ่งภายหลังมาเรียบเรียงดนตรีให้ทันสมัยขึ้นอีกครั้งและถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้ม “ผักชีโรยหน้า” อันโด่งดัง ในปี พ.ศ.2531

 หลังจากมีงานโฟล์คซองแล้ว อัสนี ย้ายไปเล่นกับ โอเรียนเต็ล ฟังค์ ร่วมกับ เรวัต พุฒธินันทน์ และ Produce งานให้ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ที่ประเทศอังกฤษ และมาออกวางจำหน่ายในประเทศไทยกับสังกัด ไนท์ สปอต ก่อนจะออกอัลบั้มบ้าหอบฟาง ในปี พ.ศ.2529 กับ สังกัดเดียวกันตามมา

ปีที่วางจำหน่าย : พ.ศ.2529
จำนวนเพลง :  9 เพลง
สังกัด : WEA Records (ไนท์สปอต)

 บ้าหอบฟาง
 สัญลักษณ์ของฟาง ถูกนำมาใช้แทนเงินตรา ที่มนุษย์ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตที่หรูหรา ฟุ่มเฟือย สะดวกสบาย และคุณภาพชีวิต

 ไม่เป็นไร
 เร็ว ร้อน แรง แฝงวิธีคิดอย่างเป็นสุข ประโยคสำคัญที่ทำให้คนจดจำไปใช้ในชีวิตคือ ปัญหามา ปัญญามี เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนจะหลุดพ้นปัญหาได้ หากแต่สามารถหลุดพ้นความทุกข์ จากความคิดของตนเองได้ด้วยใจตนเอง

 เดือนเพ็ญ
 เพลงต้นฉบับจาก อัศนี พลจันทร จากชื่อเดิมคือเพลงคิดถึงบ้าน เพลงที่ถูกนำไปบันทึกเสียงอีกหลายๆ แบบจากหลากหลายศิลปิน อัศนี พลจันทร (เหตุการณ์บังคับให้ต้องจากบ้านเมืองไปอยู่ในปักกิ่งเมื่อกว่า 30 ปี) นายผี อัศนี พลจันทร ประพันธ์เพลงนี้จากความรู้สึก คิดถึงบ้าน ซึ่ง สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) เป็นคนแรกที่นำมาบันทึกเสียงและนำเสนอสังคมไทย ต่อมาด้วย ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) เปลี่ยนชื่อเป็น เดือนเพ็ญ และสลับท่อนเนื้อร้องจากเดิม ได้นำเสนออีกครั้งในอัลบั้ม กัมพูชา (นำเสนอไปในตอนที่แล้ว)
 เดือนเพ็ญใน บ้าหอบฟาง จึงป็นอีกอารมณ์ที่แตกต่างจากสองเวอร์ชั่นแรก อย่างชัดเจน และ อัสนีได้ถ่ายทอดไว้ได้อย่างเหงาจับใจตามอารมณ์เพลงอย่างลงตัว

 กาลเทศะ
 กฤษ โชคพิพย์พัฒนา หนึ่งในสมาชิก บัตเตอร์ฟลาย ประพันธ์ทำนองได้อย่างน่าทึ่ง เหนือชั้น นำเสนอความยากให้ฟังง่าย บวกกับคำว่ากาลเทศะ คำไทยๆ ที่หมายความถึง Time & Palce คือเวลาและสถานที่ รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ฟังแล้วเตือนความจำให้ระวังการกระทำให้เหมาะสมอย่างรู้ตัว ไม่มากไป หรือน้อยไป จะพบความสมควรแต่พอดี

 เพลงของเขา
 คือเพลงของคน มุ่งมาสู่เมืองกรุง หวังมีชีวิตรุ่งโรจน์ กีตาร์หวานบาดใจ ให้ความรู้สึดเหงาแต่ยังมีพลังเดินหน้าด้วยการขึ้นเคลื่อนที่ของจังหวะเป็น 2 Movement ในเพลงเดียว คำพูดสอนใจให้รับรู้ไว้ว่า หากต้องการความสำเร็จจงอย่าท้อ

 น้ำเอย น้ำใจ
  ความสวยงามทั้งผู้รับและผู้ให้ ไหลจากจิตใจมนุษย์สู่มนุษย์ เปียโน เพราะๆ เคาะคอร์ด เบาๆ สไตล์ถนัดอัสนี บอกเล่าไปพร้อมกับความหมายที่ทุกคนพึงกระทำเพื่อให้สังคมอยู่อย่างเป็นสุข พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยน้ำใจอันประเสริฐ เกิดคุณค่ามหาศาลทางจิตใจ

 วันนี้ วันดี วันที่เป็นไท
 ขึ้น 8 ลง 18 ทุกวัน ไม่ใช่แค่จังหวะการเทียบเวลา แต่คือเวลายืนตรงเคารพธงชาติของคนทั้งประเทศ ประสานเสียงร้องให้ก้องทั่วไทยเพื่อขับขานและปลุกเร้าความเป็นคนไทยที่มีเพลงชาติเดียวกัน จังหวะจะโคนของเพลงที่ไม่ธรรมดา หึกเหิม ส่งเสริม ขัดเกลาจิตใจให้คนในชาติเป็นหนึ่งเดียว สลับกันร้องคนละท่อนกับ แอ๊ด คาราบาว

 สมชายกล้าหาญ
 เพลงจังหวะสนุก ประกบไปกับไลน์ซินธิไซเซอร์ เสียงกลองไฟฟ้า รุ่นแรกๆ  ฟังดูอาจแข็งไปสักหน่อย แต่ก็ลงตัวกับเพลงสไตล์นี้ ณ วันนั้นได้ดีทีเดียว ผมได้ยินชัดๆ จาก ดิสโก้เธค ครั้งแรกๆ จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้น จนทำให้ผมอยู่ในวงการการจัดรายการเพลง และการเปิดเพลงเต้นรำมาจนถึงวันนี้ จะว่าไป เพลงนี้ไม่น่าเอามาเปิดเพื่อการเต้นรำหรอกครับ เพราะทั้งเนื้อหาที่ออกแนวชีวิต ปรัชญา บวกกับลีลาของเพลงก็ไม่ถึงขนาดดึงดูดให้ขยับแข้งขยับขา แต่ด้วยความที่ขัดแย้งแบบนี้แหละ จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า คนที่เปิดเพลงอยู่มีอิทธิพลในการโน้มน้าวใจผู้ฟังได้อย่างน่าทึ่ง พูดอะไรก็ฟัง ผมจึงยกเพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจมาจนถึงวันนี้

 บอกแล้ว
 ดนตรีร็อกที่ใส่กันมันหยด เนื้อเพลงที่ไม่ได้พูดชัดว่าบอกอะไร แล้วบอกแล้วเรื่องอะไร ต้องฟังไปแล้วจินตนาการเรื่องราวที่เข้ากับแต่ละคนกันเอง เป็นเพลงปิดท้ายให้คนฟังได้นึกต่อหลังฟังเพลงจบทั้งอัลบั้ม

 ในช่วงประมาณปี 2541 อัลบั้ม บ้าหอบฟาง อัสนี ได้ตามลิขสิทธิ์กลับมาเป็นของตัวเองอีกครั้ง และถูกส่งต่อให้แกรมมี่เป็นผู้ดูแลต่อจาก Onpa (บริษัทจัดจำหน่ายในยุคนั้น) และออกวางจำหน่ายอีกครั้งในปกกระดาษ พร้อมเพลงพิเศษจากคอนเสิร์ต

ข้อสังเกต ลักษณะเฉพาะของ สายฟ้า(อัสนี) และห่าฝน (วสันต์)
 ความเจนจัด ชัดเจน สลักลายเซ็นของงานจากอัสนี-วสันต์ โชติกุล ที่ถูกวางไว้ตั้งแต่แรกอย่างคลาสสิก และถูกนำเสนอออกมาทุกชุด ต่อเนื่องไม่หลงไปตามกาลเวลา ไล่ตั้งแต่ความคิดรวบยอด ปกอัลบั้ม ไปจนถึงเนื้อในอัลบั้ม เพลงทุกเพลงที่นำเสนอ ก็พอจะสรุปเบื้องต้นได้ตามประเด็นดังนี้

 ชื่ออัลบั้มเป็นภาษาไทย ที่สวยงาม ในความหมายที่ชัดเจน (บ้าหอบฟาง, ผักชีโรยหน้า, กระดี่ได้น้ำ, ฟักทอง, สับปะรด, รุ้งกินน้ำ,บางอ้อ, เด็กเลี้ยงแกะ, จินตนาการ)

 เสียงร้องยานคาง กลับสำคัญในการหาตัวตนและการร้องในแบบฉบับของตนเองที่ลงตัวนำไปสู่การเลียนแบบโดยศิลปินอื่นๆ (เพื่อหาทางออกของคนแก้วเสียงไม่สู้จะดี หรือกลายเป็นการตามความสำเร็จ) แต่สำหรับอัสนีแล้ว ลักษณะพิเศษเช่นนี้ การร้องแบบนี้ คือ ต้นฉบับตัวจริง

 เสียงประสานจากนักร้องหญิงในท่อนคอรัส ในแต่ละยุคจะมีคอรัสสองคนคู่บุญกันอยู่เสมอมาจนวันนี้ที่เล่นคอนเสิร์ตทั่วโลก ก็ยังต้องมีคอรัสเสียงสวยอยู่เสมอ

 สำเนียงกีตาร์ ที่แม้จะรัก ร็อก แอนด์ โรล เพียงไหน แต่ยังแบ่งใจให้กับความเป็นไทยด้วยกา วาดลวดลายกีตาร์กลิ่นอายอีสานเป็นเอกลักษณ์เสมอมา

 การแต่งกาย ยีนสักตัว กับเสื้อยืดขาว ไม่มีลาย รองเท้าผ้าใบสีขาว ทำเอาวัยรุ่นยุคช่วง พ.ศ.2531 ใส่ตามกันทั่วบ้านทั่วเมือง แจกปิ๊กกีตาร์ของเล็กๆ น้อยๆ ที่มีคุณค่าทางจิตใจกับแฟนเพลงยามแสดงสด ผู้อยู่บริเวณหน้าเวทีเตรียมรับได้เลย ดีดไปครึ่งเพลงแจก 1 อัน จนจบคอนเสิร์ต

 บ้าหอบฟาง คืองานระดับดีเลิศของศิลปินไทย ตั้งแต่ปี 2529 เรื่อยมา ที่ศิลปิน และทีมเบื้องหลัง ได้มอบไว้เป็นของขวัญแก่คนฟังเพลงไทยชื่นชม แเป็นแรงบันดาลใจให้นักดนตรีรุ่นต่อๆ มา คือความงามทางดนตรี ที่ก้าวข้ามผ่านเวลามาถึงวันนี้

"โชคชัย เจี่ยเจริญ"