บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ทำไมต้องชื่อซ้ำกัน?

02 มี.ค. 2554

จำได้ว่าเคยเข้าไปดูเวบบอร์ดของวัยรุ่น มีหนุ่มรายหนึ่งตั้งกระทู้ "เบื่อมั้ยเพลงชื่อซ้ำกัน" ลองอ่านดูนะครับ

 "เราไม่ค่อยชอบเลยอ่ะเวลามีชื่อเพลงซ้ำๆกัน อย่างเพลงปากไม่ตรงกับใจ ของพิสุทธิ์ ศรีสว่าง เราชอบมากๆ เลยเพลงนี้ แล้วอยู่ดีๆ ชิน G-Jr ก็ตั้งชื่อเพลงซ้ำกันอ่ะ แล้วเพลงของชินก็ดังกว่า พอพูดถึงชื่อเพลงนี้ คนก็จะรู้จักแต่เพลงที่ชินร้องอ่ะ อยากรู้ว่าเพื่อนๆรู้สึกยังไงบ้างเวลามีชื่อเพลงซ้ำกัน เช่น ข้ออ้าง-เกิร์ล(ตั้งก่อน), ข้ออ้าง-บอย พีซเมคเกอร์, ที่ปรึกษา-พดด้วง(ตั้งก่อน) ที่ปรึกษา-กอล์ฟ ที่ปรึกษา-หวิว"

 ผมก็รู้สึกเช่นเดียวกับหนุ่มนักฟังเพลงรายนั้น มันน่าเบื่อ และเกิดปุจฉาในใจว่า เหตุใดเพลงสตริงจึงตั้ง "ชื่อเพลงซ้ำกัน" เยอะมาก แอบคิดในใจว่า ดีนะที่วงการเพลงลูกทุ่งไม่ค่อยตั้งชื่อเพลงซ้ำกัน

 ความคิดที่ว่านี้ก็เปลี่ยนไป เมื่อเห็นชื่อเพลงในอัลบั้มใหม่ของ จินตหรา พูนลาภ คือ "ฝากคำขอโทษ" และ "ตำแหน่งที่ไม่ต้องการ" ดันซ้ำกับชื่อเพลงของ ศิริพร อำไพพงษ์ ทั้งสองเพลง

 จะเป็นความจงใจหรือความบังเอิญ แต่ผมก็เกิดคำถาม ผู้แต่งหรือค่ายเพลงมิทราบมาก่อนหรือว่าสองเพลงนี้ เป็นชื่อเพลงของ ศิริพร อำไพพงษ์ ที่ร้องไว้ในอัลบั้มชุดก่อนๆ

 ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่? ไม่ผิด และทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งชื่อเพลงใดก็ได้ แต่ในแวดวงนักเขียนแล้ว การกระทำดังกล่าวนี้ถือว่า "ผิดมารยาท"

 อาจเป็นไปได้ว่า นักแต่งเพลงไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติ นึกอยากตั้งชื่อเพลงซ้ำกับใครก็ได้ เพราะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ และประโยคเหล่านี้ ก็มีการใช้ในการเขียนหนังสืออยู่ดาษดื่น

 นักเขียนคนหนึ่งบอกกับผมว่า การตั้งชื่อบทกวี เรื่องสั้น และนิยาย เป็นเรื่องใหญ่พอๆ กับการเขียนเรื่อง ยกตัวอย่างชื่อนิยายแต่ละเรื่อง มันอธิบายถึงเนื้อหาโดยรวมของเรื่องนั้นกันเลยทีเดียว

 ฉะนั้นการตั้งชื่อเรื่อง จึงเป็นแรงงานสมองที่ต้องผ่านการกลั่นกรองซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่าจะตั้งชื่อนั้นออกมาได้ 

 ยิ่งบทกวีชิ้นหนึ่ง ชื่อบทนั้นสำคัญพอๆ กับเนื้อหา เพราะการตั้งชื่อบทกวี จึงเป็นศิลปะขั้นสูงกันเลยทีเดียว

 จะว่าไปแล้ว วงการเพลงลูกทุ่งไม่ค่อยเกิดปรากฏการณ์ "ชื่อเพลงซ้ำกัน" แต่มิทราบด้วยเหตุผลอันใด จึงมีการตั้งชื่อเพลงซ้ำกัน

 ผมลองย้อนไปดูผลงานการประพันธ์ของครูเพลงอาวุโส อาทิ ครูไพบูลย์ บุตรขัน, ครูชลธี ธารทอง, ครูสุรินทร์ ภาคศิริ, ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา, ครูลพ บุรีรัตน์ และอีกหลายๆท่านผู้อาวุโส ปรากฏว่า ชื่อเพลงนั้นโดยส่วนใหญ่ มันมีความหมาย

 เป็นภาษากวีที่บ่งบอก "ลายมือ" หรือบอก "ยี่ห้อ" ของคีตกวีของแต่ละคน
 ยกตัวอย่างของครูชลธี ที่ได้ชื่อว่ายอดฝีมือการตั้งชื่อเพลงเช่น ไฟกินฟืน, จำปาลืมต้น, ไฟกินฟืน, ห่มธงนอนตาย, วานนี้รักวันนี้ลืม ฯลฯ หากเห็นชื่อเพลงทำนองนี้ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นผลงานของครูชลธี

 นักแต่งเพลงอาวุโสก็มีมารยาท และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่มีการตั้งชื่อเพลงซ้ำกัน ทั้งที่เพลงสมัยก่อนก็มีการเขียนออกมาเผยแพร่เป็นพันเป็นหมื่นเพลง

 อย่างว่าแหละ ปัจจุบันค่ายเพลงมีส่วนค่อนข้างมากในการผลิตเพลงลูกทุ่งรุ่นใหม่ ตั้งแต่คิดพล็อต และคิดชื่อเพลง ส่วนนักแต่งเพลงก็เป็นแค่ "ผู้รับจ้างเขียนเนื้อเพลง"

 หรือคนรุ่นหลังบนถนนสายลูกทุ่ง สะกดคำว่า มารยาทกันไม่เป็นเสียแล้ว

"บรรณวัชร"