บันเทิง

5 ค่ายเพลงไทย-เทศ ผุด ‘มิวสิค วัน’
หวังสู้ศึกดิจิทัล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’

5 ค่ายเพลงไทย-เทศ ผุด ‘มิวสิค วัน’ หวังสู้ศึกดิจิทัล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’

12 ต.ค. 2553

เป็นการผนึกกำลังกันของค่ายอินเตอร์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยทั้ง “ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค” “โซนี่ มิวสิค” และ “วอร์นเนอร์ มิวสิค” กับสองค่ายเพลงไทย “รีโวล มิวสิค ครีเอชั่น” ของผู้บริหารรุ่นใหม่ “ดัง” พันกร บุณยะจินดา และค่าย “สไปซี่ ดิสก์” เปิดตัวศูนย์รวมเพลงความบ


 “โปรเจกท์นี้เราคุยกันมานานมาก ว่าการที่แต่ละค่ายไม่ว่าจะเป็นวอร์นเนอร์ มิวสิค ยูนิเวอร์ซัลมิวสิค โซนี่ มิวสิค รีโวล มิวสิค ครีเอชั่น และ สไปซี่ ดิสก์ โดยพวกเราคิดกันว่าถ้าต่างคนต่างทำ ในแง่ของธุรกิจดิจิทัลมันจะเป็นการสูญเสียโอกาส แต่ถ้าเกิดมานั่งคิดในแง่ของคอนเซ็ปต์ ที่ว่าถ้าเรามารวมกันสร้างแบรนด์หรือว่าสร้างเบอร์ของพวกเรากันเอง ที่ทุกคนสามารถจำได้ ว่าเพลงทั้งหลายที่พวกเรา เป็นเพลงที่แฟนๆ อยากได้ แต่ไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหน เราเลยตัดสินใจกันว่าพวกเราจะมาร่วมกันสร้างโปรเจกท์นี้ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า มิวสิค วัน พร้อมเปิดช่องทางให้เข้าไปซื้อเพลง ไม่ว่าจะเป็น IVR *248 ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือจะให้ทันยุคทันสมัยกับแบล็กเบอร์รี่ ก็มีตรงนี้เหมือนกัน เป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กลุ่มพวกเราให้ขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น” ผู้บริหารหนุ่ม กล่าวพร้อมเล่าต่อกว่า ที่จะนำทั้ง 5 ค่ายมารวมกันได้ ถือว่าเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะทุกค่ายต่างมีวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง

 “การที่จะนำ 5 ค่ายมารวมกัน เรียกว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะทุกค่ายก็จะมีวัฒนธรรมในแบบของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น แต่โปรเจกท์นี้ เราใช้ความพยายาม ใช้การทำความเข้าใจกันมา 15 เดือนเต็ม เพราะแต่ละค่ายเป็นค่ายระดับอินเตอร์ ระดับโลกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นกว่าที่จะฝ่าด่านให้ในแง่ของกฎกติกาจนเป็นที่ยอมรับของแต่ละคนได้ ต้องใช้เวลานานพอสมควร พอมาเวลาทำงานร่วมกันก็ใช้เวลาเยอะ ในการที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญที่สุดก็คือ มอบความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีเมื่อมันผ่านจุดนี้ไปได้ พวกเราก็เหมือนเป็นทีมเดียวกัน” บอสค่ายวอร์นเนอร์ มิวสิคเผย

 ผู้บริหารค่ายอินเตอร์ยังเผยว่า “มิวสิค วัน” จะเป็การสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการเพลงเมืองไทย ถ้าพูดตามตรง ตอนนี้ร้านขายเทป ขายซีดีในบ้านเราเหลือน้อยเต็มที

 "เพราะผู้บริโภคมีช่องทางในการเสพเพลงเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่มิวสิค วัน ทำคือการตอบรับการเสพเพลงที่เปลี่ยนไป แล้วเดี๋ยวต่อไปเราคงมีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเอาสิ่งที่เราเรียนรู้ระดับภูมิภาค หรือว่าระดับโลกของแต่ละคนเข้ามาใส่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าการฟังเพลงสากล เพราะเพลงสากลมีเป็นล้านเพลง ซึ่งมันจะทำให้ผู้บริโภครุ่นใหม่สามารถที่จะย้อนกลับไปทำความรู้จักกับเพลงเก่าๆ อย่างเพลงคลาสสิกยุค 70-80 หรือคนที่อยากฟังเพลงแจ๊ส เพลงร็อก เราก็ทำเป็นห้องสมุดดิจิทัล เราจะมีเพลงที่สามารถทำให้ผู้บริโภคเข้าไปค้นหาในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ได้มากขึ้น เพราะมิวสิค วัน คือการเปิดโลกของเพลงให้แก่ทุกคนที่มีโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตในประเทศไทย” นัดดาตอบ

 พอถูกถามว่าโปรเจกท์นี้เป็นการสู้ศึกทางด้านดิจิทัลกับค่ายยักษ์ใหญ่หรือเปล่า ผู้บริหารหนุ่มแย้งว่า วงการเพลง หรือความบันเทิงไม่เคยแข่งขันกัน

 “ผมไม่เคยมองว่าการทำงานวงการเพลง หรือวงการบันเทิงเป็นการทำสงคราม เพราะจริงๆ ใครอยู่ในวงการเพลงจะทราบดีว่าสินค้าเพลงหรือความบันเทิงมันไม่เคยแข่งขันกันเลย อย่างจะเอา โต๋ (ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร) ไปแข่งกับ แดน (วรเวช ดานุวงศ์) หรือแม้ว่าจะเอาแดนไปแข่งกับ บี้ (สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว) มันไม่มีทาง เพราะใครที่ชอบแดน เขาก็จะอุดหนุนแดน ใครที่ชอบบี้ เขาก็จะสนับสนุนบี้  เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องของการแข่ง หรือการทำสงครามเพื่อให้ได้ชัยชนะกัน มันเป็นเรื่องว่าเพลงของใครได้รับความนิยมมากกว่ากัน ตอนนี้ตลาดเพลงในประเทศไทยค่อนข้างซบเซาพอสมควร เพราะไม่มีอะไรใหม่ๆ ไม่มีทางออก ทางเลือกให้แก่คนฟังมากนัก

 ผมคิดว่าการที่มีมิวสิค วัน เข้ามาในตลาด มันน่าจะทำให้วงการเพลงตื่นเต้นขึ้นมาใหม่ได้ ผมเรียกว่ามันเป็นการกระตุ้นความนิยมให้เกิดขึ้นในมวลรวมมากกว่า เพราะถ้าถามว่าเป็นการสู้ศึกกับค่ายยักษ์สองค่ายใหญ่ที่หมายถึงคือแกรมมี่และอาร์เอส ผมว่าสิ่งที่ทั้งสองค่ายทำไปเป็นความก้าวหน้าทางดิจิทัลที่เขาทำล่วงหน้าไปเยอะอยู่พอสมควรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมว่ามันไม่ได้เป็นการแข่งขันกันเลย มันเป็นการกระตุ้นให้คนกลับมาสนใจเพลงมากขึ้นมากกว่า” ผู้บริหารค่ายวอร์นเนอร์ปิดท้าย