
ศิลป์แห่งแผ่นดิน - สะพานไม้อูเบียง
อู มีความหมายว่า อาวุโส เบียง แปลว่า ผอม อูเบียงเป็นชื่อขุนนางผู้หนึ่งในสมัยพระเจ้าพุกามแมง (พ.ศ.2392) ครั้งเมื่อพระองค์ย้ายราชธานีจาก อังวะ กลับมาตั้งที่เมืองอมรปุระเหมือนเดิม ขุนนางผู้ใหญ่นามอูเบียง ได้นำเสาไม้สักที่เหลือมาสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง (
ปัจจุบันสะพานอูเบียงได้ชื่อว่าเป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก ยาว 1,450 เมตร มีจำนวนเสาทั้งหมด 1,089 ต้น
ตั้งแต่เช้า จากเมืองมัณฑะเลย์ ผมเช่ารถแท็กซี่ แวะเที่ยววัดมหามัยมุนี เที่ยวเมืองอังวะ (เมืองโบราณมรดกโลก) เที่ยวเมืองสกาย วัดชเวเจ็ตจา แล้วจึงมาปิดท้ายที่สะพานอูเบียง แห่งอมรปุระ
ยามเย็นจนถึงค่ำ สะพานไม้แห่งนี้ดูมีมนต์ขลัง ผู้คนมากมายมาเดินไปมาบนสะพาน บ้างนั่งอยู่ที่ม้านั่ง บ้างพิงราวสะพาน บ้างนั่งอยู่บนหาดทราย เฝ้าดูพระอาทิตย์ทอดวงเหนือพื้นน้ำแห่งทะเลสาบตองทามาน
ผมเดินตระเวนถ่ายรูปสะพาน หลายคนเช่าเรือแล่นชมทะเลสาบ บ้างพอใจนั่งเก้าอี้ชุดของร้านอาหารที่ชายฝั่ง นั่งชมทัศนียภาพ และผู้คนหลายหลากมากหน้าคลาคล่ำ
ผมนั่งวาดรูปอยู่บนหาดทรายตรงมุมมองที่เห็นสะพานไม้ทอดตัวไปในทะเลสาบ เห็นความสูงของเสาไม้ทบเป็นสองเท่าด้วยภาพเงาในน้ำ ฟ้ายามเย็นย่ำช่างเป็นใจ เมฆเป็นกลุ่มก้อนกระจายเป็นเกล็ด เล่นแสงแปลงสีไปจวบจนค่ำ ราตรีคลี่ม่านดำปกคลุม เมื่อฟ้ามืดสนิท เดือนเสี้ยวเล็กๆ เพียงเสี้ยวเดียว กับหมู่ดาวอีกประปราย ก็เพียงพอที่จะทำให้บึงน้ำแห่งนี้เปล่งสีน้ำเงินใส เห็นสะพานไม้ทอดตัวตะคุ่ม และผู้คนยังคงคลาคล่ำ
นึกถึงสะพานไม้ที่สังขละบุรี แม้ว่าจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงทางกายภาพ สังขละบุรีนั้นแวดล้อมด้วยขุนเขา สายน้ำสามประสบ (ซองกาเรีย บีคลี่ และรันตี) บรรจบกันตรงจุดศรัทธา อันมีหลวงพ่ออุตมะเป็นศูนย์รวม หากแต่อูเบียง เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างฝั่งกับเกาะกลางน้ำ เสาทุกต้นแข็งแกร่ง เพราะเคี่ยวกรำผ่านกาลเวลาแห่งการต่อสู้ดิ้นรนสร้างบ้านแปงเมือง จวบจนปัจจุบันนับได้กว่าพันปี และวาดหวังไว้ว่าจะไปเยือนสะพานไม้อูเบียงอีกครา สำหรับผม คำว่า “สะพาน” มีความหมายมากกว่า “สะพาน”
ขณะเขียนต้นฉบับ (ล่วงหน้า) นี้ ผมกำลังจะเดินทางไปเยือนพม่าอีกครั้ง
"ศักดิ์สิริ มีสมสืบ"