บันเทิง

Tron: Legacy

Tron: Legacy

23 ธ.ค. 2553

งานทัศนศิลป์ (Visual Art) ในหนังถือเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างความน่าสนใจให้เกิดขึ้นกับหนังเรื่องหนึ่งๆ และก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้หนังเรื่องนั้นประสบความสำเร็จได้เช่นกัน...

   งานวิชวลอาร์ตของ Tron: Legacy เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ว่านั้น โดยเฉพาะการสร้างภาพพิเศษอันน่าตื่นตาตื่นใจของโลกไซเบอร์ในวิดีโอเกม เส้นสายลายกราฟฟิกเรืองแสงที่ถูกออกแบบมา หาได้เกิดความละลานจนลายตาแต่อย่างใด หากเต็มไปด้วยความรู้สึกของพลังงานอันผ่องถ่ายผ่านสัญลักษณ์ทางดิจิทัล ที่ดูล้ำสมัย ชวนให้น่าฉงน เป็นโลกที่ไร้กาลเวลา มาพร้อมความตระการตาในเวลาเดียวกัน

 หนังเล่าเรื่องของเควิน ฟลินน์ เจ้าของบริษัทผู้ผลิตเกม Encom ที่หายตัวไปอย่างลึกลับโดยไม่มีใครรู้เบาะแส หลังร่ำลา ‘แซม’ ผู้เป็นลูกชายในค่ำวันหนึ่ง...เวลาผ่านมากว่ายี่สิบปี ตำแหน่งผู้บริหารของ ‘Encom’ เปลี่ยนมือ โปรดักส์ของบริษัทมีการเปลี่ยนรูปแบบ โดยที่ ‘อลัน’ เพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของ ‘เควิน’ ที่เชื่อว่าเขาไม่ได้หายไปไหน ในขณะที่ ‘แซม’ กลายเป็นคนนอกและคอยสร้างความปั่นป่วนให้ ‘Encom’ อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่ง ‘อลัน’ ได้รับการติดต่อจากหมายเลขโทรศัพท์ที่เลิกใช้ในสำนักงานที่ปิดตัวไปนานแล้วของ ‘เควิน’ ร้อนถึง ‘แซม’ ต้องออกติดตามหาความจริง ก่อนจะตกเข้าไปสู่โลกของวิดีโอเกมอันแปลกประหลาด และมีโอกาสได้เจอหน้าพ่อของเขาอีกครั้ง

 ความสนุกของหนังไม่ได้อยู่ตรงการที่ ‘แซม’ พยายามพาตัว ‘พ่อ’ หลบหนีออกจากโลกของ ‘The Grid’ ที่ ‘เควิน’ เป็นคนสร้างขึ้นเพียงอย่างเดียว หากแต่ “Tron: Legacy” ยังมีการผจญภัยอันน่าตื่นตา จากฉากการดวลระหว่าง ‘ผู้เล่น’ และ ‘โปรแกรม’ ตัวละครในอาณาจักร ‘เดอะ กริด’ ที่ ‘เควิน’ และร่างจำลองของเขาเป็นคนกำหนดขึ้น ตั้งแต่การดวล ‘ดิสก์’, แข่งมอเตอร์ไซค์, การดวลปืนไล่ล่าบนสงครามเวหา ฯ

 มองเผินๆ รูปลักษณ์ของ ‘Tron’ ดูจะคล้ายคลึงกับหนังไซไฟในยุค 70-80’s เน้นบรรยากาศเวิ้งว้างกว้างไกลในห้วงอวกาศ และอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้คนตื่นเต้นกับแสงเลเซอร์ ดังนั้นอาวุธยุทโธปกรณ์ ยวดยานพาหนะ ข้าวของเครื่องใช้ในหนัง จึงมักออกแบบให้เรืองแสงเมลืองมลัง ดังที่ปรากฏในหนังอวกาศ ณ ช่วงเวลานั้นอย่าง “Star Wars” (Episode 4-6) “Close Encounter of the Third Kind” “E.T. The Extra Terrestrial” หรือหนังชุด “Star Trek” แต่เมื่อมาถึงศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยี CGI. พัฒนาก้าวไกล งานออกแบบโดยเฉพาะลวดลายกราฟฟิกที่เน้นลักษณะของเส้นสาย ถูกนำมาใช้ประกอบเป็นพื้นผิว (Texture) ผสมผสานกับการออกแบบแสงเงาตัดกันจัดๆ ซึ่งได้อิทธิพลมาจากหนังอวกาศยุค 80’s คือเน้นสีสันและความสว่างเจิดจ้าแบบแสงเลเซอร์ ก็ดูจะลงตัวสำหรับภาพแปลกตาในโลกจินตนาการ ไม่แพ้หนังที่ว่าด้วยการนำพาตัวละครเข้าสู่โลกจำลองของภาพเสมือนเรื่องก่อนหน้าอย่าง “Dark City” “The Matrix” “Inception”

 แม้ “Tron” จะรีเมคจากหนังที่ออกฉายเมื่อปี 1982 โดยยังคงเค้าโครงเดิมจากต้นฉบับอยู่พอสมควร ดังนั้นเรื่องราวที่ว่าด้วยการหลุดเข้าไปในโลกเสมือน ถือเป็นพล็อตเรื่องที่ค่อนข้างเก่าเอาการเมื่อเทียบกับยุคสมัยปัจจุบัน บวกกับบทหนังที่ดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ตัวละครแบ่งขาว-ดำ ดี-ชั่ว ชัดเจน ซึ่งจะว่าไป หนังก็น่าจะตกยุคตกสมัยไปแล้ว หากแต่งานด้านภาพอันประหลาดล้ำ (ซึ่งอันที่จริงยังคงอิทธิพลจากหนังเวอร์ชั่นเดิมอยู่พอสมควร) ได้ช่วยสร้างความน่าตื่นตาให้ “Tron: Legacy” จนละเลยมองข้ามความบกพร่องของบทไปได้ในที่สุด

 คนดูหนังรุ่นใหม่ อาจจะทึ่งกับงานภาพแปลกตา ส่วนคอหนังรุ่นเก่าก็ได้หวนกลับไปรำลึกบรรยากาศเดิมๆ ของหนังไซไฟในอดีต แม้การผจญภัยในโลกวิดีโอเกมจะไม่ใช่ของใหม่อีกต่อไป แต่ถ้ามีการออกแบบฉากต่อสู้ดีๆ จับจังหวะแม่นๆ เร่งเร้าในบางลีลา ผ่อนช้าในฉากที่ต้องเน้นอารมณ์ รวมทั้งดนตรีประกอบแบบอิเล็กโทรนิก้า จากฝีมือของวงดนตรีชื่อดังอย่าง ‘Draft Punk’ ก็ทำให้หนังดูดีขึ้นมาได้ทันที ซึ่งนี่อาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้ ‘Tron’ เวอร์ชั่น 2010 ประสบความสำเร็จ แตกต่างจากหนังต้นฉบับเมื่อ 28 ปีก่อน ที่ล้มคว่ำไม่เป็นท่าหลังออกฉาย (ทั้งๆ ที่ ช่วงเวลานั้นเป็นยุคทองของหนังไซไฟ)

 ถึงกระนั้นก็ตาม ความแปลกแปร่งก็มีปรากฏให้เห็นใน “Tron: Legacy” อยู่เช่นกัน แม้หนังจะเดินไปสุดทางของการเป็นหนังแอ็กชั่นไซไฟ ทั้งพล็อตเรื่อง โปรดักชั่นดีไซน์ เทคนิคซีจี  แต่ไม่วายพยายามแทรกสอดสาระอย่างจงใจ ผ่านงานเขียนเชิงปรัชญาของนักเขียนดังๆ อย่าง ฟีโอโดร์ ดอสโตเยสกี, ลีโอ ตอลสตอย หรือกระทั่งไบเบิลบนชั้นหนังสือในห้องของ ‘เควิน’ (ที่แทบไม่เห็นหน้าปกว่ามีเล่มไหนบ้าง) แม้ความยาวเพียงแค่ไม่กี่วินาที ที่ไม่ถึงกับทำให้หนังออกนอกลู่นอกทาง แต่ความพยายามอย่างจงใจที่ว่า ซึ่งดูจะเป็นความตั้งใจดี ทว่ามันไม่น่าจะไปกันได้กับหนังที่เดินมาในแนวทางนี้สักเท่าไหร่

 สรุปโดยรวม “Tron: Legacy” ถือเป็นหนังที่ดูเอาสนุก สำหรับคนที่ไม่ชอบคิดมาก หรือคิดตามไปกับหนัง เป็นความบันเทิงสำเร็จรูปที่ปรุงแต่งมาให้เสพรับกันง่ายๆ แต่น่าทึ่งตรงที่คนทำช่างกล้ารีเมคหนัง ซึ่งเคยล้มเหลวมาก่อน ให้กลับมาประสบความสำเร็จได้ ทั้งๆ ที่ผ่านช่วงเวลามายาวนานเกินกว่าจะหลงเหลือแฟนเดนตายให้ติดตามกันอีก

ชื่อเรื่อง Tron: Legacy
ผู้เขียนบท : เอ็ดเวิร์ด คิทซิส, อดัม โฮโรวิทซ์, ไบรอัน คลัคแมน, ลี สเติร์นทัล, สตีเวน ลิสเบอร์เกอร์, บอนนี แมคเบิร์ด
ผู้กำกับ : โจเซฟ โคซินสกี้
นักแสดง : การ์เรต เฮดลันด์, เจฟฟ์ บริดเจส, โอลิเวีย ไวลด์, ไมเคิล ชีน
วันที่เข้าฉาย : 23 ธันวาคม 53

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"